เช็คด่วน!“กลุ่มพิเศษ”ฉีดวัคซีนโควิด“เข็มเสริม”ต่าง-เร็วกว่าเข็มกระตุ้น
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ออกคำแนะนำ “กลุ่มพิเศษ”ต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 “เข็มเสริม”เร็วกว่าเข็มกระตุ้น พร้อมแนวทางการฉีดไม่เหมือนคนทั่วไป เหตุประสิทธิผลหลังฉีดครบโดสน้อยกว่าในคนปกติ
เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2564 สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกับองค์การอนามัยโลก จัดเสวนาออนไลน์ “เปิดข้อมูล (ไม่) ลับ กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ” ตอน เผยทุกข้อมูลเรื่องวัคซีนโควิด-19 “รับมืออย่างไรเมื่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่มาเยือน” นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ระดับทรงคุณวุฒิ และรองผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กล่าวประเด็นความจำเป็นของการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19ในกลุ่มเปราะบางว่า กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคและหญิงตั้งครรภ์
ส่วนกลุ่มที่มี ภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ได้แก่ ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะต่างๆ ผู้ป่วยเอชไอวีที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ผู้มีโรคร่วมหลายโรค และผู้ป่วยกลุ่มโรคภูมิแพ้ตนเอง(SLE) ซึ่งข้อจำกัดในการสร้างภูมิคุ้มกัน คือ ผู้ป่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้น้อยกว่าคนปกติและผู้ป่วยบางกลุ่มได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ทำให้ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างเต็มที่
“ข้อกังวลของการฉีดวัคซีนในกลุ่มภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ คือ ประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ภายหลังการฉีดครบโดสน้อยกว่าในคนปกติ และมีการศึกษาการให้วัคซีนเสริม(Additional dose) ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หลายการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยมีการสร้างภูมิคุ้มกันโรคดีขึ้น ซึ่งต่างจากการให้เข็มกระตุ้นหรือบูสเตอร์โดสในคนทั่วไป โดยเข็มเสริมจะเป็นเข็ม 3 ที่เร็วขึ้น จาก 3-6เดือนอาจจะเป็น 1 เดือน จะทำให้ภูมิต้านทานดีขึ้นกว่าที่จะรอเข็มกระตุ้นเหมือนปกติ”นพ.วีรวัฒน์กล่าว
กลุ่มผู้ป่วยที่ควรได้รับวัคซีนเข็มเสริม
คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก การฉีดวัคซีนของกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2564 เป็นกลุ่มผู้ป่วยมะเร็ฌงที่โรคอยู่ในระยะแอคทีฟหรือภายใน 12 เดือนหลังจบการรักษา กลุ่มผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะในช่วง 2 ปีแรกหรือกำลังได้ยากดภูมิ กลุ่มผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำรุนแรง เช่น ได้รับยากดภูมิหรือสเตียรอยด์ รวมถึง ผู้ที่รับการล้างไตต่อเนื่อง และผู้ป่วยเอดส์ที่ปริมาณเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร(ลบ.มม.) และยังไม่ได้รับยาต้านไวรัส
คำแนะนำคือควรให้วัคซีนเข็มเสริมในระยะเวลาอย่างน้อย 1-3 เดือนหลังจากได่รับชุดแรก หากผ่านไปนานกว่า 3 เดือนนับจากการฉีดวัคซีนครั้งสุดท้ายควรให้เข็มเสริมโดยเร็ว ,บุคคลที่ได้รับหรือมีกำหนดเวลารับการบำบัดด้วยภูมิคุ้มกัน ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับวัคซีนเข็มเสริมอาจแตกต่างกันไป ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษา และการให้วัคซีนเข็มเสริมชนิดเดียวกับชุดแรกเป็นแนวทางมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม อาจพิจารณาการให้ วัคซีนเข็มเสริมต่างชนิดกับชุดแรกโดยพิจารณาจากวัคซีนที่สามารถจัดหาได้
แนวทางการฉีดวัคซีนเข็มเสริมในไทย
คำแนะนำของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยที่ออกมาเมื่อเร็วๆนี้ ในการให้วัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 3 ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ได้แก่ ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ป่วยโรคข้ออักเสบหรือแพ้ภูมิตนเองที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน โดยที่ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมีความเสี่ยงต่อการเกิดโควิด-19ที่รุนแรงและเสียชีวิต รวมทั้ง มีการตอบสนองต่อวัคซีนโควิด-19ได้ไม่ดี แม้จะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำที่ได้รับวัคซีนสูตรต่างๆ ครบ 2 เข็มแล้ว ควรพิจารณาให้วัคซีนชนิดmRNAในขนาดปกติเพิ่มเติม
แนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มเปราะบางของประเทศไทย ประกอบด้วย
1.ชนิดวัคซีนที่ได้รับมาแล้ว ซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม 2 เข็ม สูตรแนะนำ วัคซีน mRNA จำนวน 3 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน โดยเริ่มหลังได้รับวัคซีนเข็มสุดท้าย 1 เดือน
2.ชนิดวัคซีนที่ได้รับมาแล้ว แอสตร้าเซนเนก้า,ไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา 2 เข็ม สูตรแนะนำ วัคซีน mRNA จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน โดยเริ่มหลังได้รับวัคซีนเข็มสุดท้าย 1 เดือน
3.สูตรไขว้
-ชนิดวัคซีนที่ได้รับมาแล้ว ซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม 1 เข็ม ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม
- ซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม 1 เข็ม ตามด้วยmRNA 1 เข็ม
- แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็มตามด้วยmRNA 1 เข็ม
สูตรแนะนำ วัคซีน mRNA จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน โดยเริ่มหลังได้รับวัคซีนเข็มสุดท้าย 1 เดือน
ส่วนผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและเคยเป็นโควิด-19 ข้อพิจารณาให้วัคซีนชนิดmRNA
1.ลักษณะกลุ่มผู้ป่วย เป็นโควิด-19หลังการได้รับวัคซีนซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม 2 เข็ม คำแนะนำ วัคซีน mRNA จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน โดยเริ่มหลังการติดเชื้อ 1 เดือน
2.ลักษณะกลุ่มผู้ป่วย เป็นโควิด-19หลังการได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า,ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ครบ 2 เข็มแล้ว แนะนำให้ได้รับวัคซีนmRNA1เข็ม โดยฉีดหลังการติดเชื้อ 1 เดือน
3.ลักษณะกลุ่มผู้ป่วย เป็นโควิด-19หลังการได้รับวัคซีนสูตรไขว้ ได้แก่ ซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม 1 เข็ม ตามด้วย แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม หรือ ซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม 1 เข็ม ตามด้วยmRNA 1 เข็ม หรือ แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ตามด้วยmRNA 1 เข็ม แนะนำให้ได้รับวัคซีนmRNA 1 เข็มโดยฉีดหลังการติดเชื้อ 1 เดือน
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เข้าข่ายสามารถสอบถามรายละเอียดจากแพทย์ผู้ให้การรักษาในการรับวัคซีนโควิด-19ได้ เนื่องจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ได้ประสานกรมควบคุมโรคในการจัดสรรวัคซีนให้เฉพาะกลุ่มนี้แล้ว