หลักสูตรควบข้ามทันตแพทย์-สาธารณสุข เรียน 6 ปี ได้ปริญญาตรีและโท
จุฬาฯ เปิดหลักสูตรควบข้ามระดับทันตแพทยศาสตรบัณฑิต และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต เรียน 6 ปี ได้ปริญญาตรีควบโท ผลิตทันตแพทย์ทำงานในระบบสาธารณสุข รองรับการขาดแคลนกำลังคน พร้อมย้ำไทยมีปัญหาการกระจายของทันตแพทย์ บางภูมิภาคทันตแพทย์ต่อประชากรสัดส่วนสูง 1:10,000 คน
วันนี้ (28 ธ.ค.2564) อาคารบรมนาถศรีนครินทร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าวพิธีลงนามร่วมมือทางวิชาการโครงการหลักสูตรควบข้ามระดับระหว่างคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาฯ กล่าวว่า วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก และความรู้ก็เปลี่ยนแปลงมากเช่นกัน ซึ่งอดีตการเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษาจะมีการแบ่งตามศาสตร์ต่างๆ เนื่องจากศาสตร์จะเป็นตัวกำหนดปริญญา และกำหนดงาน แต่ในปัจจุบันงานจะเป็นตัวกำหนดศาสตร์ว่า แต่ละอาชีพ แต่ละงานต้องการศาสตร์อะไรบ้าง การที่ทางคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ จัดทำหลักสูตรควบข้ามศาสตร์ระดับทันตแพทยศาสตรบัณฑิต และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเรียนรู้หลายศาสตร์เข้าด้วยกัน
“ขณะนี้เรากำลังไปสู่โลกอนาคตและกำลังจะก้าวไปข้างหน้า ซึ่งการควบข้ามหลักสูตรถือเป็นการส่งสัญญาณว่าการเรียนการสอนในอนาคตจะต้องมีการควบรวม ควบข้ามหลักสูตรมากขึ้น โดยที่ผ่านมา จุฬาฯพยายามได้ควบรวมศาสตร์มานาน เพื่อทลายกำแพงระหว่างภาควิชา ระหว่างคณะ อดีตอาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากกำแพงตามกายภาพของแต่ละภาควิชา คณะแตกต่างกัน ตอนนี้มหาวิทยาลัยจึงได้สร้างสนามแห่งใหม่ สนามกลาง โดยทุกหลักสูตรสามารถควบรวม ควบข้ามกันได้”ศ.ดร.บัณฑิต กล่าว
- ทันตแพทย์ไทยมีปัญหาเรื่องการกระจาย
ปัจจุบัน ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา จุฬาฯ พยายามนำความรู้ที่มีคุณค่าต่อผู้เรียนและมีประโยชน์ในการประกอบอาชีพ และการช่วยให้สังคมดีขึ้น ขณะที่ในส่วนของอาจารย์ก็ไม่ได้เป็นเพียงผู้ทำหน้าที่สอนอย่างเดียว แต่ต้องศึกษาวิจัย พัฒนาการเรียนการสอน หลักสูตรที่จะเพิ่มเติมทักษะ ให้ความรู้ที่นิสิตนำไปใช้มีประโยชน์ได้จริง
ศ.ทพ.ดร.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าความร่วมมือในครั้ง เป็นการจัดทำหลักสูตรข้ามศาสตร์ หลักสูตรแรกในประเทศไทยที่มีการควบข้ามระดับคณะ และระดับการศึกษา โดยผู้สำเร็จการศึกษาจะใช้ระยะเวลาเพียง 6ปี ได้ปริญญาตรีทันตแพทยศาสตร์ และปริญญาโท วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวเป็นการดำเนินการเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีองค์ความรู้ เป็นทันตแพทย์และทำงานด้านสาธารณสุขในพื้นชุมชน การทำงานวิจัยได้ อีกทั้งเป็นการรองรับความต้องการทันตแพทย์ในระบบสาธารณสุขด้วย เพราะทันตแพทย์ในขณะนี้มีปัญหาเรื่องการกระจายไปสู่ภูมิภาคต่างๆ โดยบางภูมิภาค เช่น ภาคอีสาน มีสัดส่วนทันตแพทย์ต่อประชาชน 1:10,000 คน ซึ่งสูงมาก ส่วนภาพรวมของประเทศทันตแพทย์ต่อประชาชน 1:6,000 คน
- ทันตแพทย์หลักสูตรควบข้ามจะเป็นทั้งหมอฟันทั้งนักวิจัย
“ทันตแพทย์และคณะทันตแพทย์ยังคงเป็นสายอาชีพและคณะยอดนิยมสำหรับเด็ก ในแต่ละปีมีเด็กสมัครเรียนจำนวนมาก แต่ทางคณะทันตแพทย์ จุฬาฯ อาจจะรับได้จำนวนน้อยลง เพราะตอนนี้มีคณะทันตแพทยศาสตร์ เปิดขึ้นมากมาย และทางจุฬาฯ อยากผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ทำงานวิจัยในระดับปริญญาโท เอก ดังนั้น หลักสูตรดังกล่าวจึงตอบโจทย์ความต้องการของคณะ และรองรับความต้องการบุคลากรของประเทศ โดยเริ่มต้นในหลักสูตรดังกล่าว คาดว่าจะเปิดรับนิสิต 5-10 คน เพื่อนำร่องในการผลิตบุคลากรด้านนี้”ศ.ทพ.ดร.พรชัย กล่าว
- เร่งพัฒนาบุคลากรรองรับความต้องการกำลังคนประเทศ
ขณะที่ ศ.ดร.สถิรกร พงศ์พานิช คณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ กล่าวว่าทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งจุฬาฯให้ความสำคัญในส่วนนี้ ปัจจุบันแนวโน้มพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต้องเรียนรู้ผ่านหลักสูตรข้ามศาสตร์ ข้ามระดับ เพราะคนรุ่นใหม่ เขาอยากเรียนรู้ในหลายศาสตร์ อีกทั้งอาชีพหนึ่งต้องใช้หลายศาสตร์เข้าด้วยกัน อย่าง การผลิตบัณฑิตในหลักสูตรควบข้ามระดับทันตแพทยศาสตรบัณฑิต และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต จะเป็นการผลิตทันตแพทย์มองเชิงลึก ภาพกว้าง และมองชุมชนได้ครบทุกมิติ เป็นการเสริมการทำงานระดับสาธารณสุข และการทำงานวิจัยให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนานิสิตให้เพียบพร้อมในการช่วยพัฒนาประเทศชาติ
“หลักสูตรนี้จะทำให้ได้ทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษา ดูแลฟัน และได้ทักษะการมองภาพกว้าง การคิดเป็นระบบ และการทำงานเชิงพื้นที่ในชุมชน รวมถึงทำวิจัย เพื่อรองรับความขาดแคลนกำลังคนด้านทันตแพทย์ ดังนั้น การที่จะมาเรียนในสาขา ส่วนหนึ่งต้องเป็นคนที่อยากเรียนทันตแพทย์อยู่แล้ว แต่อยากจะทำงานเพื่อสังคมร่วมด้วย เพราะการเรียนการสอนจะไม่ได้มุ่งเน้นให้รู้วิธีการรักษาดูแลฟันเท่านั้น ยังเข้าใจระบบสาธารณสุข การทำงานในชุมชน และการทำวิจัยที่จะช่วยแก้ปัญหาของชุมชนร่วมด้วย” ศ.ดร.สถิรกร กล่าว