ต่อยอด "โนรา" สร้างงาน แหล่งเรียนรู้ สู่การท่องเที่ยวชุมชน
กระทรวงวัฒนธรรม ฉลอง "โนรา" มรดกภูมิปัญญาของแผ่นดิน หลัง "UNESCO" ประกาศขึ้นทะเบียนโนรา ให้เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ดันต่อยอด สร้างงาน สร้างรายได้ ท่องเที่ยวชุมชน ตอบโจทย์ BCG Model
วันที่ 16 ธันวาคม 2564 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานจัดงาน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเอกสารนำเสนอโนราขึ้นบัญชีเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) และนับเป็นความยินดีและภาคภูมิใจร่วมกันอีกวาระหนึ่งของคนไทยทุกคน ที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโนรา ศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่สืบทอดกันมานาน และนิยมอย่างแพร่หลายในพื้นที่ "ภาคใต้" ของประเทศไทย ให้เป็นรายการตัวแทน มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลตามภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ.2003 ของ UNESCO ครั้งที่ 16 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
โดยเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้มีมติเห็นชอบให้ขึ้นทะเบียน “โนรา” (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List) ตามที่ประเทศไทยเสนอ
มติดังกล่าวมีขึ้นในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 16 (Sixteenth session of the Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 18 ธันวาคม 2564 ในรูปแบบออนไลน์ จากสำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ พิจารณาขึ้นทะเบียนโนรา เนื่องจากมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ทั้ง 5 ข้อของการขึ้นทะเบียนประเภท Representative List ได้แก่
- 5 หลักเกณฑ์
1. มรดกนั้นสอดคล้องกับลักษณะของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตามที่นิยามไว้ในอนุสัญญา มาตรา 2
2. มรดกนั้นเมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว จะส่งเสริมความประจักษ์และตระหนักรู้ถึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การสะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในระดับโลก และแสดงถึงความสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ
3. มาตรการสงวนรักษานั้น ได้พิจารณากันมาอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อการปกป้องและส่งเสริมมรดกนั้น
4. มรดกที่จะเสนอนั้น เกิดจากชุมชน กลุ่มบุคคล หรือปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง
มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พร้อมกับได้รับความเห็นชอบซึ่งมาจากความรับรู้เข้าใจอย่างเป็นอิสระเสียก่อน
5. มรดกนั้นปรากฏและดำรงอยู่ในดินแดนของรัฐภาคีที่นำเสนอ โดยบรรจุอยู่แล้วในบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของรัฐภาคีนั้น ตามที่นิยามไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ มาตรา 11 และ 12
- ความโดดเด่นของ "โนรา"
ทั้งนี้ โนรามีคุณค่าและความสำคัญในฐานะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นทางด้านศิลปะการแสดงที่มีพัฒนาการสืบทอดมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่
18-19 และมีลักษณะสอดคล้องตามหลักเกณฑ์ของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (2003 Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ถึง 4 สาขา คือ
1) มุขปาฐะ
2) ศิลปะการแสดง
3) การปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล
4) งานช่างฝีมือดั้งเดิม
โนรา เป็นศิลปะการแสดงซึ่งเป็นที่นิยมในพื้นที่ภาคใต้มาช้านาน มีรากฐานมาจากความเชื่อและพิธีกรรมของชุมชนที่ให้ความเคารพบูชาต่อบรรพบุรุษ มีการร่ายรำที่ทรงพลังงดงาม ควบคู่ไปกับการขับบทร้องเป็นภาษาถิ่นใต้ที่ต้องอาศัยปฏิภาณไหวพริบในการโต้ตอบ โดยมีดนตรีประกอบจังหวะที่ให้ทำนองเร้าใจ เรื่องราวที่แสดงนำมาจากนิทาน ตำนาน และวรรณกรรมพื้นบ้าน ส่วนเครื่องแต่งกายสะท้อนให้เห็นถึงงานช่างฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
ปัจจุบันมีคณะโนราอาชีพในประเทศไทย จำนวน 387 คณะ โดย 70% กระจุกตัวอยู่มากบริเวณรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีการสืบทอดศิลปะทั้งด้านการแสดง ช่างฝีมือ ดนตรี และพิธีกรรม จากรุ่นสู่รุ่นผ่านสายตระกูลโนรา ชุมชน วัด และเข้าสู่หลักสูตรการเรียน
การสอนในสถาบันการศึกษาทุกระดับทั่วภาคใต้
- ความบันเทิงจากรากฐานความศรัทธา
โนรา เป็นทั้งพิธีกรรมและศิลปะการแสดงเพื่อความบันเทิง ที่มีรากฐานมาจากศรัทธาความเชื่อของชุมชน มีการถือปฏิบัติสืบทอดอย่างยาวนาน มีความสำคัญทางวัฒนธรรมและสังคมอย่างลึกซึ้ง ผู้ถือครองและผู้ปฏิบัติโนราได้ส่งต่อศรัทธาความรู้ที่ได้รับจากบรรพบุรุษ เพื่อสืบทอดจริยธรรมแนวทางปฏิบัติตนเพื่อสร้างความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
เชื่อมโยงจารีตทางวัฒนธรรมผ่านศิลปะการแสดงที่มีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นภาคใต้ เป็น “มหรสพการแสดงที่งดงาม ทรงพลัง และมีชีวิตชีวา” เป็น “นาฏยลักษณ์ของคนใต้”
การแสดงประกอบไปด้วยการร่ายรำที่แข็งแรง กระฉับกระเฉง การขับกลอนด้วยท่วงทำนองที่ไพเราะ ใช้ปฏิภาณในการด้นกลอนสด และเจรจาด้วยสำเนียงท้องถิ่นใต้ มีลูกคู่และดนตรีร้องรับด้วยจังหวะที่คึกคักฉับไว
การได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโก ถือเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ และเป็นการพัฒนาการส่งเสริมรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของไทยให้เข้มแข็ง นอกจากนี้ ยังทำให้คนในชาติเกิดจิตสำนึกความเป็นเจ้าของร่วมกันและยอมรับในความหลากหลายทางวัฒนธรรม จุดประกายให้เกิดความสนใจในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กระตุ้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสงวนรักษา อันจะนำไปสู่ความสามัคคีของคนในสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน
- ถ่ายทอด โนรา สู่เยาวชนกว่า 7,000 คน
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมและดำเนินงานปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินโนราในฐานะศิลปินแห่งชาติ และสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง สหพันธ์สมาคมโนราแห่งประเทศไทย ขึ้น เพื่อดำเนินโครงการถ่ายทอดการแสดงพื้นบ้านโนราให้แก่เยาวชน พร้อมทั้ง สนับสนุนทุนการศึกษาวิจัย และจัดให้มีเวทีการแสดงโนราในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ นับตั้งแต่ปี 2559 - 2562 ฝึกฝนเยาวชนไปแล้วกว่า 7,000 คน
นอกจากนี้ ยังกำหนดจัดกิจกรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์คุณค่าความสำคัญของโนรา ในฐานะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนหลายหน่วยงาน เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ภาคภูมิใจและตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของโนราในลำดับต่อไป
- ต่อยอดท่องเที่ยวชุมชน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า โนรา ถือเป็นรายการที่ 3 ต่อจากนวดไทย และ โขน ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมฯ ของไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน เนื่องด้วยเอกลักษณ์โดดเด่น ทั้งในเรื่องของการแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณและบรรพบุรุษ ตลอดจนท้วงท่าร่ายรำ แสดงถึงความสมดุล แข็งแกร่ง และอ่อนช้อย
ภารกิจหลังจากนี้ ในส่วนของภาครัฐ โดยกระทรวงวัฒนธรรม จะดำเนินการด้านเครือข่ายในการส่งเสริมการเรียนรู้ในทุกจังหวัด ในกิจกรรม ต่อยอด โดยเฉพาะจากวิสัยทัศน์ร่วมกระทรวงวัฒนธรรมที่ได้แถลงไป ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคม คือ นำวัฒนธรรม สู่เศรษฐกิจสังคม นำกระทรวงวัฒนธรรม สู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ ฉะนั้น โนรา ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จาก ยูเนสโก สามารถดำเนินการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างแรงดึงดูดในการเดินทางท่องเที่ยวชุมชน ใน BCG Model ของรัฐบาล
ขณะเดียวกัน ในปีหน้าไทยจะเป็นเจ้าภาพในการประชุมเขตเศรษฐกิจเอเปค จะมีเรื่องของโมเดล BCG ในการเสนอวาระการประชุม ดังนั้น พื้นที่ในภาคใต้โดยเฉพาะที่มีโนราอยู่ รอบๆ ทะเลสาบสงขลา หรือในสถาบันการศึกษา หรือสถาบันต่างๆ จะเป็นแหล่งเรียนรู้ กิจกรรมดึงดูดการท่องเที่ยว สร้างงาน สร้างรายได้ต่อไป
นอกเหนือจากกิจกรรมที่ขยายต่อยอดแล้ว ยังมีเรื่องของการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ บุคคล สถาบัน ศิลปินขึ้นมาตามลำดับ อย่างที่ได้มีการยกย่องครูโนราหลายท่านเป็นศิลปินแห่งชาติไปแล้ว รวมถึงในเรื่องของการมอบรางวัลให้กับผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่หน่วยงาน โดยเฉพาะเรื่องของโนรา เพื่อเป็นกำลังใจ แบบอย่างที่ดีต่อรุ่นหลังสืบต่อไป
- ดัน สงกรานต์ ต้มยำกุ้ง ขึ้นทะเบียน
หลังจากนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการในลำดับถัดไป ในการเสนอขึ้นทะเบียน วัฒนธรรม ประเพณี คือ "สงกรานต์" และ ที่คณะรัฐมนตรีได้มีการเห็นชอบไปแล้ว คือ "ต้มยำกุ้ง" จะเป็นการดำเนินการในลำดับต่อไป
เป็นจุดเน้นย้ำว่า ไทย ได้รับการจัดอันดับ ประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรมเป็นอันดับ 7 ของโลก อันดับ 1 ในอาเซียน และ อันดับ 5 ในเอเชีย เราจะนำทุนทางวัฒนธรรมต่อยอดเศรษฐกิจได้ ตามที่ตั้งใจไว้ และจะเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ในการสงวน รักษา ต่อยอด ศาสตร์ดีๆ ที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ และพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืน