เรื่องเล่าจาก “โนรา” จุดเชื่อมวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน
"โนรา" ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของทางภาคใต้ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จาก "UNESCO" แม้ปัจจุบัน โนรา จะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามยุคสมัย แต่ยังคงความงดงามและการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
หลังจากที่ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “โนรา” ศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่สืบทอดกันมานาน และนิยมอย่างแพร่หลายในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ให้เป็นรายการตัวแทน มรดกวัฒนธรรม ที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เป็นอันดับที่ 3 รองจาก โขน (ปี 2561) และ นวดไทย (ปี 2562)
“โนรา” นับเป็นศิลปะวัฒนธรรมที่มีคุณค่าและความสำคัญในฐานะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นทางด้านศิลปะการแสดงที่มีพัฒนาการสืบทอดมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18-19 และมีลักษณะสอดคล้องตามหลักเกณฑ์ของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (2003 Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ถึง 4 สาขา คือ
1) มุขปาฐะ
2) ศิลปะการแสดง
3) การปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล
4) งานช่างฝีมือดั้งเดิม
ปัจจุบันมีคณะโนราอาชีพในประเทศไทย จำนวน 387 คณะ โดย 70% กระจุกตัวอยู่มากบริเวณรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีการสืบทอดศิลปะทั้งด้านการแสดง ช่างฝีมือ ดนตรี และพิธีกรรม จากรุ่นสู่รุ่นผ่านสายตระกูลโนรา ชุมชน วัด และเข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาทุกระดับทั่วภาคใต้
- ทำความรู้จัก “โนรา” หรือ “มโนราห์”
โนรา หรือ มโนราห์ เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่สืบทอดกันมานานและนิยมอย่างแพร่หลายในพื้นที่ ภาคใต้ เป็นการแสดงที่มีแบบแผนการร่ายรำ การขับร้องที่งดงามเป็นเอกลักษณ์ มีดนตรีเป็นลูกคู่เล่นรับ-ส่งตลอดการแสดง ผู้รำโนราสวมเครื่องแต่งกายที่ทำด้วยลูกปัดหลากสี สวมปีกหางคล้ายนก เทริดทรงสูง ต่อเล็บยาวทำด้วยโลหะ การแสดงบางส่วนเล่นเป็นเรื่อง และบางส่วนแสดงตามคติความเชื่อที่เป็นพิธีกรรม
ผู้คนรู้จักโนราในฐานะที่เป็น “มหรสพการแสดงที่งดงาม ทรงพลัง และมีชีวิตชีวา” เป็น “นาฏยลักษณ์ของคนใต้” การแสดงประกอบไปด้วยการร่ายรำที่แข็งแรง กระฉับกระเฉง การขับกลอนด้วยท่วงทำนองที่ไพเราะ ใช้ปฏิภาณในการด้นกลอนสด และเจรจาด้วยสำเนียงท้องถิ่นใต้ มีลูกคู่และดนตรีร้องรับด้วยจังหวะที่คึกคักฉับไว
ก่อนที่โนราจะพัฒนามามีบทบาทเพื่อสร้างความบันเทิงแก่ชุมชน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการแสดงสำหรับประกอบพิธีกรรมสำคัญ ๆ มาก่อน เช่น พิธีกรรมของกษัตริย์หรือเจ้าเมือง และชนชั้นสูงในแต่ละท้องถิ่น ดังจะเห็นได้จากเครื่องแต่งกายของโนราที่มีลักษณะคล้ายของกษัตริย์ นอกจากนี้พิธีกรรมและคตินิยมหลายอย่างที่โนรายึดถือทำให้คะเนได้ว่าโนราน่าจะพัฒนามาจากการแสดงในพิธีสำคัญหรือพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์มาก่อน
- ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับโนรา
“โนรา” นอกจากจะมีบทบาทหน้าที่ด้านความบันเทิงแล้ว ยังมีบทบาทหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรม ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการดำรงอยู่และวิถีผูกพันอย่างลึกซึ้งกับชีวิตและสังคมชาวภาคใต้ โดยเฉพาะชุมชนบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา ซึ่งมีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมอย่างเข้มข้น และส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้เป็นโนราผู้มีเชื้อสายโนรา ลูกหลานตายายโนรา คนทรงครูหมอโนรา รวมทั้งชาวบ้านโดยทั่วไป
- ความเชื่อเรื่องครูหมอโนรา
“ครูหมอโนรา” คือ บูรพาจารย์หรือครูต้นโนรา และบรรพบุรุษโนราที่ล่วงลับไปแล้ว บางแห่งเรียกว่า “ตายายโนรา” หรือ “ครูหมอตายาย” ครูหมอโนรามีหลายองค์ดังปรากฏในตำนานโนรา บทกาศครู และบทร้องกลอนของโนรา เช่น ตาหลวงคง จอมเฒ่าหน้าทอง แม่ศรีมาลา พระเทพสิงหร เป็นต้น แต่มีครูหมอโนราที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นบุคคลสำคัญที่เรียกว่า “พระราชครู” มี 12 องค์ แบ่งเป็นฝ่ายชาย 6 องค์ ฝ่ายหญิง 6 องค์ ได้แก่ พระเทพสิงหร ขุนศรีศรัทธา พระม่วงทอง หม่อมรอง พะยาสายฟ้าฟาด พรานบุญ แม่ศรีมาลา แม่นวลทองสำลี แม่แขนอ่อนฝ่ายขวา แม่แขนอ่อนฝ่ายซ้าย แม่ศรีดอกไม้ แม่คิ้วเหิน
- ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์
ไสยศาสตร์ที่เกี่ยวกับโนรา ได้แก่ ความเชื่อเกี่ยวกับโชคลาง ความเชื่อเกี่ยวกับเวทมนตร์คาถา โดยเฉพาะการรำโนราโรงครู ผู้ที่เป็นโนราใหญ่หรือหัวหน้าคณะจะต้องมีเวทมนตร์คาถาเพื่อป้องกันเสียดจัญไร ป้องกันวิญญาณร้ายที่จะเข้ามาในพิธีโนราโรงครู ป้องกันคุณไสยที่จะได้รับจากบุคคลอื่น การประกอบพิธีกรรมบางอย่างในโนราโรงครูจะต้องใช้เวทมนตร์คาถาประกอบ เช่น พิธีครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่ พิธีผูกผ้าปล่อย พิธีแก้บน พิธีเหยียบเสน พิธีตัดจุก พิธีตัดผมผีช่อ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเชื่อในเรื่องอำนาจเร้นลับของโนรา ความเชื่อเรื่องโรงพิธี ความเชื่อในเรื่องเครื่องดนตรีว่ามีความขลังศักดิ์สิทธิ์มีครูรักษาจะลบหลู่หรือข้ามกรายไม่ได้ เป็นต้น
- ความเชื่อเรื่องการแก้บน
ชาวบ้านและคณะโนรามีความเชื่อในเรื่องการบนและการแบนที่เกี่ยวข้องกับโนรา โดยเชื่อว่าสามารถ บนบานขอความช่วยเหลือจากครูหมอโนราในเรื่องต่าง ๆ ได้ แต่ครูหมอโนราจะไม่รับช่วยเหลือหรือรับบนในเรื่องที่ผิดศีลธรรมจารีตประเพณี เช่น เรื่องชู้สาว การลักขโมย การมุ่งร้ายต่อผู้อื่น เป็นต้น
ความเชื่อเรื่องการบนและการแก้บนเป็นความเชื่อที่มีผลกระทบโดยตรงต่อชาวบ้านและลูกหลานตายายโนราทั้งทางร่างกายและจิตใจ ชาวบ้านและลูกหลานตายายโนราหลายคนต้องตั้งหิ้งบูชาครูหมอโนรา ต้องมีการบวงสรวงเซ่นไหว้ ต้องจัดให้มีการรำโนราโรงครู มีการสืบทอดการรำโนรา เป็นคนทรงครูหมอโนรา ในทางกลับกันชาวบ้านและลูกหลานตายายโนราเชื่อว่าตนเองได้รับความคุ้มครอง และความช่วยเหลือจากครูหมอโนราในสิ่งที่บนบานของความช่วยเหลือ จึงทำให้ความเชื่อเรื่องครูหมอโนรา การรำโนราโรงครู และศิลปะการร่ายรำโนรายังคงอยู่ในชุมชนบริเวณลุ่มทะเลสายสงขลาและพื้นที่อื่น ๆ ในภาคใต้จนถึงปัจจุบัน
- ความเชื่อเรื่องการเหยียบเสน
เสนเป็นเนื้องอกนูนจากระดับผิวหนังเป็นแผ่น ถ้ามีสีแดง เรียก “เสนทอง” ถ้ามีสีดำเรียก “เสนดำ” ไม่ทำให้เจ็บปวดหรือมีอันตราย แต่ถ้างอกบนบางส่วนของร่างกาย เช่น บนใบหน้าจะดูน่าเกลียด ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่าเสนเกิดจากการกระทำของผีที่เรียกว่า “ผีโอกะแชง” ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่เฝ้าเสาโรงโนรา และส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำเครื่องหมายของครูหมอโนราเพื่อต้องการเอาเด็กคนนั้นเป็นโนราโดยผ่านทางผีโอกะแชง เสนไม่สามารถรักษาให้หายได้นอกจากให้โนราทำพิธีเหยียบเสนให้ในวันโนราเข้าโรงครู
- ความเชื่อเรื่องการรักษาอาการป่วยไข้
ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่าครูหมอโนราและพิธีกรรมในโนราโรงครูสามารถรักษาอาการป่วยไข้บางอย่างได้ ซึ่งอาการป่วยไข้นั้นมาจากสาเหตุ 2 ประการ คือ อาการป่วยไข้อันเกิดจากความผิดปกติของร่างกาย และโรคภัยต่าง ๆ การรักษาเบื้องต้นคือการบนบานขอความช่วยเหลือจากครูหมอโนราที่ตนเคารพนับถือให้หายป่วยจากโรคนั้น ๆ แล้วจะแก้บนเมื่อหายเป็นปกติ
อาการป่วยไข้อีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากการกระทำหรือการลงโทษของครูหมอโนรา ที่มาจากความต้องการของครูหมอโนราที่ต้องการให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือลูกหลานตายายโนราเป็นผู้สืบทอดการรำโนรา เป็นคนทรงครูหมอโนรา โดยเฉพาะผู้มีเชื้อสายโนราหรือเป็นลูกหลานตายายโนรามักจะเกิดอาการป่วยไข้ต่าง ๆ เช่น ปวดท้อง เจ็บหน้าอก ปวดบวม ผอมแห้งแรงน้อย จะต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการของโนราเท่านนั้นจึงจะหาย และผู้ป่วยเมื่อหายแล้วก็จะต้องทำตามความต้องการของครูหมอโนรา
- พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับโนรา
พิธีกรรมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโนรา คือ พิธีกรรมโนราโรงครู ซึ่งเป็นพิธีกรรมในการนับถือผีบรรพบุรุษ ซึ่งยังมีการจัดพิธีกรรมและแนวปฏิบัติรองรับอย่างเข้มข้น ณ หมู่บ้านต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคใต้
โนราโรงครู หมายถึง โนราที่แสดงเพื่อประกอบพิธีเชิญครู หรือบรรพบุรุษโนรามายังโรงพิธีเพื่อรับการเซ่นสังเวย เพื่อรับของแก้บนและเพื่อครอบเทริด หรือผูกผ้าแก่ผู้แสดงโนรารุ่นใหม่ ด้วยเหตุที่ต้องทำการเชิญครูมาเข้าทรงหรือมา “ลง” ยังโรงพิธีจึงเรียกพิธีกรรมนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “โนราลงครู”
โนราโรงครู เป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อ มีความมุ่งหมายในการจัดที่สำคัญ 3 ประการ คือ (1) เพื่อไหว้ครูหรือไหว้ตายายโนรา อันเป็นการแสดงกตเวทิตาคุณต่อครูของตน (2) เพื่อทำพิธีแก้บนและทำพิธีอื่น ๆ และ (3) เพื่อทำพิธีครอบเทริด หรือ พิธีผูกผ้าใหญ่ หรือพิธีแต่งพอก นอกจากนั้นบางพื้นที่ยังมีความมุ่งหมายเฉพาะบางอย่างด้วย เช่น โรงราโรงครูใหญ่วัดท่าแค ตำบลท่าแค อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง เป็นการจัดเพื่อให้ครูหมอโนราหรือตายายดนราทั้งหมดมาร่วมชุมนุมกัน เพราะชาวบ้านเชื่อว่าบ้านท่าแคเป็นแหล่งกำเนิดโนรา เป็นที่สถิตของครูโนรา
โนราโรงครูมี 2 ชนิด คือ โนราโรงครูใหญ่ กับ โนราโรงครูเล็ก แต่รายละเอียดของพิธีกรรมบางอย่าง เช่น รำคล้องหงส์ รำแทงเข้ (จระเข้) ครอบเทริด จะทำกันในโนราโรงครูใหญ่เท่านั้น นอกจากนี้โนราโรงครูในแต่ละพื้นที่อาจจะมีความแตกต่างกันบ้างขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าภาพและผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ สำหรับโนราโรงครูใหญ่จะต้องกระทำกัน 3 วัน
- เรื่องเล่าจาก ครูโนรา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ อาจารย์อาจารย์สาขาวิชาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ อายุ 62 ปี ในฐานะศิลปินพื้นบ้านผู้เชี่ยวชาญศาสตร์โนรา เล่าว่า โนรามาจากความเชื่อ ตำนานสร้างกระบวนการรำต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีความเชื่อว่าเกิดจากเทวดามาร่ายรำให้ดู เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนไม่ลบหลู่ เพราะเทวดา สิ่งศักดิ์เป็นคนเนรมิต เป็นการถ่ายทอดจากเทวดา และครูโนราถ่ายทอดมายังศิษย์ เป็นความเชื่อแฝงอยู่ และในปัจจุบัน ครูโนราได้ถ่ายทอดมาสู่ศิลปินแต่ละคนจนถึงปัจจุบัน
ส่วนตัวของอาจารย์ธรรมนิตย์ ซึ่งปัจจุบันสอนที่มหาวิทยาลัยทักษิณ และสอนโนราให้แก่เยาวชนตั้งแต่ประถม มัธยม อุดมศึกษา ต่างชาติ และประชาชนทั่วไปที่ต้องการเรียนรู้ตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นมา โดยศาสตร์โนราที่ได้รับการสืบทอด มาจากสาย “ท่านขุนอุปถัมภ์นรากร” ซึ่งเป็นศิลปินโนราที่มีชื่อเสียงในจังหวัดพัทลุง และภาคใต้ โดยท่านได้รับเชิญมาสอนที่จังหวัดสงขลาและมีโอกาสได้ถ่ายทอดให้อาจารย์สาโรช นาคะวิโรจน์ ซึ่งเป็นอาจารย์ของตน ดังนั้น กระบวนท่าในการร่ายรำ จึงจะได้แบบฉบับตามสายท่านขุนอุปถัมภ์นรากร
“ผมเริ่มรำโนรามาตั้งแต่ อายุ 16 ปี ที่สนใจเพราะคุณลุงเป็นคนทรงโนราประจำสายตระกูล และแม่ให้ไปดูบ่อยๆ ทำให้มีความใกล้ชิด บังเอิญว่า อาจารย์สาโรช และ ท่านขุนอุปถัมภ์นรากร มาออกรายการโทรทัศน์ช่อง 10 หาดใหญ่ ทำให้เกิดความชื่นชอบและอยากเรียน จึงตัดสินใจไปเรียนที่วิทยาลัยครูสงขลา และได้เรียนกับอาจารย์สาโรช ซึ่งท่านได้ถ่ายทอดความรู้ ความสามารถด้านโนราให้อย่างสม่ำเสมอ”
“การฝึกตอนแรกยากมาก เพราะเราไม่ค่อยกล้า ต้องขับร้องและรำ แต่พอได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดความมั่นใจ และพัฒนาตัวเอง จนในที่สุดก็ซึมซับโนราในด้านต่างๆ สิ่งที่ทำให้หลงรักโนรา คือ กระบวนการรำ รำแล้วมีความสุข นอกจากนี้ ยังมีการร่วมประกอบพิธีกรรม ที่แสดงออกถึงสามัคคี และ การรวมกลุ่มของเพื่อนๆ เป็นกลุ่มเล็กๆ ได้เรียนรู้ เข้าใจซึ่งกันและกัน สร้างความสัมพันธ์ต่อกัน”
- ความแข็งแรงที่แฝงด้วยความอ่อนช้อย
อาจารย์ธรรมนิตย์ อธิบายต่อไปว่า การรำโนรา มีหลายรูปแบบ ท่าต้องมีความแข็งแรงและแฝงด้วยความอ่อนช้อย ดังนั้น ครูโนราจะมีกระบวนการฝึกหัด ถ่ายทอด ดัดตัว กระดูก การทรงตัวเพื่อให้เกิดความแข็งแรง และในขณะเดียวกันต้องมีความอ่อนช้อย ดังนั้น การฝึกหัดบางคนอาจเจออุปสรรค ความยากลำบากก็จะท้อถอยไป แต่หากอดทนก็จะสามารถอยู่ในศิลปะของโนราได้
“หากอยู่ในครอบครัวของโนรา อายุ 7-8 ปีก็เริ่มรำได้แล้ว แต่ถ้าหากว่าอยู่ในสถาบันการศึกษา น่าจะเริ่มตั้งแต่อายุ 9 ปี จะเป็นช่วงที่เรียนรู้ได้ดี ร่างกายแข็งแรง มีความอดอทน ถอดท่ารำ จังหวะได้ดี ขณะที่ ปัจจุบัน เด็กรุ่นใหม่เริ่มให้ความสนใจโนราเยอะขึ้น เนื่องจากสื่อสำคัญมาก มียูทูบ เฟซบุ๊ก สื่อต่างๆ ที่สามารถเรียนรู้ได้ง่าย ดังนั้น เขาจะเรียนรู้กระบวนการรำ การร้อง เรียนแบบจากสื่อเหล่านี้ นี่คือความเร็ว เยาวชนได้เข้าถึงการเรียนรู้ได้รวดเร็วขึ้น เข้าถึงได้เร็ว ขณะเดียวกัน ก็มีคนที่เก่งพยายามถ่ายทอดให้เด็กๆ ได้รับรู้อีกด้วย"
- ความเปลี่ยนแปลงจากยุคสมัย
จากการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน ทำให้โนราในปัจจุบันและอดีต มีความเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามกาลเวลา แต่ยังคงความสวยงามและถูกสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น อาจารย์ธรรมนิตย์ เล่าว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกต่างจากอดีต อันดับแรก คือ ระยะเวลาและโอกาส ทำให้มีการปรับเปลี่ยนบ้าง สอง องค์ความรู้ที่เกิดขึ้น หากโนราไม่ยึดถือตามจารีตระเบียบ ความรู้ก็จะหายไป
และ สามการเรียนรู้ จากสื่อต่างๆ ความรวดเร็ว ทำให้ท่าโนราอาจจะเปลี่ยนแปลงไป และมีการผสมผสานศิลปะอย่างอื่นบ้าง เพราะฉะนั้น เมื่อสามารถแลกเปลี่ยนกับสื่อต่างๆ ก็ต้องมีบ้างที่อาจจะมีศิลปะอย่างอื่นแฝงไป ทำให้โนราแตกต่างจากอดีต เช่น เครื่องแต่งกาย สมัยก่อน จะมีสีขาว เหลือง แดง ดำ ลูกปัด แต่ตอนนี้จะมีโทนสีแดง ส้ม ชมพู เป็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งอิสระทางศิลปะ ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ขณะที่ท่ารำก็สามารถออกแบบได้ในขณะแสดง ด้นได้ การแต่งกายก็ออกแบบได้ ดนตรีก็ออกแบบจังหวะได้ นี่คือความมีเสน่ห์ทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย
- อยากให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงโนรา
“การที่โนรา ได้รับการรับรองจาก ยูเนสโก รู้สึกดีใจ และภาคภูมิใจที่สามารถทำให้ศิลปะโนรายืนหยัดอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน และคนทั่วโลกสามารถเรียนรู้ศิลปะการแสดงโนราได้เหมือนกับที่เราได้เรียนรู้ ขณะเดียวกัน เป็นการทำให้ศิลปะพื้นบ้านขยายไปสู่สากล และได้รับการยอมรับ ชื่นชอบจากสากลมากขึ้น นับเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ทำให้ศิลปินทุกคนมีโอกาส มีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ นำสิ่งดีดีจากศาสตร์อื่นๆ เข้ามาช่วยสืบสานโนรา และเอาความมีคุณค่าของโนรา ไปแลกเปลี่ยนให้คนอื่นได้เรียนรู้เช่นกัน”
ทั้งนี้ ความคาดหวังโนราในอนาคต อาจารย์ธรรมนิตย์ กล่าวในฐานะครูโนราว่า อันดับแรกอยากให้ทุกคนได้เรียนรู้โนราได้มากขึ้น อยากให้มีวิธีที่ทำให้ โนรา เข้าถึงทุกคนได้ง่าย รวดเร็ว และถ่ายทอดสิ่งที่ดีที่สุดของโนราให้ทุกคนได้รับรู้ไปจนถึงหัวใจของโนรา ดังนั้น ระบบจัดการเรียนรู้ที่ดีก็จะเป็นสิ่งสำคัญ และวิถีชีวิตการปฏิบัติในครอบครัวที่ปฏิบัติสม่ำเสมอ สิ่งเหล่านี้จะทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้ง่าย
- เรื่องเล่าจาก “โนรา” รุ่นใหม่
ด้าน สมชัย สวัสดิรักษ์ หัวหน้าคณะสมชัยดาวรุ่ง จ.สุราษฎร์ธานี หรือ ครูนิว อายุ 26 ปี ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่เริ่มฝึกโนรามาตั้งแต่เด็ก แม้ปัจจุบันครูนิวจะเดินทางมาอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ก็ยังนำศิลปะวัฒนธรรมอันงดงามของโนรา มาถ่ายทอดให้กับเด็กๆ ที่ต้องการเรียน โดยเปิดสอนให้กับผู้ที่สนใจ
“เราเป็นคนพื้นบ้านภาคใต้ เมื่อมาอยู่ในกรุงเทพฯ ก็อยากมีโอกาสเผยแพร่วัฒนธรรมภาคใต้ อยากจะให้คนภาคกลางได้เข้าถึงคำว่า โนรา เพราะไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นคนใต้ที่เข้าถึง แต่ทุกคนสามารถเข้าถึงโนราได้”
ครูนิว เล่าว่า ส่วนตัวได้คลุกคลีอยู่กับความเป็นโนรามาตั้งแต่เด็ก เราจำความได้ ก็เห็นแล้วว่าใส่ลูกปัดแบบนี้เรียกกว่าโนรา เห็นคุณยายชอบพาไปดูจนเรารู้สึกว่าเรารักในศิลปะชิ้นนี้ จึงเริ่มฝึกมาตั้งแต่อนุบาล ตอนแรกเป็นพราน ตัวตลกโนราที่ใส่หน้ากากสีแดง พอ ป.1 ครูเห็นความสามารถ เราก็ฝึกร้องรำมาเรื่อยๆ กระทั่ง จบป.6 จึงเข้าเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ นครศรีธรรมราช หลังจากนั้นจึงมาเรียนปริญญาตรี ด้านนาฏศิลป์ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และปัจจุบัน อยู่ระหว่างการสอบบรรจุรับราชการ และเปิดสอนโนราให้กับเด็กที่สนใจ ซึ่งส่วนใหญ่เด็กที่มาเรียนจะเป็นเด็กในกรุงเทพฯ
"เสน่ห์ของโนรา เป็นอัตลักษณ์ ที่คนเห็นว่าการแต่งตัวแบบนี้ คือ โนรา เป็นความพิเศษ ที่ไม่สามารถอธิบายได้ รู้เพียงแค่ว่าพอเราได้สัมผัส คลุกคลี ทำให้อยากส่งต่อว่าโนราที่มีความพิเศษ มีอะไรมากมายที่น่าค้นหา ไม่ใช่แค่ขึ้นไปรำ 4-5 นาทีแล้วจบ"
- สืบทอดโนรา ให้คงอยู่
สำหรับ "โนรา" ในสมัยก่อน ผู้คนอาจจะเข้าถึงได้ไม่มากนัก แต่พอปัจจุบัน มีสื่อ ตัวอย่าง มีอะไรหลายอย่างที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงโนรา ถือเป็นการเผยแพร่อีกรูปแบบหนึ่ง
“สมัยก่อนเราไม่เคยเห็นวิดีโอ เพียงแค่คุณยายจะพาไปดูตามงานต่างๆ แต่พอยุคหลัง เราคิดถึงเราก็สามารถเปิดอินเทอร์เน็ตหาโนราดูได้ และในอนาคตอยากให้ทุกคนได้รู้จักคำว่าโนรามากขึ้น เพราะจริงๆ แล้วโนราเป็นศิลปะพื้นบ้านของภาคใต้ แต่พอเป็นมรดกโลก ในอนาคตโนราก็น่าจะก้าวไปได้ไกลและทำให้ทั่วโลกรู้จักในความเป็นไทย เพราะโนราเป็นละครที่เก่าแก่ที่สุดของไทย"
"ในฐานะคนรุ่นใหม่ จะขอยืนยันตรงนี้ว่าจะสืบทอดโนราให้อยู่ต่อไป เพราะเรารู้สึกว่ามีค่าสำหรับตัวเรามาก และอยากให้คนอื่นรู้จักโนรา ว่ามีคุณค่า มีคุณสมบัติที่ไม่ใช่แค่ศิลปะการแสดง” ครูนิว กล่าวทิ้งท้าย