ประเทศไทย พบ "โอมิครอน" เป็นอันดับที่ 47 ของโลก

ประเทศไทย พบ "โอมิครอน" เป็นอันดับที่ 47 ของโลก

หลังจาก "กระทรวงสาธารณสุข" แถลงพบ ผู้ป่วยโควิด-19 มีเชื้อ “โอมิครอน” ซึ่งเดินทางมาจากสเปน นับเป็นรายแรกของไทย ทำให้ไทยเป็นประเทศที่ 47 ของโลก แต่ขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากสายพันธุ์ดังกล่าวและ "เดลต้า" ยังคงเป็นสายพันธุ์ที่พบส่วนใหญ่

จากผลการสอบสวนเบื้องต้น ผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอน ซึ่งทาง “กระทรวงสาธารสุข” ได้รายงานในวันที่ 6 ธ.ค. 64 เป็นชายอายุ 35 ปี สัญชาติอเมริกัน อาศัยอยู่ที่สเปนเป็นเวลา 1 ปี อาชีพนักธุรกิจ ไม่มีโรคประจำตัว (ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ) โดยได้รับวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 1 เข็ม จากสหรัฐ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 64 มีผู้สัมผัสทั้งหมด ที่โรงแรม 17 คน และ พนักงานในสนามบิน 2 คน จากไทม์ไลน์พบว่า 

 

28 พ.ย. 64 ตรวจ PCR ที่สเปน ผลไม่พบเชื้อ หลังจากนั้นไปทานข้าวกับเพื่อน (เพื่อนไม่มีอาการป่วยจนถึงปัจจุบัน) 

29 พ.ย. 64 บินจากประเทศสเปน ไปดูไบ (EK142) พักที่ดูไบ 9 ชั่วโมง ไม่มีการพูดคุยกับใคร สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 

30 พ.ย. 64 บินจากดูไบมากรุงเทพฯ (EK372) หลังจากลงเครื่อง (เที่ยงคืน) ไปเก็บตัวอย่างแบบ Drive Thru ที่ รพ.คู่สัญญา และกลับเข้าโรงแรม (ผู้ป่วยเข้าโครงการ Test & Go) 

1 ธ.ค. 64 ได้รับแจ้งจาก รพ. ว่า ตรวจพบเชื้อโควิด-19 

3. ธ.ค. 64 ส่งตัวอย่างเชื้อตรวจยืนยันที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  
 

ทั้งนี้ ประวัติผู้ติดเชื้อและการตรวจรักษา พบว่า ผู้ติดเชื้อ โอมิครอน รายนี้ไม่แสดงอาการของโรคโควิด-19 ปฏิเสธโรคประจำตัว และไม่มีประวัติการตรวจพบเชื้อ SARS-CoV-2 มาก่อน แรกรับอุณหภูมิ 36.5 องศา อัตราการเต้นหัวใจ 96 ครั้ง / นาที ความดันโลหิต 136/84 มิลลิเมตรปรอท

 

ประเทศไทย พบ \"โอมิครอน\" เป็นอันดับที่ 47 ของโลก

  • ไทยยังพบ "เดลต้า" เป็นส่วนใหญ่ 

 

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุขเอง โดยได้มีการตรวจสอบเรื่องการกลายพันธุ์มาโดยตลอดทุกสัปดาห์ ซึ่งสัปดาห์ล่าสุดระหว่างวันที่ 27 พ.ย.-3 ธ.ค. 2564 ยังเป็นเชื้อเดลต้า ในประเทศไทยเกือบ 100% โดยตรวจไปเกือบ 800 ตัวอย่าง พบว่า ภาพรวมในประเทศไทยเป็นเดลตา 99.87%  ส่วนเบต้าน้อยมากอยู่ในพื้นที่จำกัดชายแดนใต้ ขณะเดียวกัน คนที่เดินทางมาจากต่างประเทศตั้งแต่เปิดประเทศ ได้มีการเฝ้าประเทศตามช่องทางอนุญาตยังพบเดลต้าเป็นส่วนใหญ่ มีอัลฟ่าเพียง 1-2 ราย

 

  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการน้อย

 

ด้าน ศูนย์บริหารสถาการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. รายงานข้อมมูลล่าสุด โดยระบุว่า สายพันธุ์ “โอมิครอน” แพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ที่ผ่านมา 2-5 เท่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย คล้ายโรคไข้หวัด (ผู้ติดเชื้อที่รายงานในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล) และ ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโอมิครอนเสียชีวิต

 

มาตรการป้องกัน คือ การฉีดวัคซีนโควิดให้ครอบคลุมมากที่สุด ใช้มาตรการป้องกันส่วนบุคคลที่เข้มงวด เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และ VUCA ยกระดับการเฝ้าระวัง ณ ช่องทางเข้าออกประเทศ และสถานที่ท่องเที่ยงทำการสุ่มตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยไข้หวัดที่เป็นกลุ่มก้อน (Cluster) ส่งตัวอย่างเชื้อที่พบจากผู้เดินทางหรือรายที่น่าสงสัย ไปตรวจหาสายพันธุ์โอมิครอนที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

ประเทศไทย พบ \"โอมิครอน\" เป็นอันดับที่ 47 ของโลก

 

  • พบโอมิครอนใน 46 ประเทศ 

 
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันที่ 5 ธ.ค. 64 พบผู้ติดเชื้อแล้วใน 46 ประเทศ โดยแบ่งเป็น ติดเชื้อในประเทศ 15 ประเทศ และในผู้เดินทางเท่านั้น 31 ประเทศ และขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโอมิครอน

 

ประเทศไทย พบ \"โอมิครอน\" เป็นอันดับที่ 47 ของโลก

  • WHO ยืนยันยังไม่พบผู้เสียชีวิตจาก "โอมิครอน"

 

สอดคล้องกับข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ได้ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ขณะที่ มีการเตือนว่า "โอมิครอน" อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และออสเตรเลียเป็นประเทศล่าสุดที่ยืนยันการพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนภายในประเทศ 


ทั้งนี้ การระบาดของโอมิครอนทำให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิดใน แอฟริกาใต้ พุ่งทะลุ 3 ล้านรายแล้ว WHO เตือนว่า อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์เพื่อบ่งชี้ว่า ไวรัสโอมิครอนแพร่เชื้ออย่างไร และทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงขึ้นหรือไม่ รวมทั้งประสิทธิภาพของการรักษาและวัคซีนในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว

 

WHO เปิดเผยว่า ยังไม่มีรายงานการพบผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ โอมิครอน แต่การแพร่ระบาดของโอมิครอนทำให้มีการเตือนว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในยุโรปจำนวนมากกว่าครึ่ง อาจติดเชื้อจากโอมิครอนในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า

 

  • สหรัฐ เจอใน 6 รัฐ แต่เดลตายังเป็นสายพันธุ์หลัก 

 

ขณะเดียวกัน ข้อมูลเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 64 ผู้เชี่ยวชาญเปิดเผยว่า รัฐอีก 6 แห่งในสหรัฐยืนยันการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แต่ก็ระบุว่า ไวรัสสายพันธุ์ดลตายังคงเป็นภัยคุกคามมากกว่า ขณะที่เข้าสู่ช่วงฤดูหนาว และชาวอเมริกันจะรวมตัวกันในช่วงวันหยุด รัฐนิวเจอร์ซีย์, แมริแลนด์, มิสซูรี, เนแบรสกา, เพนซิลเวเนีย และยูทาห์ ต่างรายงานการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

 

โดยบรรดานักวิทยาศาสตร์ยังคงตรวจสอบผลกระทบของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่สามารถแพร่เชื้อได้ในระดับสูง ซึ่งตรวจพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ โดยหลักฐานเบื้องต้นบ่งชี้ว่า ไวรัสโอมิครอนอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่น้อยกว่าสายพันธ์ก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลตา และ เดลตายังคง เป็นไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในสหรัฐ

 

  • สหรัฐ เตรียมบังคับแสดงผลโควิดเป็นลบ ก่อนเข้าประเทศ แม้ฉีดวัคซีนแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด สถานทูตสหรัฐฯ และสถานกงสุลในประเทศไทย เปิดเผยผ่านทางเว็บไซต์ว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐ จะบังคับใช้ข้อกำหนดในการตรวจการติดเชื้อโควิด-19 กับผู้โดยสารอายุ 2 ปีขึ้นไป ที่เดินทางมายังสหรัฐโดยจะบังคับใช้กับทุกคนและทุกสัญชาติ ข้อความดังกล่าวระบุว่า ผู้โดยสารทุกคนและทุกสัญชาติที่เดินทางมายังสหรัฐจะต้องแสดงผลตรวจโควิด-19 เป็นลบโดยต้องตรวจก่อนขึ้นเครื่องบิน 1 วัน แม้บุคคลผู้นั้นจะฉีดวัคซีนครบโดสแล้วก็ตาม 

 

ทั้งนี้ ให้ผู้โดยสารแสดงผลตรวจเป็นลบกับสายการบินก่อนขึ้นเครื่อง สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และเพิ่งหายป่วย ให้แสดงเอกสารยืนยันการหายป่วยแทน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปยังประเทศต่าง ๆ อย่างน้อย 40 แห่งแล้วนับตั้งแต่มี รายงานการตรวจพบที่แอฟริกาใต้สัปดาห์ที่ผ่านมา และรัฐบาลจำนวนมากได้สั่ง คุมเข้มการเดินทางเพื่อพยายามที่จะสกัดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว

 

ประเทศไทย พบ \"โอมิครอน\" เป็นอันดับที่ 47 ของโลก

 

  • นอร์เวย์ พบติดเชื้อ 'โอมิครอน' 13 คน ในวงปาร์ตี้

 
ทางการ นอร์เวย์ เผยว่า วงปาร์ตี้คริสต์มาสของบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงออสโลได้กลายเป็น "เปอร์สเปรดเดอร์อีเวนต์" หลังมีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ "โอมิครอน" แล้วอย่างน้อย 13 คน และคาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจพุ่งสูงกว่า 60 คน การระบาดแบบคลัสเตอร์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ภายในงานเลี้ยงฉลองเทศกาลคริสต์มาสของบริษัทพลังงานหมุนเวียนสกาเทค (Scatec) โดยบริษัทแห่งนี้มีธุรกิจอยู่ในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีรายงานพบโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเป็นที่แรก สันนิษฐาน ว่า ผู้เข้าร่วมงานอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 120 คนอาจติดเชื้อโควิดโอมิครอนจากงานปาร์ตี้นี้ ซึ่งจะเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่สุด ภายนอกแอฟริกาใต้

 

นอกจากผู้ติดเชื้อในงานปาร์ตี้แล้ว ยังมีประชาชนที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งตะวันตก ของนอร์เวย์ 2 คน และผู้เดินทางซึ่งกักตัวอยู่ที่สนามบินออสโลอีก 2 คน ได้รับการยืนยันว่าติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน การแพร่เข้ามาของโควิดตัวกลายพันธุ์ใหม่ทำให้รัฐบาลนอร์เวย์ตัดสินใจฟื้นมาตรการจำกัดทางสังคมทั่วประเทศ ขณะที่หลายบริษัททั่วยุโรปประกาศยกเลิกจัดงานฉลองคริสต์มาส เพื่อป้องกันความเสี่ยงแพร่เชื้อ

 

ประเทศไทย พบ \"โอมิครอน\" เป็นอันดับที่ 47 ของโลก

 

  • เกาหลีใต้ ยอดติด “โอมิครอน” เพิ่มอีก 3 ราย

 

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเกาหลี (KDCA) เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 5,128 รายเมื่อวานนี้ ซึ่งปรับตัวลดลงเล็กน้อยหลังจากที่พุ่งแตะ 5,352 รายในวันก่อนหน้า ขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 473,034 ราย ขณะเดียวกันพบผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 43 ราย ซึ่งทำให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 3,852 ราย ส่วนยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโอมิครอนเพิ่มขึ้น 3 ราย ดันยอดรวมในประเทศแตะ 12 ราย

 

KDCA ระบุว่า อัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลของผู้ป่วยโควิด-19 พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว นำโดยผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรง รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ประกาศว่า ผู้ที่จะเข้าร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ และพื้นที่สาธารณะอื่น ๆ จะต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังได้ลดจำนวนประชาชนที่อนุญาตให้รวมกลุ่มกันได้ลงเหลือ 6 คนในเขตพื้นที่กรุงโซล จากปัจจุบัน 10 คน และลดการรวมตัวกันลงเหลือ 8 คนจาก 12 คนสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่นอกเขตเมืองหลวง โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันจันทร์หน้า

 

ประเทศไทย พบ \"โอมิครอน\" เป็นอันดับที่ 47 ของโลก

 

  • วัคซีน ช่วยลดความรุนแรง 

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า การติดเชื้อโอมิครอน ต่างจากสายพันธุ์อื่นหรือไม่ ต้องบอกว่า เบื้องต้นไม่แตกต่างกัน ยังติดต่อผ่านละอองฝอยเป็นหลัก การติดต่อผ่านลม ผ่านอากาศเจอน้อยมาก จะเจอในบางกรณีคือ ห้องอับ หรือห้องที่มีการแพร่กระจายเชื้อสูง ไม่ได้แพร่ทางอากาศทั่วๆไป

 

"วัคซีน ไม่ว่าชนิดไหนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ 100% แต่มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ รวมทั้งข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขที่นำเรียน ซึ่งผ่านการวิเคราะห์ โดยไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีการใช้วัคซีนหลายยี่ห้อ และพบประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันติดเชื้อ 50-80% แต่สามารถป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ค่อนข้างดีมากในระดับ 80-90% ขึ้นไป ดังนั้น หากพูดถึงประสิทธิผลต้องพูด 2 ส่วนคือ ส่วนหนึ่งการป้องกันการติดเชื้อ และอีกส่วนช่วยลดความรุนแรงของการติดเชื้อ" นพ.โอภาส กล่าว

 

  • ทั่วโลกติดเชื้อรายใหม่ 422,421 ราย  

 

สำหรับ “สถานการณ์โควิด-19” ทั่วโลก วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม 2564 เวลา 10.00 น. ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 422,421 ราย  ยอดผู้ติดเชื้อรวม 266,123,730 ราย อาการรุนแรง 86,797 ราย รักษาหายแล้ว 239,707,313 ราย เสียชีวิต 5,270,662 ราย  

 

อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่

1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 49,969,856 ราย

2. อินเดีย จำนวน 34,641,406 ราย

3. บราซิล จำนวน 22,143,091 ราย

4. สหราชอาณาจักร จำนวน 10,464,389 ราย

5. รัสเซีย จำนวน 9,801,613 ราย

 

ส่วนประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 24 จำนวน 2,145,241 ราย