เช็คสัญญาณแนวโน้มโควิด-19 ใน 10 จังหวัดจับตามองพิเศษ
กรมควบคุมโรคเผยแนวโน้มโควิด-19ใน 10 จังหวัดจับตามองพิเศษ แต่ละพื้นที่น่าจะควบคุมสถานการณ์ได้เมื่อไหร่ ส่วน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ยะลา-นราธิวาสอีก 1-2 สัปดาห์สถานการณ์น่าจะใกล้เคียงจังหวัดอื่นๆ
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ว่า สถานการณ์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ข้อมูลวันที่ 4 พ.ย.64 ฉีดเพิ่มขึ้น 824,650 โดส สะสม 78,656,124 โดส เป็นเข็ม 1 จำนวน 43.4 ล้านโดส คิดเป็น 60.3% ของประชากร 72 ล้านคน ทั้งคนไทยและผู้ที่อยู่ในแผ่นดินไทยทุกคน เข็ม 2 อีก 32.7 ล้านโดส คิดเป็น 45.4% และเข็ม 3 อีก 2.5 ล้านโดส คิดเป็น 3.5% ทั้งนี้ คาดว่าใน 1-2 วันนี้จะสามารถฉีดวัคซีนสะสมได้ถึง 80 ล้านโดส ต้องขอบคุณประชาชนที่เข้ารับวัคซีนเพื่อป้องกันตัวเองและคนรอบตัว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาพรวมการฉีดวัคซีน เป็นซิโนแวคแล้ว 24.5 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 34.4 ล้านโดส ซิโนฟาร์ม 12.7 ล้านโดส ไฟเซอร์ 6.5 ล้านโดส
นพ.โอภาส กล่าวว่า พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด หรือพื้นที่สีฟ้าที่ต้องฉีดวัคซีนครอบคลุมกว่าพื้นที่อื่น ยอดรวมสะสม 80% ของประชากร ซึ่งจะมีความปลอดภัย ช่วยลดการติดเชื้อลงได้ และหากติดเชื้ออาการก็จะไม่รุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ฉีดวัคซีนเข็ม 1 แล้ว 77% เข็ม 2 อีก 64% ส่วนเดือนธ.ค.64 จะมีจังหวัดอื่นเข้ามาเป็นพื้นที่สีฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 17-18 จังหวัด จึงขอให้เร่งฉีดวัคซีนกันต่อไป
นพ.โอภาส กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ 8,148 ราย ผู้ป่วยอาการรุนแรง ปอดอักเสบ มีภาวะแทรกซ้อนลดลงเหลือ 2,118 ราย เช่นเดียวกับผู้ที่ใส่ท่อช่วยหายใจลดลงเหลือ 461 รายจาก 1,300 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตรายใหม่ 80 ราย หลายคนตั้งข้อสังเกตว่ายอดขึ้นลงไม่สม่ำเสมอ ต้องย้ำว่า การรายงานจากโรงพยาบาล(รพ.) หลายครั้งอาจไม่สามารถรายงานได้ทันที จึงทำให้ตัวเลขเหวี่ยงขึ้นลงได้ อย่างไรก็ตาม กราฟแสดงแนวโน้มของผู้เสียชีวิตที่ติดเชื้อโควิดรายวัน พบว่า กรุงเทพมหานคร(กทม.) ลดลงชัดเจน เฉลี่ยวันละ 10 ราย ส่วนปริมณฑลก็ลดลงเช่นกัน ขณะที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ลดลงยังไม่มาก ยังมีความไม่สม่ำเสมออยู่ ส่วนจังหวัดอื่นๆ ก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน
นพ.โอภาส กล่าว่า สำหรับการติดเชื้อรายใหม่ของ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ระยะหลังชะลอตัวลดลงช้าๆ ตามแนวโน้มของประเทศ เนื่องจากประชาชนให้ความร่วมมือฉีดวัคซีน ตรวจหาเชื้อด้วย ATK และปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ เชื่อว่าสถานการณ์จะค่อยๆ ดีขึ้น โดยเฉพาะยะลาและนราธิวาส มีแนวโน้มลดลง เชื่อว่าไม่เกิน 3 สัปดาห์ สถานการณ์จะกลับเข้าใกล้จังหวัดอื่นๆ ส่วนสงขลา แนวโน้มลดลงจริง แต่ไม่ชัดเจน จึงขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตัวเองสูงสุด(Universal Prevention) ส่วนปัตตานี ยังต้องเอาใจช่วย แม้ภาครัฐและประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดี แนวโน้มชะลอตัว แต่ยังไม่ชัดเจน จึงต้องร่วมกันในมาตรการตรวจเชิงรุก ตรวจ ATK การใช้มาตรการโควิดฟรีเซตติ้ง(Covid-19 Free Setting)
ส่วน 6 จังหวัดที่จับตา เนื่องจากติดเชื้อเพิ่มค่อนข้างมากคือ
1.นครศรีธรรมราช ชะลอตัวแต่ไม่ชัดเจน สถานการณ์คล้ายสงขลา
2.เชียงใหม่ ยังทรงตัว ไม่ลดลงชัดเจน
แต่ที่ลดลงชัดเจนคือ
3.ระยอง
4.จันทบุรี
ส่วน 5.ตาก เส้นกราฟคงที่มาโดยตลอด เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายคนจากประเทศเพื่อนบ้านมาชายแดนไทยค่อนข้างมาก เป็นสาเหตุที่ควบคุมโรคได้ลำบาก และ
6.ขอนแก่น มีคลัสเตอร์ในแรงงานและโรงงานหลายแห่ง ทั้งนี้ เราได้ส่งวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อควบคุมการระบาด ฉะนั้นจังหวัดที่มีระบาดเพิ่มขึ้น แต่มีมาตรการระดับจังหวัดเข้มข้น ฉีดวัคซีนเพิ่ม เชื่อว่าสถานการณ์ระบาดจะลดลงใน 2-3 สัปดาห์
จำแนกคลัสเตอร์ต่างๆ แยกเป็นเรือนจำหลายแห่งติดเชื้อแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เป็นพื้นที่ปิด ฉีดวัคซีนครอบคลุม ดังนั้นแนวโน้มผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตจึงลดลง สุรินทร์ 233 ราย นครราชสีมา 185 ราย ขอนแก่น 123 ราย กทม. 15 ราย เชียงใหม่ 10 ราย , ผู้เดินทางเข้าประเทศโดยไม่กักตัว(Test and go) ชลบุรี 1 รายและภูเก็ต 1 ราย , สถานศึกษา เชียงใหม่ 7 ราย ,แคมป์คนงาน กทม. 8 ราย เชียงใหม่ 8 ราย ,ค่ายทหาร กองรปภ.ฐานทัพเรือ กทม. 2 ราย กองพันทหารสารวัตรอากาศ กทม. 5 ราย , ตลาดเชียงใหม่ในตลาดหลายแห่ง 32 ราย เพชรบุรี 4 ราย อุบลราชธานี 1 ราย และงานศพและอื่นๆ เชียงราย 2 ราย เชียงใหม่ 2 ราย พัทลุง 1 ราย สระแก้ว 1 ราย ขอนแก่น 1 ราย
“เข้าฤดูกฐิน ขอประชาชนจัดงานกฐินปลอดภัย งดการดื่มสุรา รื่นเริงเกินเหตุ เพราะการดื่มสุราเกิดหลายเหตุการณ์ที่สัมพันธ์การติดเชื้อ โดยขอให้เคร่งครัดการเว้นระยะห่าง เพื่อให้งานบุญจะไม่เป็นแหล่งการระบาด หรือคลัสเตอร์ใหม่” นพ.โอภาส กล่าว
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์