สธ.เตรียมเสนอ "ปลดหน้ากากอนามัย"COVID Safe Area
ปลัด สธ. เตรียมเสนอ COVID Safe Area ต่อรัฐบาล ผ่อนปรนการสวมหน้ากากอนามัยภายใต้มาตรการความปลอดภัยที่กำหนด ในสวนสาธารณะ/ชายหาด เป็นของขวัญประชาชน
วันนี้ (17 ธันวาคม 2564) ที่ โรงพยาบาลชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข และเปิดหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลชัยภูมิ และกล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้นอกจากเป็นการเยี่ยมให้กำลังใจบุคลากร
ทางการแพทย์แล้ว ยังได้ติดตามการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ด้วย
ซึ่งแม้จังหวัดชัยภูมิจะมีผู้ติดเชื้อไม่มาก ระลอกเดือนเมษายน ถึง 17 ธันวาคม 2564 มีผู้ป่วยสะสม 12,374 ราย สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ แต่ได้ขอให้เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ปัจจุบันฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 608,748 ราย คิดเป็นความครอบคลุม ร้อยละ 53.64 ของประชากร มีการจัดบริการเชิงรุกในพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งให้ความสำคัญกับมาตรการ COVID Free Setting เพื่อให้ดำเนินการกิจการกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของพื้นที่และของประเทศให้กลับมาใกล้เคียงปกติโดยเร็วที่สุด
“กระทรวงสาธารณสุขเตรียมเสนอเรื่อง COVID Safe Area ให้รัฐบาลพิจารณาอนุญาตให้มีการผ่อนปรนการสวมหน้ากากอนามัยในบางพื้นที่ เช่น สวนสาธารณะหรือชายหาด เมื่อสถานการณ์ในภาพรวมของประเทศสามารถควบคุมได้ดี การฉีดวัคซีนมีความครอบคลุม โดยต้องมีข้อกำหนดในการปฏิบัติเพิ่มเติม เช่น การรักษาระยะห่าง ห้ามขายอาหาร และการลดความแออัด เพื่อเป็นของขวัญให้ประชาชนได้รู้สึกถึงการใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติและผ่อนคลายมากขึ้น” นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าว
สำหรับการพัฒนาระบบบริการด้านสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายผลักดันให้โรงพยาบาล ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขในแต่ละเขตสุขภาพ จัดตั้งหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดขึ้น เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชและการใช้ยาเสพติด ซึ่งจะส่งผลดีกว่าการส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชโดยตรงและ
มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน ทั้งยังช่วยให้โรงพยาบาลจิตเวชได้ดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่มีปัญหาแทรกซ้อนได้อย่างเต็มที่ โดยหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดแห่งใหม่ของโรงพยาบาลชัยภูมิ
มีการปรับภาพลักษณ์การบริการให้มีความทันสมัย และปรับภูมิทัศน์โดยรอบหอผู้ป่วยให้สวยงาม ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของผู้รับบริการ รวมถึงมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลภายในจังหวัดอย่างไร้รอยต่อ รองรับผู้ป่วยได้ทั้งสิ้น 30 เตียง เป็นอีกหนึ่งการพัฒนาระบบบริการที่ช่วยให้ผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชนสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น สามารถกลับมาใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข