จับตา"ใครเป็นใคร"ในการประชุม "COP26"
ด้วยผลประโยชน์อันหลากหลายในหมู่ 197 ภาคีที่ลงนามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ยูเอ็นเอฟซีซีซี) การบรรลุฉันทามติร่วมกันในการลดโลกร้อนจึงเป็นงานยาก
สำนักข่าวเอเอฟพีรวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ที่เมืองกลาสโกว์ เริ่มต้นวันที่ 31 ต.ค.นี้
จีน
ปัจจุบันจีนเป็นประเทศปล่อยคาร์บอนใหญ่สุดของโลก การกระทำของจีนในอนาคตอันใหญ่จึงช่วยบอกได้ว่า โลกจะบรรลุเป้าหมายลดโลกร้อนได้หรือไม่ จีนเองก็กำลังเผชิญผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นเดียวกัน ทั้งฝนตกรุนแรงในหน้าร้อนที่ผ่านมา สร้างความเสียหายย่อยยับให้กับมณฑลเหอหนาน และน้ำท่วมฉับพลันคร่าชีวิตประชาชนกว่า 300 คน
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวไว้เมื่อปีก่อนว่าจีนจะปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงสุดก่อนปี 2573 และตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเหลือ 0 ภายในปี 2603 หรือ 10 ปีจากเป้าหมายที่นักวิทยาศาสตร์เห็นชอบ นอกจากนี้จีนยังให้คำมั่นระงับให้งบประมาณโครงการถ่านหินในต่างประเทศ และเริ่มลดการใช้ถ่านหินของตนในปี 2569
แต่การที่เศรษฐกิจชะลอตัวผสมกับขาดแคลนไฟฟ้าเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้กำหนดนโยบายจึงโต้แย้งว่าจีนยังไม่พร้อมขยับมากกว่านี้
ส่วนการประชุมคาดว่าประธานาธิบดีสีไม่เข้าร่วม แต่จะส่ง “เจ้า หยิงหมิง” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมไปแทน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ถ้าไม่มีประธานาธิบดีสี โอกาสที่จีนจะประกาศมาตรการเข้มข้นคงมีน้อย
สหรัฐ
ปัจจุบันสหรัฐเป็นประเทศปล่อยก๊าซคาร์บอนใหญ่อันดับ 2 ของโลก แต่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากกว่าประเทศใดๆ นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม
ปีนี้สหรัฐกลับเข้าสู่เวทีประชุมสภาพภูมิอากาศของยูเอ็นอีกครั้ง หลังจากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องควบคุมการปล่อยก๊าซตามโลก แต่สำหรับประชาชนอเมริกันนั้นจิตสำนึกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้นทุกขณะหลังเจอภัยธรรมชาติรุนแรงหลายระลอก เช่น ไฟป่า และภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบเกือบร้อยปีทางภาคตะวันตกของสหรัฐ
เมื่อกลับมาร่วมข้อตกลงปารีส ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้คำมั่นว่าสหรัฐจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50-52% จากระดับปี 2548 ภายในปี 2573 แต่กฎหมายสภาพอากาศในประเทศกลับเจอแรงต้านในสภาคองเกรส นักการทูตและเอ็นจีโอกล่าวว่าการไม่มีนโยบายที่เป็นรูปธรรมย่อมบั่นทอนความพยายามของสหรัฐในการกดดันประเทศปล่อยก๊าซรายใหญ่ เช่น จีน อินเดีย และบราซิลให้ลงมือทำให้มากขึ้นตอนเจอกันที่กลาสโกว์ได้
สหราชอาณาจักร (ยูเค)
ในฐานะเจ้าภาพการประชุมร่วมกับอิตาลี อาลก ชาร์มา รัฐมนตรีอังกฤษผู้เป็นประธานการประชุม กล่าวว่า เขาหวังให้การประชุมครั้งนี้ “ทำให้พลังงานถ่านหินกลายเป็นประวัติศาสตร์”
ในปี 2562 อังกฤษให้คำมั่นว่าจะบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (เน็ต-ซีโร่) ภายในปี 2593 และไม่กี่เดือนก่อนประกาศว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 78% จากระดับปี 2533 ภายในปี 2578
แต่รัฐบาลนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันต้องเผชิญกับทางสองแพร่งสาธารณชนกดดันมากขึ้นให้ระงับการสำรวจน้ำมันและก๊าซในทะเลเหนือ แต่ถ้าทำอย่างนั้นประเทศก็ต้องพึ่งพาพลังงานนำเข้าหนักขึ้น
สหภาพยุโรป (อียู)
กลุ่ม 27 ประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 8% ของโลก และแนวโน้มของอียูก็ลดลงหลายปีแล้ว อียูกำหนดเป้าทางกฎหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิอย่างน้อย 55% จากระดับปี 2533 ภายในปี 2573 แล้วลดลงเหลือศูนย์ภายในปี 2593
ขณะนี้รัฐสมาชิกกำลังอภิปรายออกกฎหมายมากมายนำมาปฏิบัติให้ได้ตามเป้า
ช่วงสองปีที่ผ่านมายุโรปเจอคลื่นความร้อนรุนแรงและน้ำท่วมคร่าชีวิตประชาชนหลายพันคน การเจรจาสภาพอากาศประเทศอียูกระทำในนามกลุ่ม คาดว่าปีนี้จะใช้การผลักดันเป้าหมายด้านภูมิอากาศที่เข้มงวดขึ้นทุกๆ 5 ปีสำหรับทุกประเทศ จุดยืนเช่นี้ทำให้มีพลังในการเจรจา
ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (แอลดีซี)
กลุ่มนี้ประกอบด้วยประเทศยากจนที่สุดในโลก 46 ประเทศ ประชากร 1 พันล้านคนในแอฟริกา เอเชีย-แปซิฟิก และแคริบเบียนที่เสี่ยงมากกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งๆ ที่มีส่วนสร้างน้อยที่สุด
ในการประชุม COP26 คาดว่าแอลดีซีจะร่วมกับกลุ่มต่างๆ อาทิ African Group of Negotiators และ Climate Vulnerable Forum ผลักดันประเทศร่ำรวยให้ปฏิบัติตามคำมั่นว่าจะให้เงินทุนปกป้องสภาพภูมิอากาศปีละ 1 แสนล้านดอลลาร์ แก่ประเทศกำลังพัฒนาระหว่างปี 2563-2567 ที่ดูแล้วน่าจะทำไม่ได้ตามเป้า
ประเทศพื้นฐาน
บราซิล แอฟริกาใต้ อินเดีย และจีน เป็นกลุ่มประเทศที่มีประชากรหนาแน่น พัฒนาอย่างรวดเร็วด้วยเศรษฐกิจปล่อยมลพิษสูง แต่ละประเทศเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยให้เงินทุนดูแลสภาพอากาศให้มากขึ้น และเรียกร้องความเท่าเทียมผ่านแนวคิด “ความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างโดยคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละประเทศ” หมายความว่า ประเทศร่ำรวยที่ปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุดต้องรับผิดชอบมากกว่าในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน
รัฐบาลนิวเดลีกล่าวว่า เงินช่วยเหลือปีละ 1 แสนล้านดอลลาร์ที่ประกาศไว้ไม่เพียงพอ และอินเดียไม่น่าจะบรรลุเป้าเน็ตซีโร่ภายในปี 2593 ได้ บราซิลก็อยากได้เงินชดเชยมากขึ้นเพื่อระงับการทำลายป่าอเมซอน
แอฟริกาใต้ต้องการหลักฐานชัดเจนขึ้นว่าประเทศพัฒนาแล้วจะให้เงินปีละ 1 แสนล้านดอลลาร์ตามที่บอกไว้จริงๆ ทั้งยังเสนอว่า ตัวเลขควรเป็น 7.5 แสนล้านดอลลาร์มากกว่า
กลุ่มอื่นๆ ได้แก่
CLIMATE VULNERABLE FORUM
เป็นตัวแทน 48 ประเทศเสี่ยงได้รับผลกระทบจากโลกร้อนมากที่สุด เช่น บังกลาเทศ มัลดีฟส์ กลุ่มนี้เรียกร้องให้มีข้อตกลงระดับโลกที่แข็งแกร่ง และขอให้แต่ละประเทศปรับปรุงคำมั่นปกป้องสภาพภูมิอากาศทุกปีแทนที่จะเป็นทุกๆ 5 ปี
ALLIANCE OF SMALL ISLAND STATES
เป็นกลุ่มประเทศที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไม่ได้สัดส่วน โดยเฉพาะปัญหาระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงและการกัดเซาะชายฝั่ง
POWERING PAST COAL ALLIANCE
ประกอบด้วย 41 ประเทศ รัฐบาลท้องถิ่นและบริษัทเอกชนอีกหลายสิบแห่ง มียูเคและแคนาดาเป็นหัวหอก รับปากจะเปลี่ยนผ่านจากถ่านหินไปสู่พลังงานสะอาดให้เร็วขึ้น
HIGH AMBITION COALITION
ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 โดยหมู่เกาะมาร์แชล คอสตาริกา สหรัฐ และอียู ผลักดันเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและนโยบายสภาพภูมิอากาศที่ก้าวหน้ามากขึ้น
จี77+จีน
กลุ่มพันธมิตรเก่าแก่ 77 ประเทศกำลังพัฒนาและจีนยึดแนวคิดประเทศแตกต่างรับผิดชอบแตกต่าง
UMBRELLA GROUP
กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วนอกอียู เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น รัสเซีย และสหรัฐ
กลุ่มแอฟริกา
กลุ่มนี้จะผลักดันขอเพิ่มเงินทุนโลกร้อนให้ประเทศกำลังพัฒนา