กสร. เพิ่มขีดความสามารถพนักงานตรวจแรงงาน มุ่งแก้ปัญหาการเลิกจ้าง
กสร.จัดโครงการขยายผลการเฝ้าระวังและคุ้มครองแรงงาน จากการหยุดกิจการชั่วคราวการเลิกจ้างเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิประโยชน์แรงงานตามกฎหมาย เพิ่มทักษะพนักงานตรวจแรงงานแก้ปัญหาการเลิกจ้างของสถานประกอบกิจการในภาวะวิกฤตโควิด-19
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวในฐานะประธานพิธีเปิดโครงการขยายผลการเฝ้าระวังและคุ้มครองแรงงานจากการหยุดกิจการชั่วคราวการเลิกจ้างเพื่อป้องกัน
การละเมิดสิทธิประโยชน์แรงงานตามกฎหมาย ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกและต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2562
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นวงกว้าง สถานประกอบกิจการหลายแห่งต้องหยุดกิจการชั่วคราว เลิกจ้างลูกจ้าง หรือปิดกิจการ รวมทั้งมีการใช้เทคนิคหรือกลยุทธ์ต่าง ๆ ในการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้นทุนด้านแรงงาน ก่อให้เกิดการจ้างงานรูปแบบใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อลูกจ้างจำนวนมาก
กสร. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และตรวจสอบ กรณีการหยุดกิจการชั่วคราวและการเลิกจ้างของสถานประกอบกิจการไม่นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ จึงจัดโครงการขยายผลการเฝ้าระวังและคุ้มครองแรงงานจากการหยุดกิจการชั่วคราวการเลิกจ้างเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิประโยชน์แรงงานตามกฎหมาย เพื่อส่งเสริมความรู้ ทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานให้พนักงานตรวจแรงงานสามารถแนะนำนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้เกี่ยวข้องในสถานประกอบกิจการสามารถบริหารจัดการแรงงาน
ในภาวะวิกฤต และหลังภาวะวิกฤต ป้องกันมิให้มีการละเมิดสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง
ตลอดจนการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตามกฎหมาย รวมถึงส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาในภาวะวิกฤตนี้ เพื่อให้สถานประกอบกิจการสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้โดยไม่มีการเลิกจ้าง หรือเลิกจ้างให้น้อยที่สุด
อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 100 คน ประกอบด้วยพนักงานตรวจแรงงานจากส่วนกลาง จำนวน 18 คน เข้ารับฟังการบรรยาย ณ สถานที่จัดอบรม และพนักงานตรวจแรงงาน
จากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด จำนวน 82 คน รับฟังการบรรยายในรูปแบบออนไลน์ผ่านวีดิทัศน์ทางไกล (Cat Conference) ณ หน่วยงานต้นสังกัดหรือสถานที่อื่นที่มีความเหมาะสม ระยะเวลาการฝึกอบรม จำนวน 3 วัน ระหว่างวันที่ 28 – 30 ธันวาคม 2564 โดยมุ่งหวังให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับการเสริมสร้างทักษะ ความรู้ ความสามารถ ตลอดจนสามารถแนะนำนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้เกี่ยวข้องในสถานประกอบกิจการสามารถบริหารจัดการแรงงานในภาวะวิกฤต และหลังภาวะวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่งผลให้แรงงานได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย