ตั้งการ์ดให้พร้อม รับมือ “โอมิครอน”

ตั้งการ์ดให้พร้อม รับมือ “โอมิครอน”

ในที่สุดประเทศไทยก็พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เป็นการยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุข การเตรียมความพร้อมด้านระบบสาธารณสุขเพื่อรองรับการระบาดระลอกใหม่ เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเจอการระบาดที่รุนแรงอีกครั้ง เพราะไม่อย่างนั้นการฟื้นฟูประเทศจะทำได้ยากมากขึ้น

ในที่สุดประเทศไทยก็พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เป็นการยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2564 โดยเป็นชายชาวสหรัฐ ที่เดินทางมาจากประเทศสเปน และเข้าไทยในรูปแบบ Test and go หลังจากที่หลายประเทศในเอเชียทยอยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย ซึ่งทำให้หลายประเทศยกระดับมาตรการควบคุมโรคขึ้น เช่น ญี่ปุ่นขอให้สายการบินงดจำหน่ายตั๋วเดินทางเข้าญี่ปุ่นถึงสิ้นเดือน ธ.ค.2564

ส่วนประเทศไทยได้วางแผนรับมือสายพันธุ์โอมิครอนไว้แล้ว โดยครอบคลุมทั้งมิติการควบคุมโรคและการป้องกันโรค โดยเฉพาะการป้องกันโรคที่วัคซีนยังเป็นเครื่องมือสำคัญ ซึ่งได้ให้กระทรวงสาธารณสุขเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนที่เตรียมส่งมอบ 90 ล้านโดส ขอให้ปรับเป็นวัคซีนรุ่นใหม่ที่คาดว่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งได้มีการเตรียมความพร้อมด้านระบบสาธารณสุขเพื่อรองรับการระบาดระลอกใหม่ เช่น การจัดเตรียมยารักษา การเตรียมโรงพยาบาล

อีกส่วนที่มีความสำคัญและเป็นบทเรียนที่มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ การระบาดในโรงงานและสถานประกอบการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกทำให้ผู้ผลิตเพื่อการส่งออกไม่สามารถรับคำสั่งซื้อได้เต็มที่ ซึ่งครั้งนี้รัฐบาลได้มองถึงการควบคุมการระบาดส่วนนี้ไว้ด้วย เพื่อลดผลกระทบต่อการส่งออกที่จะเป็นเครื่องจักรกลสำคัญต่อเศรษฐกิจในปี 2565 และป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงซัพพลายเชนที่อาจเจอปัญหาจนต้องลดกำลังการผลิตลง

สิ่งสำคัญอีกส่วนที่เป็นทรัพยากรสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์การระบาดคืองบประมาณ ซึ่งงบประมาณหลักสำหรับการรับมือจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงิน 500,000 ล้านบาท ที่ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 270,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบประมาณกลางและงบประมาณส่วนอื่นจะมีวงเงินรับมือ 380,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นวงเงินที่ไม่สูงและจำเป็นต้องใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลมีทรัพยากรที่จำกัดในการรับมือสถานการณ์การระบาด โดยการระบาดระลอกสายพันธุ์เดลตามีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันสูงเกิน 20,000 คน และต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งเมื่อมีประสบการณ์จากการระบาดที่รุนแรงมาแล้วย่อมถือว่ามีบทเรียนที่จะทำให้การรับมือการระบาดระลอกใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นทำได้ดีขึ้น เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเจอการระบาดที่รุนแรงอีกครั้ง เพราะไม่อย่างนั้นการฟื้นฟูประเทศจะทำได้ยากมากขึ้น