ยักษ์ธุรกิจอาหารของไทย ตบเท้ารุกตลาด "Plant-based"
แม้ความนิยม Plant-Based Food ในไทยจะยังไม่สูงเท่าในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แต่ศูนย์วิจัยกรุงไทยก็ได้คาดการณ์ว่า ธุรกิจ Plant-based Food ในไทยมีโอกาสสร้างกำไรได้ระดับ 10-35% และคาดว่ามูลค่าตลาดอาจแตะ 4.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2567 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 10%
ทำไม Plant-based Food จึงโตได้ดี
จอห์น แมคคีย์ ซีอีโอ บริษัท Whole Foods เชนค้าปลีกสินค้าออแกนิครายใหญ่ของสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า มีหลายคนเลือกกินอาหาร Plant-based เพื่อเป็นการ "เปลี่ยนผ่าน" ไปสู่การลดกินเนื้อสัตว์ หรือขั้นเริ่มต้นของการกินมังสวิรัติ เพราะเนื้อ Plant-based ผ่านการแปรรูปและปรุงแต่งเพื่อให้การกินผักน่าอภิรมย์มากขึ้น
ยูโรมอนิเตอร์ ก็ได้คาดการณ์ว่าในปี 2566 ตลาดโปรตีนจากพืชทั่วโลกจะมีมูลค่าแตะ 2.5 พันล้านดอลลาร์ หรือ 8.2 หมื่นล้านบาท
เร็วๆนี้ มิตรผล เป็นอีกหนึ่งธุรกิจอาหารเจ้าใหญ่ของไทย ที่กระโดดเข้ามารุกตลาด Plant-based ตามรายใหญ่อื่นๆ โดยการจับมือกับสตาร์ทอัพไทยอย่าง Meat Avatar ตอบรับเมกะเทรนด์อาหารแห่งอนาคต
นายวรเดช ฉันทศาสตร์โกศล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Energy & New Business บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า การจับมือกับ "มีท อวตาร" เป็นการต่อยอดศักยภาพของ Food Tech Starup รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีอาหาร การวิจัยและพัฒนาการผลิตโปรตีนจากพืช อีกทั้งยังเป็นแนวทางในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยไม่สร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
นายวิภู เลิศสุรพิบูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีท อวตาร จำกัด กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญของตลาด Plant-based ในไทย คือ คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักอาหารจากพืช ต่างจากในต่างประเทศที่เป็นเทรนด์การบริโภคมาตั้งแต่ 10-15 ปีที่แล้ว จนทำให้มีกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่หันมาบริโภคมากขึ้น
ที่ผ่านมามีแบรนด์ใหญ่จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในไทยราว 2-3 แบรนด์ แต่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนักเนื่องจากราคาสูง เหตุผลหลักเป็นเพราะรสชาติที่พัฒนาให้ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริงให้ได้มากที่สุด รวมถึงราคาซึ่งยังไม่สามารถทำให้เทียบเท่าเนื้อสัตว์จริงได้
อย่างไรก็ตาม การบุกตลาดของแบรนด์ใหญ่ในไทยไม่ได้มองว่าเป็นการแย่งส่วนแบ่งการตลาด แต่เป็นการส่งเสริมให้ตลาด Plant-based เป็นที่รู้จักมากขึ้น ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของตลาดอีกด้วย
เปิดโผทุนใหญ่ Plant-based ไทย
ตลาด Plant-based มีผู้เล่นจากทุนใหญ่เพิ่มขึ้นมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้แก่
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู (TU) ผู้นำตลาดอาหารทะเลระดับโลก เปิดตัวแบรนด์ OMG Meat ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และอาหารทะเลจากพืช โดยมีทั้งรูปแบบอาหารทะเลจากพืช มีทั้งรูปแบบอาหารทะเลจากพืช ได้แก่ หอยจ๊อปู ขนมจีบปู เนื้อปู นักเก็ต และรูปแบบไม่ใช่อาหารทะเล อย่างเนื้อหมู ไก่ จากพืช ได้แก่ ซาลาเปาหมูแดง และนักเก็ตไก่
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ (CPF) ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอาหาร ส่งแบรนด์ MEAT ZERO เข้าตลาด โดยมีสินค้าครอบคลุมทั้งทั้งรูปแบบอาหารพร้อมรับประทาน เช่น โบโลน่าจากพืช เบอร์เกอร์หมูจากพืช ข้าวกระเพราเนื้อจากพืช สปาเก็ตตี้เนื้อสับ และในรูปแบบอาหารพร้อมปรุง อาทิ นักเกตไก่จากพืช เนื้อบดจากพืช และหมูกรอบจากพืช ซึ่งได้เปรียบคู่แข่งรายอื่นเนื่องจากมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยง่าย
บริษัท ซีพีแรม จำกัด หรือ ซีพีแรม (CPRAM) บริษัทผู้ผลิตอาหารพร้อมกินส่งเข้าเซเว่นฯ เปิดตัวแบรนด์ VG for Love อาหาร Plant-base แบบพร้อมทานจำนวน 10 เมนูเข้าสู่ตลาด เช่น ข้าวกะเพราะหมูพีบี ข้าวคะน้าหมูกรอบพีบี ข้าวผัดกะเพราขี้เมาเห็ดออรินจิพีบี ข้าวผัดแกงเขียวหวานไก่พีบี เป็นต้น
บริษัท นิวทรา รีเนจเนอเรทีฟ โปรตีน จำกัด หรือ NRPT บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด บริษัทย่อยของ NRF และบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด บริษัทย่อยของ ปตท. เพื่อลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตอาหาร Plant-based กำลังการผลิตประมาณ 3,000 ตันต่อปี โดยคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ปี 2565 ตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางในการผลิตและจัดจำหน่ายทั่วภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ ผู้เล่นรายใหญ่ของไทยที่ตบเท้าเข้ามาลงทุนในธุรกิจ Plant-based กันมากขึ้น ช่วยตอกย้ำว่าเทรนด์อาหารแห่งอนาคต อย่างโปรตีนจากพืชที่ว่ามีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก