"ปลดล็อก"กัญชา กาง(ร่าง)พ.ร.บ.ฉบับ อย. เปิด "แซนด์บ็อกซ์ นันทนาการ" ได้
อย.ยกร่าง “พ.ร.บ.กัญชา กัญชง” เปิดช่องมีแซนด์บ็อกซ์นันทนาการได้ กำหนดคุณสมบัติคนใช้บริการ ห้ามอายุต่ำกว่า 20 ปี ปลูกในครัวเรือนไม่ต้องขออนุญาต แค่จดแจ้ง เตรียมเปิดประชาพิจารณ์ก.พ.นี้ ปัดรับใช้การเมือง
เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าว(ร่าง)พ.ร.บ.กัญชา กัญชงว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้ยกร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ.... มุ่งเน้นการควบคุมกำกับการใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม โดยสาระสำคัญ ห้ามใช้แบบนันทนาการ เว้นแต่ในพื้นที่ ที่กำหนดซึ่งต้องได้รับอนุญาตก่อน และควบคุมไม่ให้มีการใช้กับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์สตรีให้นมบุตร และบุคคลอื่นใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยการที่ห้ามที่อายุ 20 ปีนั้นเช่นเดียวกับพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ร.บ.กระท่อมและพ.ร.บ.ควบคุมยาสูบที่กำหนดไว้ที่ 20 ปีเช่นกัน อีกทั้งเป็นอายุที่บรรลุนิติภาวะแล้วสามารถมีวิจารณญาณในการตัดสินใจต่างๆ
นอกจากนี้ ส่วนของต้นน้ำ เรื่องการปลูก จะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ปลูกเพื่อใช้ในครัวเรือน ดูแลสุขภาพตนเอง หรือการปลูกเพื่อปรุงยาของผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้าน ไม่ต้องขออนุญาตแต่จะต้องจดแจ้งภายในจังหวัดนั้นๆ โดยจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ จากเดิมที่จะต้องร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ส่วนจะกำหนดพื้นที่ หรือปริมาณการปลูกอย่างไร จะมีการกำหนดในกฎกระทรวงต่อไป
และการปลูกในเชิงอุตสาหกรรมหรือเชิงพาณิชย์จะต้องขออนุญาตจาก อย.โดยเลขาฯ อย.หรือผู้ได้รับมอบหมาย ซึ่งใบอนุญาตจะมีอายุ 3 ปี เพราะเชิงธุรกิจต้องมีการวางแผนธุรกิจ จากเดิมที่มีอายุ 1 ปี กลางน้ำ การแปรรูป และสกัด ไม่ว่าจะเป็นสาร CBD THC หรือสารอื่นๆ จะต้องขออนุญาตจาก อย.โดยเลขาฯ อย.หรือผู้ได้รับมอบหมาย และปลายทาง ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ต้องขออนุญาตตามกฎหมายนั้นๆ เช่น พ.ร.บ.อาหาร
นพ.ไพศาล กล่าวอีกว่า ในร่างนี้จะมีการกำหนดให้มีคณะกรรมการกัญชา กัญชงมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ทำหน้าที่เสนอแนะเชิงนโยบาย รวมทั้ง มีการกำหนดห้ามเรื่องการส่งเสริมการขายต่างๆ และอายุของผู้ที่จะอนุญาตในทุกเรื่องต้องไม่ต่ำกว่า 20 ปี และห้ามขายให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีด้วย ทั้งนี้ จะมีการเปิดประชาพิจารณ์ในเดือนก.พ. ก่อนเสนอ รมว.สาธารณสุข หากเห็นชอบจะเสนอต่อไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป
“ร่างพ.ร.บ.นี้ห้ามใช้แบบนันทนาการ แต่มีการกำหนดให้ใช้ได้ในพื้นที่เฉพาะเหมือนเป็นแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งจะมีการกำหนดคุณสมบัติของพื้นที่เฉพาะ และผู้ที่จะใช้บริการได้ เช่น อายุที่ห้ามเข้า หรือข้อกำหนดอื่นๆ ในกฎกระทรวงที่จะออกตามพ.ร.บ.นี้ต่อไป แต่ห้ามใช้ในที่สาธารณะอยู่แล้ว”นพ.ไพศาล กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงว่าทำไมจะต้องมีการยกเว้นให้มีแซนด์บ็อกซ์ที่สามารถใช้นันทนาการได้ นพ.ไพศาล กล่าวว่า พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 มีการกำหนดพื้นที่ให้ใช้อยู่แล้วเพื่อการดูแลสุขภาพตนเอง และมีการใช้กัญชาบางอย่างที่มีวิถีภูมิปัญญาของไทย
ภญ.ขนิษฐา ตันติศิรินทร์ ผู้อำนวยการกองควบคุมวัตถุเสพติด อย.กล่าวว่า การกำหนดแซนด์บ็อกซ์ใช้ในเชิงนันทนาการนั้น โดยหลักการ(ร่าง) พ.ร.บ.ห้ามใช้เพื่อนันทนาการ แต่เปิดแซนด์บ็อกซ์ไว้ในทำนองเดียวกับในพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 และประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่เปิดเพื่อรองรับในอนาคต ที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ หรือในปัจจุบันที่กัญชายังเป็นยาเสพติดก็มีการระบุแซนด์บ็อกซ์เช่นกัน ใช้ในกรณีที่ต้องการเลิกยาเสพติดไม่ได้ เพื่อลดอันตรายจากการใช้ยา จึงนำหลักการนั้นมากำหนดเป็นแซนด์บ็อกซ์ไว้ใน(ร่าง)พ.ร.บ.นี้ ส่วนรูปแบบก็จะมีการศึกษาหลายๆ โมเดล ที่จะกำหนดในกฎกระทรวง
ถามถึงว่ากรณีหากปลูกในครัวเรือนแล้วมีการนำมาใช้นันทนาการภายในบ้านจะควบคุมอย่างไร นพ.ไพศาล กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะมีการเข้าไปควบคุมภายในบ้าน แต่การจะปลูกต้องมีการจดแจ้ง เพราะฉะนั้นเจ้าหน้า ที่จะเข้าไปสุ่มตรวจ
ผู้สื่อข่าวถามว่า(ร่าง)พ.ร.บ.นี้ไม่ขัดกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ หรือข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลกใดๆ ใช่หรือไม่ นพ.ไพศาล กล่าวว่า ไม่ได้ผิด เพราะมีการควบคุมอยู่ในร่างพ.ร.บ.นี้ มีหน่วยงานต่างๆเฉพ าะในการควบคุม
นพ.ไพศาล กล่าวอีกว่า (ร่าง)พ.ร.บ.นี้มีการกำหนดบทลงโทษ อาทิ กรณีการใช้นันทนาการ ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ,ปลูกโดยไม่จดแจ้ง โทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และการขาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นโทษที่สูงสุด
ผู้สื่อข่าวถามว่ากังวล อย.จะถูกมองว่ารับใช้การเมือง กล่าวว่า ตรงนี้มีการเน้นย้ำมาตลอด ในเรื่องของประโยชน์และเศรษฐกิจ ให้ลืมเรื่องการเมืองไปเลย เรามีข้อมูลที่ชัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ(ร่าง)พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับแรกนี้ ในมาตรการ 36 กำหนดว่า
มีการกำหนดใน หมวด 10 การคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภคกัญชา กัญชง และการป้องกันการใช้ในทางที่ผิด มาตรา 36 ห้ามผู้รับอนุญาตขายกัญชา กัญชงเพื่อการนำไปบริโภคแก่บุคคล ต่อไปนี้ บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ,สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร บุคคลอื่นใดตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด ทั้งนี้ บริโภค หมายความว่า กิน เคี้ยว ดื่ม อม หรือนำเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใดๆหรือในรูปลักษณะใดๆ
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์