Thailand Learning เสริมความรู้ช่วง "โควิด-19" หลัง "เรียนออนไลน์"
สำนักการศึกษา กทม. ใช้หลัก 4ON จัด "การศึกษา" ช่วง "โควิด-19" ร่วมโครงการ Thailand Learning เว็บพอร์ทัลรวมแหล่งเรียนรู้บนโลกออนไลน์ นำเทคโนโลยีเสริมการเรียนรู้ พัฒนาการศึกษาของประเทศไทย
ตั้งแต่ปี 2563 ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของ "โควิด-19" ทำให้การไปเรียนหนังสือของเด็กนักเรียนเป็นไปด้วยความยากลำบาก สำนักการศึกษา ได้มีนโยบายการเรียนการสอนนักเรียนเหมือนกับทางกระทรวงศึกษาธิการ คือใช้หลัก 4ON ซึ่งประกอบด้วย
1) Online การเรียนผ่านทางสื่อต่างๆ
2) On School Line ผ่านทางไลน์กลุ่มของโรงเรียน
3) On Hand คือเอกสารที่ส่งไปให้ผู้ปกครองมารับไปให้บุตรหลาน แล้วส่งกลับมาที่โรงเรียน
4) On Site เป็นการเดินทางมาเรียนด้วยตนเอง ซึ่งในปี 2563 สามารถเปิดได้เพียงช่วงเดียว และเป็นการสลับวันเรียน และในปี 2564 แทบจะเหลือแต่ Online และ On School Line เท่านั้น
นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สำนักการศึกษาฯ ได้มีการสนับสนุนในเรื่องอินเทอร์เน็ตสำหรับโรงเรียน ซึ่งเดิมก็มีให้อยู่แล้วแต่เป็นวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในห้องคอมพิวเตอร์ ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ต้องเรียน Online แบบ 100 % จึงไม่เพียงพอ เนื่องจากคุณครูต้องใช้สอนหลายห้อง จึงได้มีการเพิ่มความเร็วของอินเทอร์เน็ต และให้แนวทางกับโรงเรียนในเรื่องการเพิ่มจุดรับส่งกระจายสัญญาณให้เสถียรมากขึ้น รวมถึงช่องทางการเบิกจ่ายเงินในส่วนนี้
- เสริมเทคโนโลยี พัฒนาการศึกษา
นำมาซึ่ง ความร่วมมือในโครงการ www.thailandlearning.org ซึ่งเป็นเว็บพอร์ทัลรวบรวมแหล่งเรียนรู้บนโลกออนไลน์ จัดทำโดย มูลนิธิเอเชียฯ ร่วมกับสถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย จากความต้องการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากการทำงานวิจัยร่วมกัน
ทั้งนี้ สำนักการศึกษาฯ ร่วมกับ สำนักงานเขตจอมทอง คัดเลือกโรงเรียนวัดไทร (ถาวรพรหมานุกูล) เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร เข้าร่วมในโครงการฯ เนื่องจากได้เห็นว่าสามารถจัดการเรียนการสอนทางไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้นำเอา Thailand Learning เข้ามาจัดกิจกรรมให้ครูและนักเรียนได้รู้จักช่องทางในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม ให้เกิดความตื่นตัวในการที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องการจัดการเรียนการสอนที่ไม่สามารถเปิดโรงเรียนได้
ซึ่งเมื่อจบโครงการฯ ไปแล้ว ยังมีการใช้ และพัฒนาเพิ่มขึ้น จนได้รับความสนใจจากโรงเรียนทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดเดินทางมาศึกษาดูงาน ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของคณะผู้จัดทำโครงการฯ
"โครงการฯ ดังกล่าว นับเป็นประโยชน์ทั้งในด้านการเรียนการสอน สำหรับครูและนักเรียน เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้การศึกษาได้ผ่านพ้นวิกฤตในช่วงที่ไม่สามารถเปิดโรงเรียนได้ ในด้านของคุณครูได้ทำให้มีการพัฒนา เข้าถึง และมีทักษะทางด้านดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ส่วนนักเรียนได้รับความรู้ และเนื้อหาที่คุณภาพ ที่ผ่านการพิจารณาจากนักวิชาการ”
- ใช้ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย
สำหรับ www.thailandlearning.org จัดทำขึ้นโดยมีเนื้อหาที่หลากหลายจากทั่วโลก เหมาะสำหรับนักเรียน, ครู และผู้ที่สนใจ มีทั้งเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ครอบคลุมทุกวิชาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ สามารถใช้บริการได้ 24 ชั่วโมง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ดร.รัตนา แซ่เล้า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและวิจัย มูลนิธิเอเชียประจำประเทศไทย เผยว่า โครงการดังกล่าว สามารถใช้งานผ่านทางโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โดยภายในแบ่งเป็น 3 เมนู คือ
1) เรียนรู้ จะรวบรวมข้อมูลเว็บไซต์เกี่ยวกับการศึกษาไทยและต่างประเทศ แยกตามสาขาวิชา อาทิ วิชาคณิตศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์
2) ทัศนศึกษา เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์หรือแหล่งเรียนรู้จากทั่วโลกผ่านหน้าจอ หรือ Virtual tour ที่สามารถให้ความรู้นักเรียนได้มากกว่าในตำรา
3) เครื่องมือ เป็นการแนะนำเครื่องมือสำหรับสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่งผู้ใช้จะสามารถร่วมทำแบบทดสอบ ที่เหมาะสำหรับนักเรียน ครู และผู้ปกครอง
โดยผู้ที่สนใจสามารถไปใช้บริการที่ www.thailandlearning.org ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป