"หนอนแมลงวันลาย" เปลี่ยน "ขยะอินทรีย์" เป็นทอง

"หนอนแมลงวันลาย" เปลี่ยน "ขยะอินทรีย์" เป็นทอง

"ขยะอาหาร" นับเป็นปัญหาในการกำจัด เนื่องจากมักจะปนเปื้อนกับขยะอื่นๆ โดยเฉพาะขยะรีไซเคิล ทำให้สูญเสียมูลค่าไป หนอนแมลงวันลาย จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ Food Loss Food Waste นำมาใช้กำจัด "ขยะอินทรีย์" และสร้างมูลค่าจากผลิตภัณฑ์ที่ได้ สร้่างรายได้ให้กับชุมชน

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าในปี 2560 มี "ขยะอาหาร" คิดเป็นร้อยละ 64 ของปริมาณทั้งหมด หรือ 254 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แต่ไทยมีการนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์น้อยมาก ส่วนมากไม่มีการแยกขยะ และในส่วนของ กทม. สามารถ รีไซเคิล ขยะอาหารได้เพียง 2 % เท่านั้น

 

ขยะอินทรีย์ ด้วยตัวของมันเองไม่ได้มีปัญหา แต่พอมารวมกับขยะรีไซเคิล ไม่มีการแยกที่ต้นทาง เกิดการปนเปื้อน ทำให้แทนที่ขยะอินทรีย์และขยะรีไซเคิลจะมีมูลค่า แต่กลับกลายเป็นว่าเท่ากับศูนย์ เมื่อทุกอย่างลงไปอยู่ในหลุมฝังกลบทำให้เกิด ก๊าซมีเทน ซึ่งมีความร้ายแรงในการทำลายล้างชั้นบรรยากาศโลกมากกว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 28 เท่า

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ “Food Loss Food Waste” ธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) เกิดขึ้น โดยเน้นในเรื่อง Upcycle ขยะอินทรีย์ ให้มีมูลค่าเพิ่ม เป้าหมาย คือ เปลี่ยนขยะเป็นทอง เปลี่ยนจาก 1+1 = 0 เป็น 1+1 มากกว่า 2 ใช้ “หนอนแมลงวันลาย” ในการย่อยสลาย เพื่อขยะอินทรีย์จะได้ไม่ถูกนำไปทิ้งที่หลุมฝังกลบอีกต่อไป

 

  • ย่อยขยะอินทรีย์ ด้วยหนอนแมลงวันลาย

 

“ตฤณ รุจิรวณิช” Founder Food Loss Food Waste Thailand อธิบาย คนทั่วไปจะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย เพื่อเป็นอาหารสัตว์ จากการศึกษา พบว่า เศษอาหารที่ปกติเขาเอาไปทำปุ๋ยหมัก หากใช้หนอนแมลงวันลาย สามารถลดก๊าซเรือนกระจก ได้มากกว่าวิธีธรรมดา 47 เท่า จึงตัดสินใจใช้วิธีนี้ โดยเอาขยะเศษอาหารที่ผ่านการย่อยใช้เวลาประมาณ 15-30 วัน มาทำเป็นดิน เป็นวัสดุปลูก มูลเอามาทำปุ๋ยเหมือนปุ๋ยไส้เดือน และอยู่ระหว่างการวิจัย คือ ปลอกหนอน สามารถนำมาทำไคติน - ไคโตซาน ได้หรือไม่ ซึ่งทั้งไคตินกับไคโตซาน สามารถนำเอามาทำไบโอพลาสติก เครื่องสำอาง ยา เพิ่มมูลค่าได้สูง

  • 3i เปลี่ยนขยะเป็นทอง

 

ทั้งนี้ กระบวนการที่ Food Loss Food Waste ทำ ผ่านโซลูชั่น “3i” คือ Innovation ในการสอนชุมชนแยกขยะที่ต้นทาง สอนใช้ หนอนแมลงวันลาย (BSF) ในการกำจัดขยะ หลังจากนั้นวิจัยพัฒนาทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ทำ ให้การทำงานของชุมชนง่ายขึ้น และสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มจากหนอนแมลงวันลาย

 

ถัดมา คือ Infrastructure ในการออกแบบ ก่อสร้างให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม และสร้างธุรกิจเพื่อสังคมใหม่ไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน โครงสร้างนี้ก็จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของชุมชนที่ทุกคนเข้าถึงได้และขยะจะไม่ไปอยู่ในหลุมฝังกลบ

 

สุดท้าย Inclusiveness ทุกคนหากมองว่าขยะอินทรีย์ คือ ทรัพยากร ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรนี้ได้ และทรัพยากรนี้หากผ่านวิธีการของเราแล้ว จะสามารถเพิ่มมูลค่า สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับชุมชน และเราจะเป็นศูนย์กลางบริหารจัดการขยะ และผลิตภัณฑ์อินทรีย์

 

  • ใช้หนอนแมลงวันลาย เป็นเครื่องจักร

 

“เครื่องจักรที่เราใช้ คือ หนอนแมลงวันลาย หรือ BSF กินไว มีเอนไซน์ ไม่นำเชื้อโรค ไม่ต่อย ไม่กัด และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้หลังจากหนอนแมลงวันลาย กินย่อยขยะอินทรีย์ จะ Upcycle ขยะอินทรีย์ได้เป็น ปลอกดักแด้ ซากแมลง ดินดำ ปุ๋ยมูลหนอน น้ำยาไล่แมลงศรัตรูพืช หนอนแห้ง รวมถึงไข่หนอน ซึ่งมีราคากิโลกรัมละประมาณ 1 แสนบาท”

 

ทั้งนี้ การทำงานแต่ละชุมชน Food Loss Food Waste ถือเป็นแพลตฟอร์มตัวกลางในการจับคู่ผู้ลงทุนและชุมชน เช่น ที่เกาะสีชัง มีเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งมีเป้าหมายในการเป็นองค์กร Zero Waste ก็จะจับคู่กับชุมชนบนเกาะสีชังว่าใครอยากจะทำ และให้ไปรับขยะจากเซเว่นอีเลฟเว่น จากตลาด ร้านค้า โดยเซเว่นเป็นผู้ลงทุน ซึ่งบนเกาะสีชังจะเริ่มราวต้นปี 2565

 

\"หนอนแมลงวันลาย\" เปลี่ยน \"ขยะอินทรีย์\" เป็นทอง

ขณะเดียวกัน ก็มีในรูปแบบ Impact Investors หรือนักลงทุนที่เน้นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยให้ทุนกับชุมชนพร้อมกับการแนะนำให้กับชุมชนว่าจะขายอย่างไร ทำผลิตภัณฑ์ออกมาอย่างไร เพื่อให้มีเงินคืนนักลงทุนได้ภายใน 2 ปี และหลังจากนั้น นำเงินทุนที่คืนมา ขยายไปยังชุมชนอื่นๆ ต่อไป โดยแต่ละที่ลงทุนราว 2 แสนบาท

 

“หน้าที่ Food Loss Food Waste คือ พัฒนา R&D โดยเริ่มตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมา เราพัฒนาถาดที่ทำให้เลี้ยงง่ายขึ้น ราคาประหยัดลง ย่อยสลายได้เร็วขึ้น แยกหนอน เก็บดักแด้ เอาเข้าไปโรงเลี้ยงแมลงได้ง่ายขึ้น อีกด้านคือ การสร้างตลาดไม่ว่าจะเป็นการทดลองทำไบโอพลาสติก หรือ ทำอาหารที่มีประโยชน์ต่อสัตว์บางชนิด”

 

  • 2 โมเดลนำร่อง ลำลูกกา นครศรีธรรมราช

 

ขณะนี้ โมเดลดังกล่าว มีด้วยกัน 2 แห่ง คือ ลำลูกกา คลอง 2 เป็นของ “Food Loss Food Waste” ลงทุนเอง และ นครศรีธรรมราช ซึ่งทำร่วมกับเอกชน ขณะที่ สมุย อยู่ระหว่างรองบประมาณจากเทศบาลที่ซื้อโมเดลนี้ไป โดยจะทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ ส่วนเกาะสีชัง เซเว่นอีเลฟเว่นเป็นผู้ลงทุน และจะมีการขยายไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเกาะช้าง และเกาะหมาก โดยหาชุมชนที่พร้อมจะทำงาน สอนให้รวบรวมขยะ ใช้หนอนแมลงวันลายในการย่อย และผลิตเป็นสินค้าออกมา

 

เมื่อได้ผลผลิตออกมาแล้ว ชุมชนจะใช้หรือขายก็ได้ เช่น ที่นครศรีธรรมราช ซึ่งมีขยะจำนวนมาก มีการเก็บขยะแล้วนำหนอนแมลงวันลายมาช่วยจัดการ นำดินดำที่ได้มาต่อยอดปลูกผัก แทนที่จะขายดินดำ กก.ละ 20 บาท แต่ขายผักเคล ได้กิโลละ 100-200 บาท เพิ่มมูลค่า คุณภาพชีวิตดีขึ้น สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ผู้บริโภคก็จะกินได้อย่างปลอดภัย เป็นการสร้างมูลค่า หนอนแมลงวันลายย่อยขยะอินทรีย์ได้เร็วกว่าไส้เดือน 5 เท่า โดยใช้เวลาประมาณ 15-30 วัน (ขึ้นอยู่กับขยะและปริมาณหนอน) ตั้งเป้าจับคู่เอกชน นักลงทุน กับ ชุมชน ให้ได้อย่างน้อย 10 แห่ง ภายใน 3 ปี

 

“เป้าหมาย คือ การสร้าง Impact เป็น Community Compost ที่อยู่ในทุกหมู่บ้าน 75,032 หมู่บ้าน 76 จังหวัด มั่นใจว่าขยะอินทรีย์ 17 ล้านตัน จะหมดไปแน่นอน” ตฤณ กล่าว

 

  • ช่องทางออนไลน์ ช่วยเกษตรกร 

 

“Food Loss Food Waste” ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่าง 4 Key Player สำคัญ ได้แก่ “Impact Investor” เป็นผู้สร้างมูลค่าทางการเงิน สร้างคุณค่าทางสังคม สร้างคุณค่าทางสิ่งแวดล้อม “Farmer” ลดต้นทุนการผลิต เปลี่ยนเกษตรเคมีสู่เกษตรยั่งยืน  “Community” โอกาสเข้าถึงทรัพยากร อาชีพใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเสริมความมั่นคงให้ครอบครัว และ Corporate จัดการขยะอินทรีย์ในองค์กร  สร้าง Green Organization และ สนับสนุน Corporate Social Enterprise หรือ CSE ในการขับเคลื่อน BCG 

 

ตฤณ กล่าวว่า สิ่งที่ “Food Loss Food Waste” ทำ คือ การดึงขยะอินทรีย์มา แทนที่จะไปลงอยู่ในหลุมฝังกลบ และ Corporate จะช่วยหาเงินทุนและลงไปจับคู่กับชุมชน เรามีโครงข่ายเกษตรร้านค้า ซึ่งทำให้ขยะอินทรีย์เปลี่ยนไปเป็นผักผลไม้อินทรีย์ โดยผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่ได้จากการย่อยขยะอินทรีย์ของหนอนแมลงวันลาย ทาง “Food Loss Food Waste” ได้มีโครงการ “ดินช่วยเกษตรกร” โดยเปิดเพจเฟซบุ๊ก เป็นตัวกลางในการบริหารจัดการเรื่อง Food Waste เพื่อให้เกษตรกรมั่นใจว่าทำปุ๋ยออกมาแล้ว จะสามารถขายได้ มั่นใจน่ามีตลาดให้ 

 

ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดในโครงการ “ดินช่วยเกษตรกร” ทำจากขยะเศษอาหารเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะ โดยหวังว่าจะเป็นตัวอย่างในการกำจัดขยะเศษอาหารให้ชุมชนเพื่อชุมชนจะสามารถสร้างรายได้ได้เอง เพื่อลดภาระทางสิ่งแวดล้อมและลดสัตว์พาะนำโรค

 

ขณะเดียวกัน ยังมีโครงข่ายเกษตรกร และร้านค้า รวมทั้งผู้บริโภคอยู่ใน กลุ่ม “กินช่วยเกษตรกร” ซึ่งก่อตั้งขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่ผ่านมา พบว่า มีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการขายผลผลิตไม่ได้ โดยกลุ่มกินช่วยเกษตรกร ช่วยในการบริหารจัดการเรื่อง Food Loss ช่วยให้เกษตรกร ค้าขายออนไลน์ง่ายขึ้น เข้าถึงผู้บริโภคที่อยากจะช่วยเหลือเกษตรกรได้มากขึ้น ช่วยซื้อผักผลไม้ออนไลน์เพื่อไม่ให้ผักผลไม้ต้องทิ้ง 

 

สร้างระบบเป็นอีโคซิสเต็มเพื่อแก้ปัญหาขยะอินทรีย์ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีทั้งเกษตรกรและร้านค้า ในรูปแบบ B2B (Business to Business) และ ใสส่วนของผู้บริโภค จะเป็นในรูปแบบ B2C (Business to Customer) ช่วยทำให้ขยะอินทรีย์เปลี่ยนกลับไปเป็นผักผลไม้อินทรีย์ ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 62,000 คน และมีเกษตรกรที่ลงทะเบียน 1,200 คน