ย้อนมอง ห่วงโซ่อุปทาน "ขยะอาหาร" ปัญหาที่ไม่ได้จบอยู่แค่ปลายทาง
การจะแก้ปัญหา "ขยะอาหาร" ไม่สามารถมองแค่ที่ปลายทางเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองให้ครบทั้ง "ห่วงโซ่อุปทาน" ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงมือผู้บริโภค เพราะระหว่างทางยังมีปัญหา การสูญเสียอาหาร "Food Loss" จากการขนส่ง ผลิต และแปรรูป
การสูญเสียอาหาร (Food Loss) จากการขนส่ง ผลิต แปรรูป และ ขยะอาหาร (Food Waste) ซึ่งเกิดจากการค้าส่ง ค้าปลีก บริการ และการบริโภค นับว่ามีส่วนทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน การแก้ปัญหาดังกล่าวจึงไม่ใช่แค่การแก้ที่ปลายเหตุอย่างขยะอาหารเท่านั้น แต่ทุกภาคส่วนที่อยู่ในห่วงโซ่ ต้องร่วมมือเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
รายงาน Food waste Index Report 2021 (UNEP) ประมาณการว่า ขยะอาหาร ในปี 2562 มีปริมาณ 931 ล้านตัน ซึ่งกว่า 61% มาจากครัวเรือน 26% จากภาคบริการอาหาร และ 13% จากการขายปลีก อัตราการเกิดขยะอาหารจากการบริโภคต่อคนในกลุ่มประเทศรายได้สูงกับกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางมีความใกล้เคียงกันมาก
หากย้อนกลับไปดูการศึกษาของ กรมควบคุมมลพิษ ปี 2547 พบว่า ขณะอินทรีย์เป็นสัดส่วน 64% ของขยะทั้งหมด ขณะที่ สัดส่วนขยะอาหาร ใน กทม. ระหว่างปี 2552 – 2563 พบว่า มีประมาณ 50% ของขยะทั้งหมด
รายงานล่าสุดของ UNEP เรื่อง “การใช้เทคโนโลยีสีเขียวและดิจิทัล (Green and Digital Technology) ในการลดขยะอาหารในภาคครัวเรือน” พบว่า ที่มาของขยะอาหารภาคครัวเรือนมีความซับซ้อน มาจากหลายปัจจัยที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคล เช่น ทัศนคติต่ออาหาร ความตื่นตัว ความสามารถในการปรับตัว หรือระดับระบบ เช่น ระบบเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ทำให้การศึกษาพฤติกรรมและการเก็บข้อมูลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการออกแบบนโยบาย
“พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์” ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมจาก UN Environment Programme (UNEP) และอาจารย์ด้านการพัฒนายั่งยืน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในเสวนา เกษตรและอาหาร: กลไกบริหารจัดการ ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ภายในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564” โดยระบุว่า ความเข้าใจต่อการจัดการขยะอาหารยังเน้นไปที่การกำจัด (Disposal) ซึ่งเป็นมาตรการปลายน้ำที่เป็นลำดับชั้นสุดท้ายใน “Food Waste Hierarchy” ดังนั้น ต้องมีการส่งเสริมมาตรการป้องกัน (Prevention) หรือมาตรการต้นน้ำ ผ่านการออกนโยบายหรือการให้ข้อมูลประชาชน
“ควรพิจารณาประเด็น “ของเสียในห่วงโซ่อุปทานอาหาร” (Waste in Food Supply Chain) มากกว่าแค่มิติ “ขยะอาหาร” (Food Waste) และต้องคำนึงถึงมลพิษ (CO2, SO2, PM) หรือขยะจากบรรจุภัณฑ์ (พลาสติก โฟม ไมโครพลาสติก) ที่เกิดขึ้นจากขั้นตอนต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทานอาหาร เช่น การขนส่ง การกักเก็บและแช่เย็น และการปรุงอาหาร”
การใช้เทคโนโลยีอย่างเดียวไม่พอ แต่เทคโนโลยีต้องเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่มีความครอบคลุมและสามารถเชื่อมปัจจัยต่างๆ เช่น นโยบายและกฎเกณฑ์ มาตรการด้านภาษี การร่วมมือแบบสมัครใจ การให้ข้อมูล และอื่น ๆ โดยจะต้องมีการร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม หรือความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับโลก
“เบญจมาส โชติทอง” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการและแผนงาน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและผู้ช่วยเลขาเครือข่ายการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Thai SCP Network) มองว่า ควรมีนโยบายและมาตรการที่ชัดเจน ในการส่งเสริมและควบคุม อาทิ การเก็บค่าขยะในอัตราก้าวหน้า การควบคุมกลุ่มผู้ประกอบการจำหน่ายอาหาร การคัดแยกขยะ เช่นเดียวกับกรณีต่างประเทศเห็นได้ชัดว่า การมีมาตรการบังคับ ส่งผลให้ปริมาณขยะอาหารลดลงชัดเจน
ขยะอาหารยังมีความท้าทายและโอกาสอยู่ “ระดับโลก” เป้าหมาย SDG และความตกลงลดก๊าซเรือนกระจกจะเป็นตัวกดดัน ในการขับเคลื่อนให้เกิดการจัดทำแผน สำรวจข้อมูลและติดตามผล “ระดับประเทศ” การสูญเสียอาหารและขยะอาหารเป็นสาขาหนึ่งในแผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยคาดหวังว่าเอกชนจะทำจริงจัง และในส่วนของ “สังคม” ความตื่นตัวของภาคเอกชน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น
- ลดการสูญเสียอาหาร ลดโลกร้อน
บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในบริษัทอาหารและเป็นส่วนสำคัญในการจัดการปัญหาขยะอาหาร มีบริษัทใน 36 ประเทศทั่วโลก ข้อมูลในปี 2563 ที่ผ่านมา อายิโนโมะโต๊ะทั่วโลก มีการสูญเสียอาหาร (Food Loss) และ ขยะอาหาร (Food Waste) กว่า 15,138 ตัน อันดับ 1 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 7,929 ตัน 52% อันดับ 2 ไทย 2,965 ตัน 20% อันดับ 3 ญี่ปุ่น 1,832 ตัน 12% และ อันดับ 4 บลาซิล 1,227 ตัน 8%
ศรชัย กุสันใจ กรรมการ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เป้าหมายอายิโนะโมะโต๊ะ ในปี 2573 บริษัทฯ ตั้งเป้า ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลง 50% โดยมี 5 ข้อสำคัญ คือ (1.) ลดก๊าซเรือนกระจกลง 50% ในปี 2573 (2.) อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 80% ในปี 2573 (3.) ลดพลาสติกเป็นศูนย์ ในปี 2573 (4.) ลดขยะอาหาร 50% ในปี 2568 และ (5.) ไม่สนับสนุนและซื้อวัตถุดิบที่ได้มาจากการทำลายสิ่งแวดล้อม 100% ในปี 2568
ดังนั้น การควบคุมดูแลตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่ง เริ่มมาหลายทศวรรษ คือ การผลิตผงชูรส ใช้วัตถุดิบทางการเกษตร โดยโรงงานถือว่าใช้มันสำปะหลังมากที่สุดในประเทศไทย มันสำปะหลังในไร่ ส่งถึงโรงงาน และผลิตผงชูรสออกมา จะได้ผลิตภัณฑ์พลอยได้ เช่น ปุ๋ย สารบำรุงดิน ส่งกลับพื้นที่การเกษตร สร้างผลิตผลทางการเกษตรออกมาใหม่ เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน คนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ เกษตรกร ขนส่ง โรงงานได้ทั้งหมด
“จากการเดินหน้าลดการสูญเสียอาหารและลดการใช้น้ำในปี 2561 พบว่า ในปี 2562 สามารถลดได้ 5.33% ถัดมา ปี 2563 ลดได้ 18.03% และ ในปี 2564 ลดได้ 30.48% ดังนั้น เป้าหมาย 50% มีความเป็นไปได้ เราจะพยายามใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด ลดการสูญเสียตลอดเส้นทาง และทำอย่างไรจะสร้างมูลค่าขยะให้กลับเข้าสู่วงจร Circular ในระบบให้ได้” ศรชัย กล่าว