AQ ปรับตัวสู่ระบบ “ไฮบริด” เพิ่มทางเลือก เข้าประเทศ - กักตัว
หลังจากที่มีการเปิดประเทศในช่วง 1 พ.ย. 64 จำนวนนักท่องเที่ยวกักตัวในระบบ Alternative Quarantine (AQ) "สถานที่กักตัวทางเลือก" ลดลง เนื่องจากการเปิดระบบ Test & Go และแซนด์บ็อกซ์ ทำให้โรงแรมที่อยู่ในระบบ AQ เดินหน้าปรับตัวสู่ระบบ "ไฮบริด" เพิ่มทางเลือกนักท่องเที่ยว
ในช่วงต้นของการระบาด “โควิด-19” Alternative Quarantine (AQ) หรือ เดิมเรียก Alternative State Quarantine (ASQ) สถานที่กักตัวทางเลือก ถือเป็นส่วนสำคัญในการเป็นทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทย ทำให้เกิดการรวมตัวของธุรกิจโรงแรมกว่า 164 แห่ง ภายใต้ชมรม ASQ Thailand Club รวมทั้งสิ้น 16,000 -17,000 เตียง
หลังจากการระบาดหนักผ่านไปในปี 2564 และมีการเริ่มเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 64 ใน 3 ระบบ คือ Test and Go , แซนด์บ็อกซ์ และการกักตัว Alternative Quarantine (AQ) ซึ่งพบว่าตัวเลขผู้เดินทางเข้าไทยส่วนใหญ่อยู่ในระบบ Test and Go คือ อนุญาตให้ 63 ประเทศ/พื้นที่ เข้าได้ไม่กักตัว แต่ต้องฉีดวัคซีนครบและมีผลการตรวจ RT-PCR ทำให้ที่ผ่านมา จำนวนโรงแรมที่เป็น AQ ซึ่งลงทะเบียนในชมรมฯ ลดลงเหลือราว 14,000 เตียง ใน 157 แห่ง และจากการระบาดของโอมิครอน คาดว่าจะมีบางแห่งปรับเป็นฮอสพิเทล
“ปรินทร์ พัฒนธรรม” ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวใหม่ หรือ ชื่อเดิม ASQ Thailand Club ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ภายหลังจากการเปิดประเทศ 1 พ.ย. 64 ภาพรวมของโรงแรมหลังจากมีการเปิดให้เข้าประเทศระบบ Test and Go นักท่องเที่ยวที่เข้ามากักตัวในระบบ Alternative Quarantine (AQ) ลดน้อยลง คนที่เข้ามาพักส่วนใหญ่มักจะได้รับวัคซีนครบแล้ว หลักๆ มาจาก 60 กว่าประเทศที่ภาครัฐยกเว้น เข้าพักโรงแรม SHA Extra Plus โรงแรมระบบ SHA Plus ที่มีโรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการได้
“ภาพรวม AQ ในไตรมาสที่ 4 จะเห็นว่าโรงแรมที่เป็น AQ ในหลายแห่ง มีการปรับระบบการจัดการ เปลี่ยนเป็นระบบ “ไฮบริด” หมายถึง รับทั้งแขกที่เป็น SHA Extra Plus และแขกที่กักตัว ทำให้โรงแรมเพิ่มโอกาสมากขึ้น จากเดิมโรงแรมที่เป็น AQ ปรับเป็นระบบไฮบริด สามารถรับได้ทั้งระบบ Test and Go และ แซนด์บ็อกซ์”
ปัจจุบัน โรงแรมในชมรมฯ มีทั้งหมด 240 แห่ง อยู่ในกทม.กว่า 80% ในจำนวนนี้เป็นระบบ AQ 156 แห่ง จำนวนเตียงรองรับผู้ที่กักตัวได้ราว 14,000 เตียง จากเดิมมีอยู่ 164 แห่ง รองรับได้ 16,000 -17,000 เตียง หลายโรงแรมยังอยู่ในระบบ AQ เพียงแต่จำนวนห้องของระบบ ลดลง
ยกตัวอย่าง จากเดิมเคยทำ AQ ทั้งหมด 200 ห้อง แต่เมื่อทำระบบไฮบริด ห้องจะลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งทำระบบ SHA Extra Plus ในสิ้นเดือนนี้มีแนวโน้มว่าโรงแรมที่ทำระบบ AQ น่าจะปรับขึ้น หลังจากที่ปิดรับนักท่องเที่ยว Test and Go และกลับมารับระบบ AQ อย่างเดียว ทำให้โรงแรมที่เป็น SHA Extra Plus ก็ต้องมาทำ AQ เพิ่ม
ทั้งนี้ในส่วนของรายได้ในโรงแรมที่ทำระบบ AQ อย่างเดียวในไตรมาส 4 ปี 2564 ถือว่ายอดตกทุกโรงแรม ภาพรวมในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 อัตราการเข้าพักอยู่ที่ประมาณ 25% ไตรมาส 4 ตกลงมาเหลือ 10% ขณะเดียวกัน โรงแรมที่มีการปรับจาก AQ ไปรับนักท่องเที่ยวระบบ Test & Go ก็มีแนวโน้มดีขึ้น เพราะได้รายได้จาก SHA Extra Plus เข้ามา ส่วนในไตรมาส 1 ปี 2565 มีการคาดการณ์ว่า สถานการณ์จะดีกว่าไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา
“ในเดือนกุมภาพันธ์ ยังคาดการณ์ไม่ได้เพราะ AQ ส่วนใหญ่จะเป็นการจองระยะสั้น ประมาณ 2-3 สัปดาห์ และหลายคนชะลอการตัดสินใจเพราะต้องการดูว่าตัวเขาเองสามารถเข้ามาระบบ Test and Go ได้หรือไม่ เพราะฉะนั้น หากไม่มีความจำเป็นเขาก็ชะลอการเข้าประเทศ นอกจากนี้ มีหลายโรงแรมที่แปลงกลับไปเป็นฮอสพิเทล และภายในสัปดาห์นี้ ก็จะเห็นหลายโรงแรมที่เป็น AQ กลับไปเป็น ฮอสพิเทลเพิ่มขึ้น”
ปรินทร์ กล่าวต่อไปว่า AQ เป็นพื้นฐานของการเปิดรับคนเข้าประเทศ ดังนั้น ไม่ว่าจะมี Test and Go หรือ แซนด์บ็อกซ์ คาดว่าไตรมาส 1-2 ของปีนี้ยังมีความต้องการของ AQ อยู่และอาจจะยาวไปถึงไตรมาส 3-4 สิ้นปี ทุกคนยังมีความกังวลกับการกลายพันธุ์ไม่ว่าจะร้ายแรงหรือไม่ อัตราการระบาดเพิ่มขึ้น Test and Go จะถูกระงับ หรือผู้ที่พบเชื้อ ความเสี่ยงสูงในระบบ Test and Go สุดท้ายต้องมีความจำเป็นที่จะกักตัวหรือย้ายไปพักใน AQ
สิ่งที่กังวล คือ ในส่วนของโรงแรมทั่วไป ที่เปิด Test and Go เพราะในไตรมาส 4 ปี 2564 รายได้โรงแรมทั่วไปมีรายได้สูงมากขึ้น อัตราเข้าพักมากขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงาน บุคลากรในโรงแรมกลับเข้ามา แต่เมื่อเกิดการระบาดอีกรอบ สิ่งที่กังวล คือ อัตราการจ้างงาน ความต้องการจ้างงานในช่วงปลายปีที่ผ่านมาหายไป หลายคนชะลอการจ้าง ลูกจ้างที่เพิ่งเข้าไปเริ่มงาน ย้ายกลับมาจากต่างจังหวัด เมื่อเดือนธันวาคมต้องจ่ายค่าเช่าที่พักล่วงหน้า 3 เดือน แต่ขณะนี้ เศรษฐกิจตกลงมาอีกครั้ง ทำให้ลูกจ้างเกิดความรู้สึกว่าไม่มั่นคง และหากแบบนี้อนาคตระยะยาว มีความกังวลว่าจะเริ่มขาดบุคลากรด้านนี้เพราะหลายคนก็ไม่อาจคาดหวังว่าจะกลับมา บุคลากรในอุตสาหกรรมโรงแรมหายากขึ้นเรื่อยๆ
ปรินทร์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่อยากจะให้พิจารณา คือ หากสถานการณ์เริ่มดีขึ้น เดือนกุมภาพันธ์ กลับมาเปิดแซนด์บ็อกซ์ที่กรุงเทพฯ และ ชลบุรีดีหรือไม่ ที่จะเป็นการช่วยแบ่งเบา ลดแรงกดดันด้านการจ้างงาน หรือด้านการเงินกับภาคเอกชนธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาส 1 ตอนนี้มีแซนด์บ็อกซ์ที่ภูเก็ต รวมถึง กระบี่ และ เขาหลัก จ.พังงา ส่วนไตรมาส 2 มองว่า Test and Go น่าจะกลับมา เพราะการระบาด การกลายพันธุ์ จะมาทุกๆ ไตรมาส 4 และ ไตรมาส 1 คือ ช่วงหน้าหนาว ดังนั้น น่าจะมีการปรับตัวดีขึ้น
ปัจจุบันชมรม ASQ Thailand Club เปลี่ยนเป็นชมรมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวใหม่ เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา สมาชิกที่จะเข้ามาจึงมีทั้ง AQ , SHA Plus หรือ SHA Extra Plus ทั้งในกทม. ชลบุรี ภูเก็ต สมุย หรือเชียงใหม่ ทำให้ยอดของสมาชิกชมรมเติบโต
รวมไปถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวในภาคส่วนอื่นๆ เช่น ผู้ประกอบการที่ดูแลเรื่องรับส่ง ลีมูซีน ส่วนใหญ่ยังเป็นโรงแรมในกทม. 80% อีก 20% กระจายตามจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีการทำแซนด์บ็อกซ์หรือมีแนวโน้มที่จะบริหารจัดการแซนด์บ็อกซ์ และ Test and Go รวมถึง มีกลุ่มโรงพยาบาลที่ทำในระบบ AQ และ SHA Extra Plus ราว 6 แห่ง
- “Hotel Isolation” รองรับป่วยโควิด19 ไม่มีอาการ
เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวถึงกรณีประกันสุขภาพที่ชาวต่างชาติซื้อในต่างประเทศก่อนเดินทางเข้ามาประเทศไทยนั้น ไม่ครอบคลุมกับการรักษาผู้ติดโควิด-19 ตามแนวทางของประเทศไทย ที่กำหนดให้ผู้ที่ติดเชื้อต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาที่บ้านหรือในชุมชนก่อน (Home Isolation:HI / Community Isolation: CI) ฮอสพิเทล และ รพ. แต่ประกันสุขภาพที่นักท่องเที่ยวต่างชาติซื้อมานั้น ถ้าติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ ประกันจะไม่ครอบคลุม
ทั้งนี้ กรม สบส. ได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เสนอให้บริษัทประกันในประเทศไทยทำแพ็คเกจประกันสุขภาพสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ครอบคลุมเหมาะรูปแบบรักษาในประเทศไทย โดยคปภ.ได้ให้รายชื่อมาแล้ว 10 บริษัทจะมีการเสนอไปยังกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
โดยแพ็คเกจประกันสุขภาพจาก 10 บริษัทนี้ จะเสนอให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ พิจารณา เพื่อเสนอให้นักท่องเที่ยวซื้อประกันส่วนนี้ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย หรือกรณีที่เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้วตรวจพบว่าประกันสุขภาพที่ซื้อมาไม่ครอบคลุมตามแนวทางการรักษาของไทย ก็จะให้มีการซื้อเพิ่มเติมในประเทศไทยด้วย โดยให้มีผลคุ้มครองทันทีและผู้ซื้อประกันไม่ต้องสำรองจ่ายก่อน
สำหรับการรักษาในรูปแบบ Hotel Isolation เพื่อรองรับการดูแลผู้ติดเชื้อต่างชาติที่ไม่มีอาการ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ระบบนี้เกิดขึ้นเนื่องจากเมื่อทำ HI ไประยะหนึ่งแล้วมีข้อมูลคนไข้ที่อาการน้อย ที่ไม่สามารถอยู่บ้านได้ แต่ต้องการดูแลรักษาแบบ HI จึงเกิดรูปแบบนี้ที่เป็นการเปิดห้องพักในโรงแรมเพื่อดูแล
เบื้องต้นมีการเปิดเพื่อดูแลผู้ป่วยต่างชาติที่ติดเชื้อแต่ประกันสุขภาพที่ซื้อมาจากต่างประเทศไม่ครอบคลุม ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่ยังเปิดในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ชลบุรี เป็นต้น โดยกระบวนการรักษาจะเหมือน Home Isolation ที่จะมีการติดตามอาการทางเทเลเมดิซีน ซึ่งจะแตกต่างจากฮอสพิเทลที่จะต้องมีทีมแพทย์ประจำโรงแรมเหมือนเป็นน้องๆ รพ.
“อนาคตอาจจะพิจารณาเปิดให้ Hotel Isolation รองรับคนไทยที่ดุลยพินิจของแพทย์ว่าสามารถเข้าดูแลแบบ HI ได้ แต่สภาพแวดล้อมของบ้านอาจจะไม่สะดวก ไม่เอื้ออำนวยจะอยู่แบบ HI ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะจ่ายค่าดูแลให้ในอัตราเดียวกับที่จ่ายให้ผู้ที่ดูแลรักษาตัวที่บ้าน คือ 1,000 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งต้องมีการหารือกับโรงแรมเพื่อให้ยอมรับกับกรอบอัตราตามที่ สปสช.จ่าย โดยช่องทางก็ประสานที่สายด่วนสปสช.1330เช่นกัน แต่ปัจจุบันรูปแบบนี้ยังมีน้อย” นพ.ธเรศกล่าว