"แอสตร้าเซนเนก้า" เดินหน้าพัฒนาวัคซีนเจน 2 คาดรู้ผลปลายปีนี้
"เจมส์ ทีก" เผยก้าวต่อไป "แอสตร้าเซนเนก้า" ส่งมอบ 61 ล้านโดสปีนี้ตามสัญญา เดินหน้าพัฒนาวัคซีนเจน 2 คาดรู้ผลปลายปีนี้ เตรียมพูดคุยพันธมิตร ส่งผลต่อแผนการผลิตในปีหน้า ย้ำเจน 1 ที่ใช้ปัจจุบัน ยังคงมีประสิทธิผลสูง สามารถลดอาการรุนแรง และป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้
วันนี้ (25 พ.ย. 64) เจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว กล่าวในงานเสวานาออนไลน์ “FROM LAB TO JAB” โดยระบุว่า โควิดเป็นหนึ่งในความท้าทาย ซึ่งแอสตร้าฯ ต้องการให้ทุกคนเข้าถึงยาอย่างเสมอภาคทั่วโลก เกิดความทุ่มเทของพันธมิตรใน 15 เดือนที่ผ่านมา เพื่อให้โลกเข้าถึงวัคซีน สู่การส่งมอบวัคซีนกว่า 2,000 ล้านโดส ใน 170 ประเทศทั่วโลก มีวัคซีนจำนวนมากไปยังประเทศรายได้น้อยและปานกลาง ทั้งนี้ ไม่เพียงแค่ยุทธศาสตร์ในการส่งมอบวัคซีนทั่วโลกกว่า 2,000 ล้านโดสเท่านั้น เพราะหากดูผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประมาณการณ์ว่าสามารถช่วยปกป้องการติดเชื้อ การนอนโรงพยาบาล และลดการตายได้
“ไทยเริ่มฟื้นตัวเห็นผลลัพธ์วัคซีนที่ทำให้กลับมาเปิดประเทศ จำนวนติดเชื้อทั่วประเทศลดลง และการตาย การอยู่ รพ.ลดลงเช่นกัน โดยในเดือน ต.ค. แอสตร้าฯ ส่งมอบวัคซีนอีกจำนวนมาก และสัปดาห์หน้าจะอัปเดทอีกว่าส่งมอบไปเท่าไหร่”
ขณะเดียวกัน การร่วมมือกับ สยามไบโอไซเอนซ์ นั้น เป็นการทำให้การเข้าถึงวัคซีนเสมอภาคซึ่งไม่สามารถทำคนเดียวได้ แต่ต้องทำงานร่วมกันกับเครือข่ายทั่วโลก โดยใช้ทักษะทางอุตสาหกรรมที่มี ร่วมมือกับพันธมิตรทั่วโลก 25 แห่ง ในการพัฒนา นำส่งวัคซีน เราเริ่มพูดคุยกับสยามไบโอไซต์ จากการสนับสนุนจาก กระทรวงสาธารณสุข และ เอสซีจี ผ่านการตรวจสอบคุณภาพจนแน่ใจ และไม่เพียงผลิตในไทยเพื่อคนไทยเท่านั้น แต่ไทยมีบทบาทรองรับประเทศอื่นในภูมิภาคได้ ภายใต้การรับรองจาก WHO
“ย้ำว่า แอสตร้าฯ ได้ทำทุกสิ่งที่ตั้งใจจะทำได้จริง ตั้งแต่การส่งมอบวัคซีนโดสแรกในเดือน มิ.ย. และส่งมอบ 5 - 6 ล้านโดส ต่อเดือน รวมถึงใกล้จะบรรลุเป้าหมาย 61 ล้านโดสในปีนี้ที่เคยสัญญาไว้”
สำหรับ ก้าวต่อไปของ แอสตร้าฯ เจมส์ ทีก กล่าวว่า ยังคงเป็นการทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ คือ 61 ล้านโดส แอสตร้าฯ ยังคงเป็นวัคซีนหลักในปี 2022 ขณะเดียวกัน โควิด-19 ทำให้เห็นความท้าทายจุดที่ยังไม่ตอบโจทย์โรคต่างๆ เช่น โรคทางระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง แอสตร้าฯ มุ่งมั่นในการวินิจฉัยโรคต่างๆ ได้ทันเวลาและเข้าถึงยา โควิดทำให้เรามองเห็นนวัตกรรม และ พันธมิตร รวมถึงมีความจำเป็นใหม่ๆ ในการจับมือกับสถานบันวิชาการในการให้คนไข้เข้าถึงการรักษารวดเร็ว
“และสิ่งที่ทำในปี หน้า และต่อไป คือ ความยั่งยืนทั้งในด้านการเข้าถึงสาธารณสุข สิ่งวแดล้อม และวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก จะมีโครการต่างๆ มากมายที่คนไข้จะได้เข้าถึงยา ป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อในไทย”
สำหรับการผลิตวัคซีนสิ่งแรก คือ การผลิตส่งมอบ 61 ล้านโดส ที่สัญญาปีนี้ไว้ใกล้จะบรรลุแล้ว ขณะที่ปี 2565 จะมีการผลิตต่อไปและทำงานกับสยามไบโอไซเอนซ์ต่อไป โดยในกำหนดเวลาที่สัญญาไว้ คือ จะส่งมอบทั้งหมดในไตรมาส 3 ปี 2565 แต่ละไตรมาสก็จะวางแผนต่อไป
ขณะเดียวกัน ตอนนี้มีการพัฒนาวัคซีนเจน 2 อยู่ในการทดสอบทางคลินิกระยะ 2-3 ด้วยการผลิตเทคโนลีเดิมแต่ดัดแปลงให้เจาะจงเดลต้ามากขึ้น แต่ขอย้ำว่า รุ่นที่ใช้ในตอนนี้มีประสิทธิผลสูง ในการศึกษาทางคลินิกสามารถลดอาการรุนแรงและป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้ ทั้งนี้ ผลการศึกษา เจน 2 คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปีนี้ และจะเดินหน้าพูดคุยกับพันธมิตรว่าจะส่งผลต่อแผนการผลิตในปีหน้าอย่างไร
- ก้าวต่อไปของสยามไบโอไซเอนซ์
ด้าน “ดร.ทรงพล ดีจงกิจ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เล่าย้อนกลับไปว่า การเตรียมความพร้อมของการเป็นศูนย์ผลิตวัคซีน เนื่องจาก สยามไบโอไซเอนซ์ มีการสั่งสมประสบการณ์ในการผลิตชีววัตถุมาตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อได้ร่วมกับแอสตร้าเซนเนก้า บริษัทฯ ได้ทำการปรับสายการผลิตเพิ่มเติมให้ตรงกับความคาดหวัง และให้เหมาะกับเทคโนโลยี ไวรัล เวกเตอร์
โดยต้องเตรียม 4 เรื่องสำคัญ คือ “โรงงาน” ซึ่งปรับเล็กน้อย “บุคลากร” เพราะนอกเหนือจากผลิตวัคซีน อยากจะต่อยอดความรู้ในประเทศเพื่อนำความรู้ประสบการณ์การผลิตต่อยอดไปสู่อนาคต “วัตถุดิบต่างๆ” ที่ใช้ในการผลิต เนื่องจากโควิดถือว่าเข้ามาดิสรัป มีการดึงทรัพยากร ซัพพลายเชน แย่งชิงวัตถุดิบ ต้องเตรียมวัตถุดิบให้พร้อม เพราะพอเราบอกว่าจะผลิตวัคซีนก็จะมีความคาดหวังเกิดขึ้นทันที และสุดท้าย “การร่วมงานกับแอสตร้าฯ” โดยมีเทคโนลีการผลิตที่ได้รับจากแอสตร้าฯ
ทั้งนี้ วันแรกที่ส่งมอบในเดือน มิ.ย. ถือเป็นความภาคภูมิใจของพนักงานทุกคน เป็นเกียรติที่แอสตร้าฯ ไว้วางใจและเราตอบแทนความไว้ว่าใจด้วยการส่งมอบได้ทันเวลา สิ่งสำคัญ คือ การควบคุมคุณภาพ มาตรฐานสากล ผ่านการวิเคราะห์มากกว่า 60 รายการ ผ่านการตรวจสอบจากหลายหน่วยงาน กว่าวัคซีนจะไปถึงแขนของผู้ใช้ต้องตรวจสอบอย่าเข้มข้น เรียกว่าเป็นความท้าทายก็ใช่ แต่ก็เป็นความรับผิดชอบเช่นกัน หากต้องทำผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้หลายร้อยล้านคน ต้องผ่านมาตรฐานระดับนี้
สำหรับ ก้าวต่อไปของ สยามไบโอไซเอนซ์ ดร.ทรงพล กล่าวว่า มองในผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ผลิตยากและไม่ค่อยมีใครทำ เราต้องเข้ามาทำเพื่อเสริมความมั่นคงของประเทศ รวมถึงต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ ซึ่งมียาตัวหนึ่งที่ยื่นขึ้นทะเบียนในยุโรปอยู่ระหว่างรอฟังผล และมียากลุ่มโรคเลือดและมะเร็งจะทยอยออกมา รวมถึง ทำชุดตรวจ โควิด-19 มุ่งเน้นไปทางเทคโลยีใหม่ ที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างยาก นานหน่อยกว่าจะเห็นผล แต่เป็นวัตถุประสงค์ของบริษัทเพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศ