“โอมิครอน” โรคประจำถิ่น เสียชีวิตต่ำ สาธารณสุขรับได้
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงแผนรับมือการแพร่ระบาดล่าสุดไปในทิศทางว่า “โรคโควิด-19” จะเข้าโรคประจำถิ่นได้หากอัตราการเสียชีวิตลดมาถึง 0.1% ซึ่งจะต้องควบคุมการระบาดของ “โอมิครอน” ให้อยู่ประมาณ 2 เดือน
สถานการณ์โควิด-19 วานนี้ (10 ม.ค.) มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 7,926 ราย เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา 412 ราย ในจำนวนนี้อยู่ในจังหวัดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ขณะนี้รักษาตัวอยู่ 58,159 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 495 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 115 ราย ยอดหายป่วยน้อยกว่าผู้ที่กำลังรักษาตัวอยู่ ผลจากการที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เป็นไปตามคาดการณ์สถานการณ์
ผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ 412 ราย จะพบว่าในจำนวนนี้ 61% เป็นนักท่องเที่ยวแบบ Test and Go ขณะที่ 36% เป็นรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ 3% เป็นแบบกักตัว แม้ผู้ที่เดินทางเข้ามามีจำนวนลดลง แต่สัดส่วนการติดเชื้อมีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยค่าเฉลี่ยอายุของผู้ที่ติดเชื้อใน คือ 36 ปี อายุพบมากที่สุด คือ 30-39 ปี และพบว่ามีการติดเชื้อตอนตรวจ RT-PCR Day 4-7 ทั้งแบบ Test and Go กว่า 46.8% และ แซนด์บ็อกซ์ 55.41% ในจำนวน 412 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ 376 ราย คิดเป็น 91.26% กระจายจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวมากสุด คือ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี
ขณะที่เมื่อดูสัดส่วนการตรวจ ATK รายวัน ภาพรวมของประเทศ วันที่ 9 ม.ค. จำนวน 52,329 ราย ผลบวก 1262 คน คิดเป็น 1.23% ซึ่งผลบวกจากการตรวจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ช่วงก่อนหน้านี้ และมีรายงานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำแนกสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง พบว่า โอมิครอน พบแล้ว 5,397 รายกระจาย 71 จังหวัด หากดูในช่วง พ.ย. 64 ที่ผ่านมา – 9 ม.ค. 65 พบเป็นเดลตา 64.71% โอมิครอน 35.17% ที่เหลือคือ เบตา 0.03% และ อัลฟา อยู่ที่ 0.10%
หากพิจารณาเป็นสัปดาห์วันที่ 2-8 ม.ค. จะพบว่า โอมิครอน 70.3% และเดลตา 29.7% จะเห็นได้ว่า การแพร่กระจายของโอมิครอน เพิ่มขึ้นตามคาดการณ์ สัปดาห์ล่าสุด มีโอมิครอน 91.3% เป็นการสุ่มตรวจผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ ในขณะที่ โอมิครอน จากผู้ป่วยในประเทศ 57.9%
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงแผนรับมือการแพร่ระบาดล่าสุดไปในทิศทางว่า “โรคโควิด-19” จะเข้าโรคประจำถิ่นได้หากอัตราการเสียชีวิตลดมาถึง 0.1% ซึ่งจะต้องควบคุมการระบาดของ “โอมิครอน” ให้อยู่ประมาณ 2 เดือน โดยประชาชนจะต้องให้ความร่วมมือฉีดวัคซีนให้มีภูมิต้าน เพื่อไม่ให้โรคไม่กลายพันธุ์เพิ่ม การติดเชื้อไม่รุนแรงมากขึ้น คาดว่าภายในปี 2565 นี้ “โรคโควิด-19” จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปได้
เราเชื่อว่า “โรคประจำถิ่น” จะเกิดขึ้นได้หากประชาชนคนไทยทุกคนช่วยกันทำตาม มาตรการสาธารณสุขเพื่อให้ระบบสาธารณสุขดูแลได้ ด้วยการดูแลตัวเอง คัดกรองตนเองด้วยATK หากติดเชื้อ ใช้ระบบดูแลที่บ้านและชุมชน (Home Isolation/Community Isolation)
ป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด (UP:Universal Prevention) และสถานบริการปลอดความเสี่ยงโควิด (COVID Free Setting) และถ้าเป็นไปได้ควรจะสนับสนุน ค่าบริการรักษาพยาบาล และค่าตรวจต่างๆ ให้กับสถานพยาบาลตามสมควร
หากทุกคนดำเนินการตามแผนรับมือที่ว่ามาแล้วเชื่อว่าการเข้าสู่โรคประจำถิ่นในปี 2565 คงอยู่ไม่ไกล