ทำความรู้จัก!ชุดตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-LAMP แบบ 3 ยีนครั้งแรกในไทย

ทำความรู้จัก!ชุดตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-LAMP แบบ 3 ยีนครั้งแรกในไทย

จุฬาฯ พัฒนาชุดตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-LAMP แบบ 3 ยีนครั้งแรกในไทย แม่นยำ ย่อมเยา ใช้ง่ายในชุมชน ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

รศ.ดร.นราพร สมบูรณ์นะ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการพัฒนาชุดตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-LAMP เผยถึงความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของชุดตรวจวินิจฉัยเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-LAMP ที่พัฒนาขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถตรวจโควิด-19 เช่นเดียวกับวิธี Real Time PCR  ที่เป็นที่นิยมใช้อยู่ในปัจจุบัน 

โดยได้เพิ่มความพิเศษในการตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสแบบ 3 ยีนซึ่งครอบคลุมวงจรชีวิตของไวรัส ทำให้มีความไวในการตรวจสูง ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือในการตรวจที่ยุ่งยาก ราคาแพงเท่า Real Time PCR  สามารถตรวจเชื้อโควิด-19 ได้ทั้งจากโพรงจมูก ลำคอ รวมถึงน้ำลาย และวัตถุต่างๆ ในสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 จึงเหมาะสำหรับการลงพื้นที่ไปตรวจกลุ่มเสี่ยงในชุมชน โรงเรียน รวมถึงสถานประกอบการต่างๆ 

 

  • ขั้นตอนการตรวจด้วยวิธี RT-LAMP  

รศ.ดร.นราพร เผยว่าจากการลงพื้นที่ตรวจโควิด-19

  • โดยตรวจจากน้ำลายของกลุ่มเสี่ยงในปริมาณ 5 มิลลิลิตร จะใช้น้ำลายจริงเพียง 1 มิลลิลิตร นำมาสกัดสารพันธุกรรม
  • ขั้นตอนการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรม
  • เข้าสู่ขั้นตอนการวิเคราะห์ผล เครื่องมือในการตรวจราคาไม่แพง

สูตรสำเร็จของชุดตรวจนี้อยู่ที่การทำปฏิกิริยาภายในชุดทดสอบ สามารถเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมทั้ง DNA และ RNA ที่อุณหภูมิ 85 องศาเซลเซียส มีความไวในการตรวจวัดสูง  สามารถรู้ผลการตรวจภายในเวลา 1 ชั่วโมง   

 

  • จุดเริ่มต้นของชุดตรวจ RT-LAMP แบบ 3 ยีน 

รศ.ดร.นราพร กล่าวว่า ก่อนที่โควิด-19 จะระบาดหนัก ห้องปฏิบัติการของภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้พัฒนาชุดตรวจด้วยเทคโนโลยีการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมด้วยอุณหภูมิเดียวเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ ที่หลากหลาย รวมถึงการตรวจการปนเปื้อนในอาหาร

สำหรับชุดตรวจ RT-LAMP แบบ 3 ยีน เป็นความร่วมมือระหว่างภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์  จุฬาฯ และ CU Innovation Hub เพื่อพัฒนาชุดตรวจโควิด-19 ที่ตอบโจทย์ความแม่นยำใช้ง่าย และราคาถูก  เนื่องจากปัจจุบันชุดตรวจ RT-LAMP ที่มีการใช้กันนั้นมีประสิทธิภาพสูงสุดคือ การตรวจแบบ 2 ยีน แต่ RT-LAMP ที่จุฬาฯ พัฒนาขึ้นนั้นสามารถตรวจยีนที่หลากหลายได้ 3 ยีนพร้อมกัน ทำให้เพิ่มความไวในการตรวจพบเชื้อโควิด-19  

RT-LAMP แบบ 3 ยีน มีศักยภาพทั้งในการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรม และสามารถแสดงผลการตรวจโควิดจากการสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงของสีได้ด้วยตาเปล่า ขั้นตอนการตรวจไม่ยุ่งยากซับซ้อน ผู้ใช้งานสามารถตรวจเชื้อโควิดได้ด้วยตนเองโดยได้รับคำแนะนำการใช้งานจากผู้เชี่ยวชาญ ช่วยลดภาระของบุคลากรทางแพทย์ ที่สำคัญมีราคาถูกกว่าการตรวจแบบ    RT-PCR ถึง 5 เท่า 

  • แม่นยำตรวจด้วย RT-LAMP แบบ 3 ยีน 

“จากการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างทางคลินิกของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และการลงพื้นที่ตรวจในภาคสนามในกลุ่มตัวอย่างจริง โดยตรวจสารคัดหลั่งจากน้ำลาย และวัตถุต่างๆ จากสภาพแวดล้อมในพื้นที่บริเวณนั้น เช่น ลูกบิดประตู ที่กดชักโครก รวมถึงธนบัตร เมื่อนำผลตัวอย่างมาเทียบเคียงกับการตรวจแบบ Real Time PCR ได้ผลการยืนยันประสิทธิภาพที่แม่นยำ ว่องไวและเที่ยงตรงเช่นเดียวกัน แผนงานที่วางไว้จะทำการเก็บสารคัดหลั่งจากกลุ่มตัวอย่างเพิ่มเติมอีก 2,000 ตัวอย่าง เพื่อนำมาวิเคราะห์ประสิทธิภาพเพิ่มเติม” รศ.ดร.นราพร กล่าว 

 นอกจากการนำชุดตรวจโควิดด้วยวิธี RT-LAMP ไปใช้งานในภาคสนาม ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับทีมวิเคราะห์กลิ่นเหงื่อผู้ติดเชื้อโควิดจากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในอนาคตมีแผนในการผลิตชุดตรวจโควิดด้วยวิธี RT-LAMP ในเชิงพาณิชย์ โดยมีการเตรียมสถานที่ในการผลิตชุดตรวจ และจะลงพื้นที่ไปตรวจกลุ่มตัวอย่างเพิ่มขึ้น  

 “โควิด-19 ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง อนาคตอาจมีการกลายพันธุ์หรือเกิดการระบาดในรูปแบบอื่นๆ ได้ การที่ประเทศไทยสามารถผลิตชุดตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-LAMP ที่สามารถตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสได้แบบ 3 ยีน โดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จะช่วยลดปัญหาการระบาดที่รวดเร็วของโรคนี้ลงได้ ในขณะที่การตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีมาตรฐานคือ Real Time PCR มีราคาแพง ประชาชนอาจไม่สะดวกที่จะต้องเดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาลหรือสถานที่ ที่มีการตรวจ ในขณะที่วิธี RT-LAMP สามารถเข้าถึงชุมชน และตรวจพบผู้ติดเชื้อในระยะเริ่มต้นได้แม้จะมีเชื้อโควิดในร่างกายน้อย ซึ่งจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระยะยาวได้” รศ.ดร.นราพร กล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจให้การสนับสนุนการพัฒนาชุดตรวจ “RT-LAMP แบบ 3 ยีนของจุฬาฯ สามารถติดต่อได้ที่รศ.ดร.นราพร สมบูรณ์นะ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ อีเมล: [email protected] โทร. 02-218-5070-1 หรือที่บริษัท AL-DNA Startup ของ CU Innovation Hub อีเมล: [email protected] 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์