ตลาดอาหารทางการแพทย์โต 20% เล็งพัฒนาสูตรรองรับสังคมสูงวัย
“อาหารทางการแพทย์” หรือ Medical Food เป็นอาหารที่ไม่ใช่อาหารเสริม แต่เป็นอาหารตามหลักโภชนาการที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยเฉพาะ ยิ่งเมื่อสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ อาหารทางการแพทย์ยิ่งต้องการมากขึ้น
รายงานการวิจัยทางการตลาดจาก Market Data Forecast ระบุว่าขนาดตลาดอาหารทางการแพทย์ทั่วโลกมีมูลค่า 19,560 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 26,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2026 โดยพบแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นจากหลายปัจจัย
สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ อินโนบิก (เอเซีย) ลงนามความร่วมมือ “พัฒนาสูตรและกรรมวิธีการผลิตอาหารปั่นผสมชนิด UHT” สำหรับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่ไม่สามารถทานอาหารปกติ เพื่อทำให้ผู้ที่รับประทานจะรู้สึกถึงการรับประทานอาหารจริง และได้ประโยชน์จากธรรมชาติ มีสารอาหาร วิตามินแร่ธาตุ และรสชาติอร่อยอย่างครบถ้วน
- ตลาดอาหารทางการแพทย์เติบโต20%
“รศ.ดร.ชลัท ศานติวรางคณา” ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าสถาบันโภชนาการได้มีการพัฒนาสูตรอาหารสำหรับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยทั่วไปอยู่แล้ว ซึ่งอาหารทางการแพทย์ดังกล่าวไม่ใช่ยา หรืออาหารเสริม แต่เป็นอาหารที่เป็นไปตามโภชนาการเหมาะกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ไม่สามารถทานอาหารปกติได้ ซึ่งในประเทศไทยอาหารทางการแพทย์มีจำนวนจำกัด เนื่องจากมีแหล่งผลิตขึ้นภายในประเทศค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะนำเข้ามา ทำให้เกิดต้นทุนจำนวนมากขึ้น
“ความร่วมมือในการพัฒนาสูตรและกรรมวิธีการผลิตอาหารปั่นผสมชนิด UHTครั้งนี้ ถือเป็นสร้างความมั่นทางด้านอาหารและขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้ตลาดอาหารทางการแพทย์มีการเติบโตทุกปี โดยเติบโตเกิน 20% ซึ่งหากประเทศไทยผลิตอาหารทางการแพทย์ได้เองก็จะลดนำเข้า และเพิ่มมูลค่าทางตลาดให้แก่ประเทศไทย เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศ”รศ.ดร.ชลัท กล่าว
- สูตรอาหารทางการแพทย์รับสังคมสูงวัย
รศ.ดร.ชลัท กล่าวต่อว่าภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารทางการแพทย์ แม้ตลาดจะไม่ได้มีมูลค่ามากมาย แต่มีความสำคัญ เพราะประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ และมีผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานอาหารปกติได้จำนวนมาก เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน มะเร็ง ยิ่งต้องการอาหารทางการแพทย์มาก การที่สามารถพัฒนาสูตรและผลิตได้เอง ย่อมลดต้นทุนการนำเข้าต่างๆ มีราคาที่ไม่สูงมากขึ้น หากราคาสูงมากผู้ป่วยบางรายก็ไม่สามารถเข้าถึงได้
“ตอนนี้กำลังอยู่ในกระบวนการพัฒนาสูตรและกรรมวิธีการผลิตอาหารปั่นผสมชนิด UHT โดยทางสถาบันโภชนาการ ม.มหิดลจะเป็นผู้พัฒนาสูตร นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ขณะที่ในส่วนของ อินโนบิก (เอเซีย) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาธุรกิจด้านโภชนาการให้เกิดความเชื่อมโยงกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพในประเทศไทย ก็จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อพัฒนาผลิตอาหารทางการแพทย์ที่ใช้มาจากวัตถุดิบทางการเกษตรในประเทศ ส่งเสริมทั้งอาหารทางการแพทย์ของไทย และพัฒนาการเกษตรให้เติบโตไปด้วยกัน สร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าเกษตรกรรมของไทย”รศ.ดร.ชลัท กล่าว
ทั้งนี้ อาหารทางการแพทย์ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คืออาหารทางการแพทย์สูตรทั่วไป และอาหารทางการแพทย์สูตรเฉพาะโรค (เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคมะเร็ง เป็นต้น)
- คาดได้สูตรอาหารทางการแพทย์มิ.ย.65
โดย อาหารทางการแพทย์สูตรทั่วไป โดยมากจะมีสัดส่วนของสารอาหาร คือ คาร์โบไฮเดรต ประมาณ 40 – 60% ของพลังงานรวม โปรตีน ประมาณ 15 – 25% ของพลังงานรวม และไขมัน 15 – 35% ของพลังงานรวม ซึ่งจะสอดคล้องกับคำแนะนำการบริโภคอาหารปกติเช่นกัน นอกจากนี้อาหารทางการแพทย์จะมีการผสมวิตามินและแร่ธาตุอย่างครบถ้วน ทำให้เมื่อบริโภคอาหารทางการแพทย์ให้ได้พลังงานวันละ 1,000 – 1,500 กิโลแคลอรีเป็นต้นไป จะได้รับวิตามินและแร่ธาตุเพียงพอต่อความต้องการต่อวัน
รศ.ดร.ชลัท กล่าวต่อว่า คาดว่าจะพัฒนาสูตรดังกล่าวแล้วเสร็จในเดือนพ.ค.-มิ.ย.2565 ก่อนจะที่นำไปสู่กระบวนการผลิตเป็นอาหารทางการแพทย์จริงๆ โดยเริ่มต้นจะมีการศึกษาและพัฒนาสูตรอาหารปั่นผสมชนิด UHT สำหรับผู้ป่วยทั่วไปก่อน ส่วนสูตรสำหรับผู้ป่วยเบาหวานนั้นจะเป็นการดำเนินการในส่วนต่อไป
“อาหารทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นจะมีสารอาหารครบถ้วน พร้อมทาน ร่นระยะเวลาในการเตรียมอาหาร แก้ไขปัญหาจากการเตรียมอาหารที่ไม่ถูกต้อง หรือปัญหาจากความสด สะอาด ช่วยให้ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งยังใช้วัตถุดิบอาหารสดในประเทศ เพื่อสนับสนุนเกษตรกร และเศรษฐกิจของประเทศ ในอนาคตวางแผนที่จะพัฒนาต่อให้เป็นอาหารทางสายยางสำหรับผู้ป่วยอีกด้วย”รศ.ดร.ชลัท กล่าว
- แนะเลือกอาหารสำหรับผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุที่มีภาวะเบื่ออาหาร หรือสามารถบริโภคอาหารได้ลดลง ไม่เพียงพอ แต่ยังมีระบบย่อยอาหารปกติ และสามารถกลืนอาหารได้ตามปกติ “อาหารทางการแพทย์” เป็นทางเลือกที่เหมาะสม แต่ทั้งนี้ปริมาณที่ควรเสริมต่อวัน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริโภคอาหารทั่วไป ความต้องการพลังงานและสารอาหารต่อวัน
รศ.ดร.ชลัท กล่าวต่อไปว่าการเลือกอาหารสำหรับผู้สูงอายุนั้น ต้องคำนึงในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะการให้สารอาหารครบถ้วน บดเคี้ยวได้ง่าย ได้รับโปรตีน แคลเซียมที่เพียงพอ สารอาหารเหมาะสมกับสภาพร่างกาย รวมกับการออกกำลังกายที่เหมาะสม ทั้งนี้ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะเริ่มมีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยวไม่ค่อยสะดวกทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารที่มีโปรตีนได้อย่างเต็มที่ ทำให้มีความถดถอยของกล้ามเนื้อร่วมด้วย อีกทั้งระบบการขับถ่ายอาจมีปัญหาเพราะทางผักได้น้อยลง
“การเตรียมอาหารสำหรับผู้สูงอายุ ควรเลือกอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการที่เหมาะสม เคี้ยวกลืนได้สะดวก มีความสะอาด ปลอดภัย และหากไม่มั่นใจควรปรึกษานักโภชนาการ นักกำหนดอาหาร เพื่อคำนวณความต้องการพลังงาน และประเมินปริมาณพลังงานที่ได้รับจากอาหารต่อวัน จะทำให้กำหนดปริมาณอาหารทางการแพทย์ที่ควรได้รับต่อวันได้อย่างเหมาะสม”รศ.ดร.ชลัท กล่าวทิ้งท้าย