ศบค. ชวนฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 3 กระตุ้นภูมิ สู้ "โอมิครอน"
ศบค. ชวนฉีด "วัคซีนโควิด-19" เข็ม 3 กระตุ้นภูมิ สู้ "โอมิครอน" ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยง โรคเรื้อรัง ชวนเข้ารับ "วัคซีนเข็มกระตุ้น" เข็มที่ 4 เผยยังไม่มีมาตรการห้ามจัดเทศกาลปีใหม่ แต่ขอให้จังหวัดเข้มงวด เตรียมพร้อมรับสถานการณ์หลังหยุดยาว
วันนี้ (27 ธ.ค. 64) ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่มีการรายงาน "โอมิครอน" ทั้งที่ติดเชื้อเดินทางมาจากต่างประเทศ และ ในชุมชนไทยจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยรวมทั้งหลายประเทศ มีมาตรการตอบโต้โอมิครอน โดยมีมาตรการให้ประชาชนฉีดวัคซีนเข็ม 3 ซึ่งจะเป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพ
โดยหลายงานวิจัยมีรายงานสอดคล้องกัน ไม่ว่าจะเป็น แอสตร้าเซนเนก้า หรือ ในกลุ่ม โมเดอร์นา ไฟเซอร์ ก็ได้ ซึ่งในไทยตอนนี้ ยอดการฉีดเข็ม 3 ยังน้อยอยู่ ขอความร่วมมือ ให้ทุกท่านหากฉีดวัคซีน 1-2 เป็นซิโนแวค หรือ ซิโนฟาร์ม สามารถเข้ารับวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ได้ หลังจากฉีดเข็ม 2 ใน 4 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน สามารถกระตุ้นเข็ม 3 ได้เลย
แต่หากท่านฉีดวัคซีนเข็ม 1-2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ให้รอระยะ 3 เดือนหลังเข็ม 2 ก็สามารถเข้ารับวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ได้ ขณะที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 หากมีรายงานติดเชื้อมาก่อนหน้านี้ สามารถฉีดวัคซีนกระตุ้นได้หลัง 3 เดือนเช่นกัน ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ขอให้ศึกษาในรายละเอียด ในการเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น
ขณะนี้ มีหลายแห่งที่เปิดให้ฉีดเข็มกระตุ้น เช่น สถานีกลางบางซื่อ และหลายแห่งไม่รับวอล์กอิน แต่เปิดให้บริการลงทะเบียนผ่านแอปฯ “คิว คิว” ซึ่งสามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์กรุงเทพมหานคร ดังนั้น ในช่วงปีใหม่นี้ หากใครไม่ได้เดินทางไปไหน ขอให้ไปฉีดวัคซีนเข็ม 3 จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันตอบโต้ "โอมิครอน" ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ชวนบุคลากรการแพทย์ ฉีดเข็ม 4
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของที่ประชุม ศบค. ชุดเล็ก มีความเป็นห่วงในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ มีการกำหนดให้บุคลากรทางการแพทย์ เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 4 โดยมีการแพร่ระบาดที่อาจจะกลับมามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น การปกป้องระบบทางสาธารณสุขให้บุคลากรยังสามารถรองรับการแพร่ระบาดการติดเชื้อ ต้องดูแลสุขภาพบุคลากรการแพทย์เป็นอันดับ 1 รวมทั้ง ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง สามารถเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็ม 4 ได้ด้วยเช่นกัน
- สูงวัย โรคเรื้อรัง เสี่ยงเสียชีวิต
ผู้เสียชีวิตวันนี้ 18 ราย โดยในกลุ่มผู้เสียชีวิตยังเป็นปัจจัยเสี่ยงเดิม คือ สูงอายุ และโรคเรื้อรัง รวม 2 กลุ่มนี้ สูงถึง 95% โรคประจำตัวที่เป็นโรคหลัก คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคไต และมีรายงานผู้ป่วยติดเตียง 1 ราย
- คนอายุน้อยติดเชื้อมาก แต่สูงวัยเสียชีวิตสูง
หากดูการติดเชื้อ กทม. ที่รายงานจากที่ประชุมศบค. ชุดเล็ก เป็นการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ ม.ค. 63 – ธ.ค. 64 จะเห็นว่ากลุ่มผู้ติดเชื้อของ กทม. จะเป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการ ทำให้กลุ่มนี้เดินทางไปมา ทำให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกลายเป็นผู้ติดเชื้อ โดยกลุ่มอายุของผู้ป่วยในกทม. ระลอกแรก จนถึงระลอกล่าสุด พบว่า กลุ่มที่ติดเชื้อมากที่สุดคือ อายุน้อย 20-29 ปี ถัดมา คือ 30-39 ปี ดังนั้น กลุ่มติดเชื้อส่วนใหญ่ในกทม. หากรวมทั้งสองกลุ่มอายุน้อยวัยทำงานจะเกินครึ่งของผู้ติดเชื้อทั้งหมดของกทม.
แต่หากดูอัตราการเสียชีวิต กทม.รายงาน ตั้งแต่ เม.ย. – พ.ย. 64 อัตราเสียชีวิต พ.ย. อยู่ที่ 200 ราย คิดเป็น 0.85% หากย้อนกลับไปดู ส.ค. จะอยู่ที่ 1.9% แต่รายละเอียดผู้เสียชีวิตจะเห็นว่ากลุ่มเสียชีวิตสูงเป็นกลุ่มสูงอายุ 60 ปี ถือว่า 100 คน จะเสียชีวิต 10 คน
หรือในช่วง มิ.ย. อัตราเสียชีวิต กทม. มีผู้สูงอายุที่มีการเจ็บป่วย 2,743 ราย เสียชีวิต 401 ราย คิดเป็น 14.62% โดยสรุป คือ คนอายุน้อยติดเชื้อง่าย ติดเชื้อสูง ไม่แสดงอาการ แต่ขณะเดียวกัน ก็นำเชื้อกลับบ้านผู้ที่ใกล้ชิดคนในครอบครัวทำให้ผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว ติดเชื้อ มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต
- เร่งฉีดวัคซีนจังหวัดที่ยังครอบคลุมน้อย
สิ่งที่จะต้องฝากไว้ด้วย คือ จากรายงานการเสียชีวิตของ กทม. พบว่า มีจำนวนมากที่ผู้เสียชีวิต มีรายงานว่าไม่ได้รับวัคซีนเลย หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนก็มีกว่า 90% ที่ได้รับไม่ครบ 2 เข็มและติดเชื้อเสียชีวิต
รายงานการฉีดวัคซีนของไทย จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. - 26 ธ.ค. 2564) รวม 102,681,943 โดส ใน 77 จังหวัด จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 51,032,649 ราย จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 45,423,045 ราย จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 6,226,249 ราย
- จังหวัดฉีดครอบคลุมต่ำกว่า 60%
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า ยังต้องรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนเข้ารับวัคซีนต่อเนื่อง เพราะจากการรายงานผู้เสียชีวิต ชัดเจนว่าเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ หรือไม่ได้เลย ในส่วนของรายละเอียดจังหวัดที่ได้รับวัคซีนเข็ม 1 ครอบคลุมเพียง 50-59% ได้แก่ ปัตตานี นครนายก กาญจนบุรี และราชบุรี ในที่ประชุมศบค. ชุดเล็ก มีการหารือกันว่า คงต้องฝากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดว่า เหตุที่ประชาชนได้รับวัคซีนยังไม่ครบ เกิดจากอะไร เพื่อให้การสนับสนุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- 10 จังหวัดฉีดเข็ม 2 ยังต่ำ
ในส่วนของจังหวัดที่ครอบคลุมโควิดเข็ม 2 ยังต่ำอยู่ 10 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภู บึงกาญ นครพนม สกลนคร ปัตตานี นราธิวาส กาฬสินธุ์ แม่ฮ่องสอน ยโสธร และศรีสะเกษ ยังเป็นอีกกลุ่ม ที่ยังต้องเร่งประชาสัมพันธ์ในการเข้ารับวัคซีน ขณะเดียวกัน ในหลายจังหวัดที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนทั้งจังหวัดยังน้อยแต่เน้นระดมฉีดในผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว
- 10 จังหวัด ฉีดกลุ่ม 608 ยังต่ำ
สำหรับ จังหวัดที่กลุ่ม 608 ได้รับวัคซีนเข็ม 3 ยังต่ำ 10 อันดับ คือ ปัตตานี นราธิวาส แม่ฮ่องสอน ยะลา ขอนแก่น นครนายก ตาก ลพบุรี สุพรรณบุรี และชัยภูมิ ต้องเน้นย้ำเนื่องจากใกล้เทศกาลปีใหม่ รวมทั้งมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน เริ่มกระจายในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะปีใหม่ ที่มีการข้ามพื้นที่ ต้องเน้นย้ำให้ทุกคนนำผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ผู้ที่รู้จักไปรับวัคซีนจะได้ทำให้มีการเดินทางอย่างปลอดภัย และจะเที่ยวปีใหม่ขอให้ระมัดระวังกันด้วย
- ยังไม่มีมาตรการห้ามจัดปีใหม่
จากข้อคำถามที่ว่า สายพันธุ์โอมิครอน ติดเชื้อง่าย ระบาดเร็ว และพบเชื้อในประเทศ จะมีการปรับมาตรการเฉลิมฉลองปีใหม่หรือไม่ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ตอนนี้มีหลายจังหวัดที่มีการเข้มงวดในการจัดเทศกาลปีใหม่ อย่างที่เคยเน้นย้ำ ที่ประชุม ศบค. ได้คำนึงถึงประชาชนที่ต้องการดำเนินชีวิต ตามปกติ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ก็มีความสำคัญ ไม่ใช่แค่การเฉลิมฉลองเพียงอย่างเดียว แต่หลายครอบครัวเป็นการเดินทางดูแลผู้สูงอายุ ไม่ได้เจอกันในระยะเวลานาน
ตอนนี้ยังไม่มีมาตรการห้ามการจัดเทศกาลปีใหม่ แต่ขอให้แต่ละจังหวัดโดยเฉพาะ คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเข้มงวดมาตรการในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข มีการทำแผนการคาดการณ์ว่าหากเทศกาลปีใหม่มีการระมัดระวังเต็มที่ ประชาชนก็ดูแลปกป้องตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย รวมทั้งผู้ประกอบการเข้มงวดมาตรการ อาจทำให้ปีใหม่ผ่านพ้นไปได้ เช่นเดียวกับลอยกระทงที่ผ่านพ้นไปแล้ว และกระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำว่า ท่านสามารถเข้าไปประเมินตนเองในแอปฯ Thai Save Thai ก่อนการเข้าร่วมงาน ถือเป็นการรับผิดชอบส่วนบุคคล ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน
- เฝ้าระวังสถานการณ์หลังปีใหม่
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของ สธ. ได้ประกาศให้ Home Isolation / Community Isolation ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ ต้องเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดหลังปีใหม่ ตอนนี้บุคลากรก็จำเป็นต้องขึ้นเวรดูแลความปลอดภัยพี่น้องประชาชน และฝากไปยังสถานประกอบการ โรงงงาน ในเว็บไซต์ Thai Save Thai มีในส่วนของผู้ประกอบการด้วย อาจจะต้องทำสถานที่กักกันในบริษัท เช่น Factory Quarantine ใครที่กลับมาจากเที่ยวปีใหม่ เป็นหวัด เสี่ยง สัมผัสเสี่ยงสูงผู้ติดเชื้อ ขอให้สถานประกอบการเข้มงวด อาจจะต้องใช้เวลาหลังปีใหม่ 2 สัปดาห์ในการค้นหาผู้ป่วย
"ซึ่งระยะแรกอาจจะไม่แสดงอาการ และเมื่อค้นพบการติดเชื้อ พาเขาเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างปลอดภัย จะทำให้การติดเชื้อไม่แพร่กระจายเป็นวงกว้าง และสิ่งสำคัญ ที่ นายกรัฐมนตรี ฝากย้ำทุกครั้ง คือ ขอให้การเที่ยวปีใหม่ กลุ่มเล็กๆ ครอบครัว เพื่อนสนิท สถานที่ทำงาน หากสามารถตรวจ ATK ทำให้เกิดความปลอดภัยทั้งผู้จัดงานและผู้ร่วมงาน จะทำให้ปีใหม่ยอดผู้เสียชีวิตหรือผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มมากจนถึงขั้นระบบสาธารณสุขดูแลด้วยความยากลำบาก" ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าว