ส่อง 3 ปัจจัยสำคัญ เปลี่ยน "โควิด-19" สู่โรคประจำถิ่น

ส่อง 3 ปัจจัยสำคัญ เปลี่ยน "โควิด-19" สู่โรคประจำถิ่น

บทเรียนการระบาดของ "โควิด-19" กว่า 2 ปี ทำให้ประเทศไทยและทั่วโลกต่างรับมือได้มากขึ้น แม้ขณะนี้มีการระบาดของ "โอมิครอน" แต่ยังไม่พบว่ารุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น อย่างไรก็ตามต้องไม่ประมาท จนกว่ามนุษย์และโรคระบาดจะปรับสมดุลสู่การเป็น "โรคประจำถิ่น"

วันนี้ (29 ธ.ค. 64) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในงานแถลงข่าวอัพเดทสถานการณ์โควิด-19 ถึงประเด็นที่มีข้อสงสัยว่า ในอนาคตแนวโน้มโอมิครอนเป็นโรคประจำถิ่น และจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักได้หรือไม่ อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่า โอมิครอน เป็นเชื้อไวรัสที่เป็นสายพันธุ์ย่อยสายพันธุ์หนึ่งซึ่งอาจจะมีความแตกต่างจากสายพันธุ์ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นอัลฟ่า เดลต้า พฤติกรรมที่เห็นตรงกัน คือ แพร่ระบาดได้มากขึ้น เนื่องจากเชื้อจับทางเดินหายใจส่วนบน และแพร่กระจายออกมาเนื่องจากไอมากขึ้น และตัวเชื้อจับกับเซลล์ต่างๆ ได้ดี แต่อาการ จะรุนแรงน้อยกว่าเนื่องจากจับปอดได้ค่อนข้างน้อย

 

ตอนนี้การระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหน มีการระบาดทั่วโลก และระบาดใหญ่ หลังจากผ่านไปสองปี เราเรียนรู้กับมันและพบว่าโอกาสที่คนทั่วโลกร่วมกันกำจัดเชื้อโควิด-19 ไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหนให้หมดไปเป็นไปได้ยาก

 

  • 3 ปัจจัยสำคัญสู่ "โรคประจำถิ่น" 

 

ดังนั้น โรคก็จะกลายเป็นโรคที่อยู่กับเราคือโรคประจำถิ่น ซึ่งการที่จะเป็นโรคประจำถิ่นได้ มี 3 ปัจจัย คือ

 

1. ตัวเชื้อโรคเอง

2. ตัวคนที่เป็นผู้ติดเชื้อ

3. สิ่งแวดล้อมเอื้อให้เกิดการสมดุลระหว่างเชื้อกับคน หากพูดง่ายๆ คือ เชื้ออยู่ได้คนอยู่ได้

การที่เชื้ออยู่กับคนได้ในสิ่งแวดล้อม คือ เชื้อมีความรุนแรงค่อยๆ ลดลง เพราะหากรุนแรงมากคนก็อยู่กับมันไม่ได้ต้องกำจัดมันให้หมด หรือคนก็ต้องถูกกำจัด หากจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เชื้อโรคจะต้องอยู่กับคนได้ ความรุนแรงจะต้องค่อยๆ ลดลง เช่น โอมิครอน ที่ความรุนแรงค่อยๆ ลดลง

 

ถัดมา คือ คนต้องอยู่กับเชื้อโรคได้ คือ ติดเชื้อแล้วไม่ตาย แต่สามารถแพร่เชื้อได้ในระดับหนึ่ง การที่คนจะอยู่กับเชื้อโรคได้ ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ได้แก่ 

 

1. การฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกัน พอเชื้อโรคมา ก็ไม่ป่วยหนัก เสียชีวิต อยู่กับเชื้อโรคได้

2. ติดเชื้อแล้วสร้างภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติ เป็นต้น

 

  • แนวโน้มความรุนแรงโรคน้อยลง

 

นพ.โอภาส กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ ดูเหมือนแนวโน้มความรุนแรงของโรคจะลดน้อยลง คนส่วนใหญ่ทั่วโลกมีภูมิต้านทานต่อเชื้อ โควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีน ซึ่งฉีดไปกว่าพันล้านโดส ติดเชื้อมากกว่า 200 ล้านคน คนทั่วไปมีภูมิสู้กับเชื้อโรคไม่มากก็น้อย จะเห็นว่าคนกับเชื้อโรคเริ่มปรับสมดุลเข้าสู่สิ่งแวดล้อมร่วมกันได้มากขึ้น ในอนาคตอีกไม่นานจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ความรุนแรงโรคน้อยลง คนมีภูมิต้านทานมากขึ้น

 

"ส่วนจะเป็นสายพันธุ์ไหนขึ้นกับการกลายพันธุ์แต่ละช่วง เชื่อว่าระยะยาวจะเป็นอย่างนั้น สิ่งที่ต้องย้ำเตือน คือ ไม่ต้องกลัวว่าสายพันธุ์อะไร เพียงแต่ว่าต้องสร้างภูมิคุ้มกันของเราให้เพียงพอ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง"

 

"2 ปีที่ผ่านมาเห็นแล้วว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ เกิน 90% เป็นผู้มีโรคประจำตัว เรื้อรัง และสูงอายุ ดังนั้น กลุ่มนี้หลังจากที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มขอให้ไปรับวัคซีนเข็มที่ 3 ตามกำหนด จะทำให้ปลอดภัยมากขึ้น"

  • การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กเล็ก

 

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ วัคซีนที่มีการอนุญาตให้ฉีดในเด็ก โดย WHO และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย คือ mRNA เช่น ไฟเซอร์ ฉีด ได้ในเด็ก 5-11 ปี และ 12-18 ปีขึ้นไป สำหรับผลข้างเคียงในเด็กเล็ก 5-11 ปี ขนาดที่ใช้วัคซีนสำหรับเด็ก จะมีขนาดน้อยกว่าของผู้ใหญ่ประมาณ 1 ใน 3 ผลข้างเคียงจะอยู่ในระดับค่อนข้างปลอดภัย

 

  • ผลข้างเคียงส่วนใหญ่อาการน้อย

 

วัคซีนที่ใช้ทั่วโลกมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง โอกาสเกิดผลข้างเคียง เสียชีวิตมีไม่มาก หากเทียบกับโอกาสที่เป็นโควิด ที่ผ่านมา วัคซีนที่ฉีดในเด็กในประเทศไทย คือ ไฟเซอร์ หากจำได้ ก่อนเด็กเปิดเทอมเดือน พ.ย. มีการฉีดให้เด็ก 12-18 ปี พบว่า ภาพรวมหลังจากฉีดไปแล้ว 7-8 ล้านโดส ผลข้างเคียงที่พบโดยทั่วไปพบได้ไม่มีอันตราย แต่ผลข้างเคียง mRNA ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สำหรับไทยเจอ 20 กว่าราย ส่วนใหญ่อาการน้อยและไม่มีผู้เสียชีวิตจากการฉีดไฟเซอร์

 

ข้อมูลในต่างประเทศ ที่ฉีดวัคซีนในเด็กเล็ก 5-11 ปี พบว่า อัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมีน้อยว่าในเด็กโต อย่างไรก็ตามต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด ขณะนี้ สธ. ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมจัดระบบการฉีดวัคซีนในเด็กพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ต้องกังวลใจ ฉีดวัคซีนทุกชนิดเป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ ขอให้ติดตามข้อมูลและคำแนะนำจาก สธ. และ ศธ. ต่อไป

 

ท้ายนี้ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันนี้ 29 ธ.ค. 64 เป็นวันเริ่มต้นของเทศกาลปีใหม่ 2565 ช่วงนี้จะมีคนเดินทางค่อนข้างเยอะ จากที่เห็นภาพข่าวต่างๆ การเดินทาง ทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นไปได้ว่าจะมีการแพร่กระจายเชื้อสูง เพราะฉะนั้น พี่น้องประชาชน สามารถช่วยชะลอ ลดการแพร่ระบาด ของเชื้อได้ คือ

 

1.เลี่ยงสถานที่เสี่ยง อากาศถ่ายเทไม่สะดวก กิจกรรมเสี่ยงที่มีการรวมตัวกันหนาแน่น ไม่มีเว้นระยะห่าง มีการถอดหน้ากากอนามัยอยู่ร่วมกันนานเป็นความเสี่ยง หากเจอสถานที่ดังกล่าว ไม่ควรเข้าไป โดยเฉพาะ กลุ่มผู้สูงอายุ โรคประจำตัว เพราะโอกาสป่วยค่อนข้างสูง

 

2.หลังจากที่ฉลองปีใหม่ ช่วยตรวจสอบว่าคนในครอบครัว ท่านใดที่ยังไม่ฉีดวัคซีน ก็ขอให้ไปฉีดวัคซีน เพื่อให้ฉลองปีใหม่อย่างมีความสุข