"โอมิครอน" กระจาย 37 จังหวัด ติดเชื้อรวม 934 ราย

"โอมิครอน" กระจาย 37 จังหวัด ติดเชื้อรวม 934 ราย

สธ.เผย โอมิครอน กระจาย 37 จังหวัด ติดเขื้อรวม 934 ราย ย้ำ แอฟริกาใต้ แนวโน้มรุนแรงลดลง แต่ประมาทไม่ได้ คงมาตรการ VUCA ป้องกันการระบาด

วันนี้ (30 ธ.ค.64) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวถึงความคืบหน้าการแพร่ระบาดของโควิด19 สายพันธุ์โอมิครอนในไทย โดยในวันนี้พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 194 ราย แบ่งเป็นมาจากต่างประเทศ 88 รายติดเชื้อในประเทศ 106 ราย ซึ่งในเวลานี้พบผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศเพิ่ม 357 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 577 ราย และทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนสะสมเพิ่มเป็น 934 ราย

 

37 จังหวัดพบ โอมิครอน 

 

เขตสุขภาพที่ 1 เชียงราย 1 ราย เชียงใหม่ 7 ราย ลำปาง 1 ราย ลำพูน 4 ราย


เขตสุขภาพที่ 2 เพชรบูรณ์ 1 ราย


เขตสุขภาพที่ 3 พิจิตร 1 ราย


เขตสุขภาพที่ 4 นนทบุรี 22 ราย พระนครศรีอยุธยา 2 ราย


เขตสุขภาพที่ 5 นครปฐม 1 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 4 ราย เพชรบุรี 1 ราย สุพรรณบุรี 2 ราย

 

เขตสุขภาพที่ 6 ชลบุรี 18 ราย สมุทรปราการ 38 ราย สระแก้ว 1 ราย รอยืนยันข้อมูล 24 ราย

 

เขตสุขภาพที่ 7 กาฬสินธุ์ 121 ราย ขอนแก่น 12 ราย มหาสารคาม 42 ราย ร้อยเอ็ด 50 ราย รอยืนยันข้อมูล 84 ราย

 

เขตสุขภาพที่ 8 นครพนม 4 ราย เลย 3 ราย หนองคาย 4 ราย หนองบัวลำภู 1 ราย อุดรธานี 3 ราย

 

เขตสุภาพที่ 9 ชัยภูมิ 4 ราย นครราชสีมา 5 ราย บุรีรัมย์ 4 ราย สุรินทร์ 5 ราย

 

เขตสุขภาพที่ 10 มุกดาหาร 1 ราย ยโสธร 1 ราย อุบลราชธานี 4 ราย

 

เขตสุขภาพที่ 11 กระบี่ 4 ราย ภูเก็ต 104 ราย สุราษฎร์ธานี 20 ราย

เขตสุขภาพที่ 12 ปัตตานี 4 ราย สงขลา 1 ราย

 

เขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร 325 ราย

 

  • แอฟริกาใต้ โอมิครอนรุนแรงลดลง แต่ไม่ประมาท

 

ขณะนี้ ในแอฟริกาใต้ โอมิครอนความรุนแรงลดลง และอาจมาแทนที่เดลต้า อย่างไรก็ตาม นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ประมาทไม่ได้ แม้ข้อมูลที่ออกมาจะไปในทางนั้น อัตราการติดเชื้อนอน รพ.น้อยกว่าเดลต้า ภาพรวมก็เห็นชัดว่า ผู้ป่วยหนักลดลง อย่างของไทยเกือบพันรายไม่มีเสียชีวิต มีอาการหนัก 2 คนแต่หายดีแล้ว แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่า ข้อมูลเหล่านี้ต้องใช้เวลา ยังเร็วไป ถ้าจะบอกว่าอันตรายน้อย สิ่งสำคัญขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการเช่นเดิม พยายามเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยงทั้งหลาย และมาฉีดวัคซีนป้องกันโควิด จะช่วยบรรเทาอาการได้


“กระทรวงสาธารณสุขเตรียมพร้อมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบการรักษาต่างๆ โดยเฉพาะการจัดระบบแยกกักที่บ้าน(Home Isolation) และศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation) โดยเรามีประสบการณ์จากครั้งก่อน ครั้งนี้จะมีระบบติดตามแยกคนติดเชื้อออกจากคนป่วย ใครติดเชื้อไม่มีอาการให้อยู่ HI ถ้าไม่สามารถอยู่ได้ให้เข้า CI โดยจะมีระบบคอยมอนิเตอร์อาการ หากมีอาการมากขึ้นนำส่งรพ.ทันที” นพ.ศุภกิจ กล่าว

  • เข้มมาตรการ VUCA

 

ด้าน นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาคนไทยร่วมมือร่วมใจ
สู้โควิดจนสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ และขณะนี้มีการติดเชื้อรายใหม่น้อยกว่า 3 พันรายต่อวัน เสียชีวิตน้อยกว่า 20 รายต่อวัน สำหรับช่วงเทศกาลปีใหม่นี้หากไม่อยากเห็นภาพการติดเชื้อรายใหม่สูง 2-3 หมื่นราย 
ซึ่งอาจทำให้กระทบกับระบบสาธารณสุข ขอเน้นย้ำความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติตามแนวทางป้องกันควบคุมโรคด้วยมาตรการ VUCA ได้แก่

 

V วัคซีน โดยผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนขอให้เข้ารับการฉีดวัคซีนและผู้ที่ได้รับวัคซีน
2 เข็มและครบตามเวลาที่กำหนด ให้ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น

 

U ป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา โดยเฉพาะเว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากาก โดยสวมอย่างถูกวิธีทั้งหน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัย จะสามารถป้องกันได้ทุกสายพันธุ์ ป้องกันติดเชื้อ และป่วยหนักได้

 

C COVID Safe Living ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย หลีกเลี่ยงจัดกิจกรรมเสี่ยงรวมถึง สถานที่ต่างๆ ต้องมีมาตรการป้องกัน เพื่อให้ทุกคนใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยในสถานการณ์โควิด 


A ตรวจ ATK กรณีที่มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ หากได้รับการวินิจฉัยโดยเร็วและแยกกักตัวเข้ารับการรักษา จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดได้

 

“ขอเน้นย้ำสำหรับเทศกาลปีใหม่ขอให้ประชาชนป้องกันตนเองตลอดเวลา ดำเนินชีวิตปลอดภัย และตรวจ ATK เมื่อสงสัย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับกระทรวงคมนาคมจัดบริการตรวจคัดกรองโควิด ที่สถานีหมอชิตและหัวลำโพง และสถานีขนส่งในภูมิลำเนาช่วงเดินทางกลับ เพื่อให้ประชาชนฉลองปีใหม่และเดินทางกลับอย่างปลอดภัย” นพ.ทวีทรัพย์กล่าว