เตือน! อย่าเร่งฉีดวัคซีนโควิด กระตุ้นเข็ม 4 ไม่เกิดประโยชน์
สธ.เตือนไม่ต้องเร่งฉีดวัคซีนโควิดกระตุ้นเข็ม 4 ไม่เกิดประโยชน์ตามที่ต้องการ ระบุตามไทม์ไลน์ยังไม่มีใครถึงเวลาต้องฉีด
เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว และถึงเวลาต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ขอให้รอการแจ้งเตือนจากหน่วยงานสาธารณสุขเพื่อเข้ารับเข็มกระตุ้น ซึ่งมีกระแสบางคนรีบไปหาวัคซีนมาฉีดเอง ขอเรียนว่าการรีบฉีดโดยที่ระยะเวลาฉีดวัคซีนสั้นเกินไป ก็อาจจะไม่ได้เกิดประโยชน์อย่างที่ต้องการ เพราะว่าโดยหลักการแล้ว การฉีดวัคซีนควรมีห้วงระยะเวลาที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ตามสูตรวัคซีนตามที่คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันและกระทรวงสาธารณสุขแนะนำเป็นช่วงเวลาที่พิจารณาแล้วว่า เหมาะสมในการสร้างภูมิคุ้มกันและสถานการณ์ เพราะฉะนั้นผู้ที่ฉีดวัคซีนไม่ต้องเร่งฉีดเพื่อให้ครบ 3 หรือครบ 4 เข็ม แต่ข้อสำคัญให้ดูเรื่องระยะเวลาเป็นสำคัญ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีผู้เข้าถึงวัคซีนเองแล้วมีการฉีดกระตุ้นเข็ม4แล้ว นพ.วิชาญ กล่าวว่า เรื่องนี้น่ากังวล เพราะมีบางคนได้เข็ม 3 แล้ว แต่รีบไปกระตุ้นเข็ม 4 และไปดูระยะห่างก็ไม่เหมาะสม อย่างเข็ม 3 และเข็ม 4 ห่างกันเพียง 1 เดือน กรณีนี้ฉีดเข็ม 4 ไปก็แทบไม่มีประโยชน์ เพราะเหมือนไปฉีดเข็ม 3 ดังนั้น ความสำคัญของการฉีดวัคซีนต้องดูระยะเวลาที่เหมาะสม โดยเราดูระดับภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งขอบคุณอาจารย์ต่างๆมีการติดตามตลอด และมีคำแนะนำว่า กี่เดือนภูมิฯตก ต้องฉีดกระตุ้น หลักการของการฉีดวัคซีนจึงต้องฉีดวัคซีนให้เหมาะสม เร็วไปไม่ดี ช้าไปไม่ดี จึงขอให้ฟังทางวิชาการเพื่อให้เกิดประโยชน์เต็มที่
เมื่อพิจารณาไทม์ไลน์ของคนฉีดเข็ม 3 ยังไม่ถึงเวลาต้องฉีดเข็ม 4 ใช่หรือไม่ นพ.วิชาญ กล่าวว่า ใช่ โดยเข็ม 4 จะมีคณะกรรมการฯ พิจารณาในเดือน ม.ค.2565 ว่าจะทำอย่างไร ซึ่งจะมีการพิจารณาวัคซีนเด็กด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีบางคนยอมเสียค่าใช้จ่ายในรพ.เอกชน เพื่อตรวจภูมิคุ้มกัน เมื่อทราบว่าภูมิฯไม่มากก็ไปฉีดกระตุ้นเข็ม 3 บางคนกระตุ้นเข็ม 4 เอง จะมีข้อแนะนำอย่างไร นพ.วิชาญ กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า วิธีการตรวจภูมิคุ้มกันมีหลายวิธี บางวิธีตรวจแค่เบื้องต้น ซึ่งคนอาจไม่เข้าใจ และเมื่อพบว่าภูมิฯขึ้นก็สบายใจ แต่จริงๆ ไม่ได้จำเป็น ขอให้ดูจากข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญคอยติดตามเรื่องนี้อยู่ว่า ควรฉีดกระตุ้นเมื่อไหร่อย่างไรจะดีที่สุด