สธ.ห่วงอัตราฉีดวัคซีนโควิด-19น้อยลง กลางปี65เตรียมตรวจภูมิคุ้มกัน
สธ.ห่วงอัตราคนรับวัคซีนโควิด-19 น้อยลง หลังฉีดสะสมมากแล้วเกือบ 85 ล้านโดส เหลือกลุ่มคนที่ไม่อยากฉีด มอบ อสม. ผู้นำศาสนา ทำความเข้าใจ ย้ำฉีดแล้วลดโอกาสติดเชื้อ ไม่ป่วยหนัก-ตาย กลางปี 65 เตรียมวัดภูมิฯคนไทย
เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มีวัคซีนเพียงพอ ก็ควรเร่งกระจายวัคซีนไปทุกจังหวัดมากที่สุด ฉีดวัคซีนเกือบ 85 ล้านโดส จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดระดับลงมา จำนวนผู้เสียชีวิตแต่ละวันก็ต่ำกว่า 100 รายมา 1 เดือน ถือเป็นสัญญาณที่ดี ซึ่งผู้เสียชีวิตคือกลุ่ม 607 ผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง และส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน
อย่างไรก็ตาม ได้รับรายงานว่า อัตราการรับวัคซีนเริ่มชะลอตัวลง เพราะคนรับจำนวนมากแล้ว จะเหลือคนที่ไม่อยากมารับวัคซีน ก็จะเป็นประเด็นปัญหาได้ ยืนยันว่าวัคซีนที่ทุกคนได้รับมีมาตรฐาน ปลอดภัย และประสิทธิภาพประสิทธิผล ป้องกันโรคโควิดได้ โดยกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนก็จะใช้แผนพวกมากลากไป โดยชาวบ้านทั่วไปจะขอให้ อสม.ไปติดตามและสร้างความมั่นใจ ชักชวนออกมาฉีด หากเป็นกลุ่มวัฒนธรรมประเพณีศาสนา ก็จะให้ผู้นำศาสนามาช่วย อย่าง 4 จังหวัดชายแดนใต้ ผู้นำศาสนาก็ลงไปให้ความเข้าใจทุกเพศทุกวัย จนคลายความกังวล จะเห็นว่า 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา การติดเชื้อใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ลดจาก 3 พันรายต่อวันเหลือ 1 ใน 3
"กรณีสถานดูแลคนชราจ.เชียงใหม่ แม้ติดเชื้อ แต่รับวัคซีน ก็ไม่ป่วยหนักและไม่เสียชีวิต แสดงให้เห็นว่า วัคซีนเป็นปัจจัยหลักให้คนปลอดภัยจากเชื้อ และเมื่อไม่มีอาการหนัก รักษาหายได้ การกระจายของเชื้อจะลดความรุนแรงลง เป็นเหตุเป็นผลของมัน ขออย่าไปกลัววัคซีน" นายอนุทินกล่าว
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า สธ.เริ่มทำการฉีดเข็ม 3 ให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะคนรับซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม 2 เข็ม ที่เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย ขอให้รีบแจ้งและนัดเพื่อรับบูสเตอร์ ให้ภูมิคุ้มกันกลับขึ้นไปอยู่ในระดับปลอดภัย ป้องกันสายพันธุ์เดลตาหรือสายพันธุ์อะไรต่างๆ ได้ สำคัญคือไม่ป่วยหนักและเสียชีวิต หลังจากนั้นจะฉีดเข็ม 3 ให้ผู้รับแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มเกิน 6 เดือน จะทยอยฉีดต่อไป ดังนั้น ปี 2565 จะเป็นการฉีดบูสเตอร์หรือเติมภูมิคุ้มกันไปเรื่อยๆ หมุนเวียนกันไป พอครึ่งปี กรมควบคุมโรคและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำการวัดภูมิคุ้มกันและสำรวจศึกษา หากภูมิฯส่วนใหญ่ตกก็จะทำการเพิ่มวัคซีนไป จนกว่าโรคโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น