ย้อนเส้นทางการศึกษาไทย ปี 64 งบประมาณสูงสุด แต่ผลลัพธ์ไม่เข้าเป้า
อักษร เอ็ดดูเคชั่น พาย้อนเส้นทาง "การศึกษาไทยปี 2564" แม้กระทรวงศึกษาธิการได้งบประมาณสูงสุด แต่ผลลัพธ์ยังไม่เข้าเป้า
นับถอยหลังเหลือแค่ไม่กี่วันพร้อมเข้าสู่ศักราชใหม่ ความคาดหวังจะหลุดพ้นเพื่อเริ่มต้นให้กับความสดใสหลังชีวิตผ่านพ้นไปกับปีที่หนักหนามาพอสมควร ความบอบช้ำจากโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของภาคการศึกษา ทิ้งไว้ทั้งปัญหาและโอกาส หากมองดูแล้วก็ยังไม่มีใครสามารถฟันธงได้ว่าสถานการณ์นี้จะจบลงเมื่อไหร่ งานนี้ภาคการศึกษาไทยจะเป็นอย่างไร อักษร เอ็ดดูเคชั่น ผู้ผลิตและออกแบบนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ ขอพาย้อนไปดูเส้นทางการศึกษาตลอดปีที่ผ่านมากัน
- ภาพรวมสถานการณ์การศึกษาไทย
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกับ สถานบันการมองอนาคตนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) แจงถึงตัวเลขสถิติทางด้านการศึกษาหลายประเด็นที่น่าสนใจ
ตั้งแต่การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลให้กับกระทรวงศึกษาธิการสูงสุดในรอบ 22 ปี คิดเป็นร้อยละ 11.5 – 25.7 ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด สวนทางกับผลคะแนนจากโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล หรือ PISA ในปี พ.ศ. 2561 ที่นักเรียนไทยของเรายังทำได้ไม่ดีนัก
โดยมีคะแนนด้านการอ่าน ด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์อยู่ในลำดับที่ 68, 59 และ 55 ตามลำดับจาก 79 ประเทศที่เข้าร่วมการประเมิน
นั่นก็อาจแปลความได้ว่ารัฐบาลตระหนัก และให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับระบบการศึกษาไทยที่มีความท้าทายในหลายประเด็น ตั้งแต่เรื่องของความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาและแหล่งความรู้ที่มีคุณภาพ จำนวนนักเรียนที่ลดลง ค่านิยมต่อการศึกษา รวมไปถึงหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะแห่งอนาคตที่ยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตนเองและตลาดแรงงาน สิ่งเหล่านี้สร้างทั้งความกดดันและเกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ในแวดวงการศึกษาทั้งรูปแบบและแหล่งการเรียนรู้
แม้คนไทยจะหันมาใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น แต่จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2563 ชี้ให้เห็นว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเข้าถึงความบันเทิงและการสื่อสารทางไกลเป็นหลัก มีเพียงร้อยละ 31.6 ที่ใช้เพื่อการติดตามข่าวสารความรู้ และร้อยละ 7.4 ใช้เพื่อการเรียนผ่านออนไลน์
นอกจากนั้นยังเกิดกระแสจากบริษัทยักษ์ใหญ่ชื่อดังข้ามชาติหลายแห่งอย่าง Google Apple Amazon ที่ประกาศนโยบายการรับสมัครคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงานโดยมุ่งพิจารณาจากทักษะและประสบการณ์การทำงานมากกว่าการใช้วุฒิการศึกษา หรือใบปริญญาบัตร เกิดสัญญาณการเปลี่ยนแปลงและความตื่นตัวในการตั้งคำถามถึงความสำคัญและคุณค่าของวุฒิการศึกษารวมไปถึงชื่อเสียงของสถาบันการศึกษาด้วย
ทั้งหมดนี้ สร้างกระบวนการการเรียนรู้และสื่อในรูปแบบใหม่ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ขยายขีดความสามารถให้กับทั้งผู้เรียนและผู้สอน ส่งเสริมการ Upskill และ Reskill รวมไปถึงการเรียนรู้ที่ตรงกับความสนใจและความสามารถของผู้เรียนจนเกิดเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- ปรับรูปแบบการเรียนรู้ไปสู่การเรียนแบบผสมผสาน
ความปั่นป่วนของการพยายามสร้างความสมดุลย์และปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว. ศึกษาธิการ ประกาศเลื่อนการเปิดเทอมภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ถึง 2 ครั้ง แต่ดูจากสถานการณ์ที่ยากจะควบคุมจึงต้องคิดหารูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมต่อ พร้อมขึ้นนโยบายให้ทุกโรงเรียนทั่วประเทศปรับเปลี่ยนการสอนให้อยู่ในรูปแบบผสมผสาน หรือ Blended Learning ระหว่างการใช้เทคโนโลยีสื่อสารทางไกล ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ และรูปแบบการเรียนในห้องเรียน ภายใต้การเรียนรู้ในรูปแบบ 5 on ได้แก่ on site on air (DLTV) on demand online และ on hand
โดยทางกระทรวงศึกษาธิการยังได้จัดทำเว็บไซต์ “ครูพร้อม” ที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนเข้ามาร่วมจับมือสนับสนุนโดย บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชัน จำกัด (มหาชน) ยังได้เข้าร่วมและพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้ภายใต้ชื่อ Aksorn On-Learn สนับสนุนการเรียนการสอนของครูและนักเรียนด้วยสื่อดิจิทัล อาทิ คลิปวิดีโอ e-Book สื่อ Interactive 3D สื่อ Interactive Software ไฟล์เสียงประกอบการสอน สไลด์ประกอบการสอน ครอบคลุม 8 กลุ่มสาระฯ ซึ่งมีผู้ใช้งานแล้วมากกว่า 85,000 คน
- คำค้นด้านการศึกษามาแรงติด 1 ใน 5 อันดับ Search ของปีนี้
กว่าหลายปีที่ผ่านมาพบว่ามีเพียงคำว่า DLTV ที่จัดอยู่ในคำค้นทางด้านการศึกษาติดอันดับคำค้นยอดนิยมใน Google Search ซึ่งในปีนี้คำว่า SGS (Secondary Grading System) ถูกจัดให้ติดอยู่ในคำค้นยอดนิยมอันดับ 5 เป็นระบบการประเมินผลการเรียนรูปแบบใหม่ของโรงเรียนกลุ่มมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ภายใต้สังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จะใช้ระบบเดียวกันทั้งหมดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวัดและประเมินผลการเรียน สามารถทำการประเมินผลผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ที่เว็บไซต์ sgs.bopp-obec.info ช่วยทำให้ระบบการประเมินผลมีความรวดเร็ว ทันสมัย ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน ส่งผลให้ครูและนักเรียนทั่วประเทศต้องปรับตัวอย่างมากในการใช้ระบบการประเมินผลรูปแบบใหม่
- เกาะติดหลักสูตรฐานสมรรถนะ นำร่องทดลองใช้ ป.1-ป.3
เกิดกระแสวิพากษ์ไปทั่วเมื่อกระทรวงศึกษาธิการกำหนดแผนปฏิบัติการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการจัดการศึกษาขึ้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีความแตกต่างจากหลักสูตรเดิมในสาระสำคัญหลายตัว อาทิ ลดเวลาเรียนและกลุ่มสาระการเรียนรู้ลงในบางระดับชั้น ปลดล็อกตัวชี้วัดการเรียนรู้ ปรับปรุงฐานการเรียนรู้สมรรถนะใหม่ โดยมีแผนใช้จริงในปีการศึกษา 2565 กับโรงเรียนประถมศึกษาที่มีความพร้อม และวางกรอบการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะครอบคลุมทุกโรงเรียนทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในปีการศึกษา 2567 นำร่องทดลองใช้ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา แต่เกิดกระแสถึงความไม่พร้อมทั้งในแวดวงนักการศึกษา นักวิชาการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากเห็นว่าหลักสูตรยังขาดความชัดเจน และขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ปฏิบัติงานจริง จนต้องกลับมาทบทวน ชะลอ และเลื่อนการนำร่องทดลองออกไป
- ฉากทัศน์ใหม่และสัญญาณของการเปลี่ยนแปลง
โลกหมุนไปการศึกษาไทยต้องหมุนตาม ฉากทัศน์หน้าใหม่ของการศึกษาเราฝันเห็นเด็กไทยมุ่งไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Never-ending learning) เรียนรู้จากที่ใด เวลาใดก็ได้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์ให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจ เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข ได้เรียนและค้นพบในสิ่งที่ตนเองสนใจ จนเกิดเป็นทักษะที่ต้องการและมีตลาดแรงงานรองรับ เพราะท้ายที่สุดแล้วความสำคัญของการผสมผสานการเรียนรู้ไปพร้อมกับการใช้ชีวิตเป้าหมายทางไกลก็คือเพื่อให้เด็ก ๆ ของเราวันนี้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เรียกได้ว่า “พลเมืองของโลก” อย่างแท้จริง