จุฬาฯ เปิด “Club Chula Spin-off”บ่มเพาะ 50 บริษัท มูลค่ากว่า 1.67 หมื่นล้านบาท
จุฬาฯ บ่มเพาะ 50 บริษัท ‘Deep Tech Startups’ มูลค่ากว่า 1.67 หมื่นล้านบาท เปิด “Club Chula Spin-off” เร่งฟื้นเศรษฐกิจไทยด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ตั้งเป้าขยายสตาร์ทอัพเพิ่มมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท
ด้วยพิษโควิด-19 ประเทศไทยซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียนจึงจําเป็นต้องมี “เครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” เติบโตได้ในระยะยาว
วันนี้ (29 พ.ย.2564) ที่ลานพรีฟังชั่นฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเปิด “Club Chula Spin-off” โดยมี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ตอนหนึ่งว่า อว.ได้ดำเนินการเร่งสนับสนุนให้อาจารย์ของมหาวิทยาลัยทำงานวิจัยเพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งทางอว.ได้มีการปลดล็อคและมีกฎหมายในการขับเคลื่อนมาตรการให้ทั้งผู้รับทุนและผู้ให้ทุนได้เป็นเจ้าของงานวิจัยร่วมกัน ทำให้งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และทุกด้าน นำไปสู่การช่วยสังคม ขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“อยากเห็นอุดมศึกษาเปลี่ยนไปอย่างมีคุณค่า ทุกอุดมศึกษาได้มีงานวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนาสังคมและประเทศ ซึ่งจุฬาฯ ได้แสดงให้เห็นว่าสามารถบ่มเพาะสตาร์ทอัพ และตอบสนองนโยบายของประเทศ และอว.ให้ประสบความสำเร็จ โดยหวังว่า Club Chula Spin-off จะทำให้เกิดระบบนิเวศใหม่ของนักวิจัยได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แชร์ประสบการณ์ รวมกลุ่มเพื่อช่วยชาติขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตอบโจทย์สังคมไทยและสังคมโลกที่ถูกดิสรัปด้วยอุตสาหกรรมใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว” ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว
- ไทยประสบปัญหาเรื่องปากท้อง
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เราสปินออฟ...เพื่อชาติ” ว่าโควิด-19 ยังมีวิวัฒนาการปรับตัวเองให้อยู่แล้ว ซึ่งสังคมไทยจะพัฒนาช้ากว่าโควิด-19 ไม่ได้ 2 ปีที่ผ่านมาโควิดได้เล่นงานสังคมไทยและสังคมโลก ซึ่งจุฬาฯ ได้มีการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ออกมารับใช้สังคม ต่อสู้กับความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะความท้าทายทั้งโควิด-19 และเรื่องปากท้องของประชาชน ตอนนี้ประเทศไทยมีการกระจายตัวของรายได้ค่อนข้างน้อย มีประมาณ 10 จังหวัด และบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้นที่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่บริษัทเล็กๆ ไม่มีรายได้ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม และเกิดปัญหาปากท้องที่ขยายใหญ่ขึ้น
“ประเทศไทยจะออกจากกับดักการกระจุกตัวรายได้ และทำให้เกิดการกระจายของรายได้ไปทุกภาคส่วนนั้น ต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อความท้าทายในมิติเทคโนโลยี และบริบทต่างๆ เราต้องเรียนรู้ข้อมูลข่าวสารและปรับตัวอย่างเร็ว ที่สำคัญเราจะอยู่แบบเดิมหรือให้โลกเปลี่ยนหาเราคงไม่ได้ เราต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลง ให้ไปเข้ากับสิ่งต่างๆ รวมถึงต้องช่วยโลกในเรื่องของการจัดการสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และต้องเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน” ศ.ดร.บัณฑิต กล่าว
อดีตบทบาทของมหาวิทยาลัยจะมี 3 เรื่องหลักๆ คือ สร้างคน สร้างองค์ความรู้ งานวิจัย นวัตกรรม และต้องทำให้คณาจารย์ และบัณฑิตนำความรู้ไปช่วยเหลือแก้ปัญหาให้แก่ประเทศชาติ แต่ในปัจจุบัน บทบาทของมหาวิทยาลัยจะต้องเพิ่มขึ้น ต้องเปิดตัวเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาคนอก
- Club Chula Spin-off เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย
ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวต่อว่าโจทย์ใหญ่ของประเทศไทย คือ ต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วง 2 ปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว มาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศแล้ว ประเทศไทยยังจําเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีเศรษฐกิจตัวใหม่เข้ามาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศ ต่างๆ ซึ่ง จุฬาฯ ได้ช่วยแก้โจทย์นี้ โดยส่งกลุ่ม Deep Tech Startups นําผลงานนวัตกรรมจากงานวิจัยของ คณาจารย์และนักวิจัยจุฬาฯ จัดตั้งบริษัท “สปินออฟ” สนองนโยบาย University Holding Company ของกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
“การเปิดตัว Club Chula Spin-off แสดงให้เห็นถึงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพมากกว่า 50 บริษัท ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จํากัด ผู้พัฒนาวัคซีนป้องกัน โควิดจุฬาฯ-ใบยา ,Haxter Robotics หุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วย, MINEED นวัตกรรมนําส่งยาที่ละลายและซึมผ่านผิวหนัง, Nabsolute สเปรย์เพิ่ม ประสิทธิภาพหน้ากากผ้า, Tann D Innofood เส้นโปรตีนไข่ขาว, Herb Guardian นวัตกรรมฉีดพ่นลดฝุ่นละออง PM2.5 คิดมูลค่าตลาดรวมแล้วกว่า 1.67 หมื่นล้านบาท ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด” ศ.ดร.บัณฑิตกล่าว
ทั้งนี้ จุฬาฯ ได้ตั้งเป้าให้มูลค่าตลาดของทั้งสตาร์ทอัพและ สปินออฟจุฬาฯ ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนแตะ 5 หมื่นล้านบาท ภายใน 3 ปี ซึ่งจะเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่เราจะได้เห็น อาจารย์และนักวิจัยจุฬาฯ เข้ามามีส่วนช่วยขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรรมอันนำไปสู่การสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศ
- แหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของสตาร์ทอัพ
“วันนี้ สังคมไทยพูดเยอะ ลงมือน้อย โดยเฉพาะอธิการบดี พูดแล้วไม่เห็นทำอะไร คณาจารย์ก็พูดเป็นหลัก สังคมคุณนะทำ ผมไม่ทำมีจำนวนมาก ปัญหาของสังคมไทย คือ จะทำอย่างไรให้สำเร็จ Club Chula Spin-off จะแสดงให้เห็นว่าจุฬาฯ ทำได้ ทำแล้ว และประสบความสำเร็จ เรื่องงานนวัตกรรมของประเทศไม่ใช้การพูดจาสวยหรูแต่เราสามารถจับต้องได้” ศ.นพ.บัณฑิต กล่าว
ด้าน ผศ.ภญ.ดร.จิตติมา ลัคนากุล ประธานชมรม Club Chula Spin-off กล่าวว่า เป้าหมายของทุกคนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อพัฒนาฐานเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ โดย Club Chula Spin-off จะเป็นการแลกเปลี่ยนและสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนสังคมไทยและพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ในอนาคตอันใกล้ จะมีพื้นที่ให้ทุกท่านมาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อให้สมาชิกใน Club Chula Spin-off รวมกลุ่มและผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- งานวิจัยสู่ห้าง ผลงานของอาจารย์และนิสิตจุฬาฯ
รศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯบริษัท เอนจิน ไลฟ์ จำกัด กล่าวว่าเดิมเป็นอาจารย์ที่ชอบทำงานวิจัยนำความรู้ด้านวิศวกรรมมาสร้างสรรค์นวัตกรรม เครื่องมือทางการแพทย์อยู่แล้ว ยิ่งเกิดสถานการณ์โควิด-19 และได้เปิดบริษัท เอน จิน ไลฟ์ จำกัด ก็ได้มีพื้นที่ในการทำให้งานวิจัยสู่การนำไปใช้จริงๆ โดยมีการทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม เครื่องมือทางการแพทย์ เช่น กล่องรอดตาย ทำให้เห็นผลงานออกสู่สังคม ช่วยผู้ป่วย และสร้างแรงบันดาลใจในการทำวิจัยให้แก่พวกคณาจารย์มากขึ้น ยิ่งทางจุฬาฯ ได้เปิด Club Chula Spin-off ทำให้ได้แลกเปลี่ยนมุมมองด้านการเป็นสตาร์ทอัพ และมีความชัดเจนมากขึ้น
ดร.ธีรพงศ์ ยะทา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ บริษัท นาอีฟ อินโนว่า จำกัด กล่าวว่าได้มีการผลิตแพลตฟอร์มนาโนเทคโนโลยี ในเรื่องของระบบนำส่งที่จะทำให้สารต่างๆ เข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น โดยเป็นการสร้างอนุภาคนาโน เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ทั้งอุตสาหกรรมอาหาร อาหารเสริม และเครื่องสำอาง ขณะนี้ได้มีการร่วมมือกับผู้ประกอบการ เป็นผลิตภัณฑ์ใช้ได้จริงแล้ว10 โครงการ มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท และถ้าทำได้ครบทั้ง 40 โครงการ จะสร้างมูลค่าได้กว่า 100 ล้านบาท ซึ่งเมื่อมาเข้าร่วมกับ Club Chula Spin-off ทำให้เกิดการจัดตั้งบริษัท และสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจ ภาคส่วนต่างๆ ทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้
- ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม
ศ.ภญ.ดร.ร.ต.อ.หญิง สุชาดา สุขหร่อง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ บริษัท เฮิร์บ การ์เดียน จำกัด กล่าวว่าการจัดบริษัท เฮิร์บฯ เป็นการทำงานร่วมกันของคณาจารย์ และนิสิตที่จะทำงานร่วมกันเรื่องสมุนไพร และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือมลภาวะที่ควบคู่กับการดูแลสุขภาพ เช่น มีการทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรในการช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และมีการทำ “จุฬาฟ้าใส” ใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญจากคณะวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ บูรณาการร่วมกับเภสัชศาสตร์ ในการดูแลสิ่งแวดล้อม จัดการปัญหาฝุ่น PM2.5
ผศ.ดร.สถาพร งามอุโฆษ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ บริษัท ทานดี อินโนฟูด จำกัด กล่าวว่า เป็นโปรตีนเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม ซึ่งตอนนี้หลายๆ คนกำลังประสบปัญหาทานโปรตีนไม่พอ เราจึงมองว่าให้ทุกคนอยากทานโปรตีน เราเป็นทีมโภชนาการและการกำหนดอาหาร เราเจอผู้ป่วยหลายๆ กลุ่ม มีปัญหาในการทานโปรตีน อาทิ ผู้ป่วยมะเร็งต้องทานโปรตีนไข่ขาว 6 ฟองต่อวันตลอดชีวิต เราก็มีการเปลี่ยนไข่ขาวมาเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นอุดง ต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถรับประทานไข่ขาวได้ รวมถึงมีการพัฒนาเห็ด ธัญพืชต่างๆ มาเป็นอาหารในรูปแบบอื่นๆ เป็นต้น อีกทั้งจะมีการดูแลทั้งด้านร่างกาย และจิตใจร่วมด้วย
“นวัตกรรมต่างๆ ทำให้นิสิตมองเห็นว่าสิ่งที่เขาคิดค้นเพื่อแก้ไขปัญหาสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ประเทศได้ และจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้คนรุ่นใหม่อยากพัฒนานวัตกรรม ต่อยอดเชิงพาณิชย์ และผลักดันประเทศชาติด้วยนวัตกรรม และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระดับโลกได้”ผศ.ดร.สถาพร กล่าว