"Plant-based food" ลดคาร์บอน ด้วย “อาหาร”
เพราะอุตสาหกรรมอาหาร มีส่วนปล่อย "คาร์บอน" 1 ใน 3 ของทั้งหมดที่ปล่อยออกสู่โลก เกิดคำถามที่ว่า แล้วเราจะลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างไรในเมื่อเราต้องบริโภคในทุกวัน "Plant-based food" จึงกลายเป็นหนึ่งทางออกที่จะช่วยลดคาร์บอนได้ด้วย “อาหาร”
ว่ากันว่า อุตสาหกรรมอาหาร มีส่วนปล่อย คาร์บอน ถึง 1 ใน 3 ของทั้งหมด ทั้งจากการเกษตรและปศุสัตว์ 17% และ จากการปรับหน้าดิน 7-14% มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 หากไม่สามารถคุมความร้อนของโลกไม่ให้เกิน 1.5-2 องศา และหากอุณหภูมิไปถึง 3.8-4 องศา ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น เนื่องจากภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม จะทำให้เราไม่สามารถปลูกสินค้าเกษตรได้
ขณะที่ทั่วโลกเน้นไปอุตสาหกรรมพลังงานซึ่งคิดเป็น 50-60% ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก แต่อุตสาหกรรมที่แก้ยากที่สุด กลับเป็นอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร และเนื่องจากแก้ยากที่สุดจึงต้องพยายามแก้ตั้งแต่วันนี้ เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะสายเกินไป
“แดน ปฐมวาณิชย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ (NRF) ในฐานะธุรกิจอาหาร โปรตีนจากพืช หรือ Plant-based food กล่าวว่า เรื่องการเกษตรเป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุด อุตสาหกรรมการบินปล่อยคาร์บอนปีละ 2.5% ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก หากย้อนกลับมาดูการเกษตร การปลูกข้าวก็ปล่อยคาร์บอน 2.5% เท่ากับอุตสาหกรรมการบิน แถมอุตสาหกรรมข้าวปล่อยมีเทน ซึ่งมีศักยภาพในการทำร้ายโอโซนมากกว่า 28 เท่าเมื่อเทียบกับคาร์บอน
“การทำธุรกิจกับสิ่งแวดล้อมเรามองว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ต้นน้ำของเรา คือ การเกษตร และปลายน้ำ คือผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านมา NRF ดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2017 โดยยื่นเป็นสมาชิก “สมาคมเครือข่ายโกบอลคอมแพค” ถัดมา คือการมุ่งมั่นในเรื่องลดอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศา ในปี 2018 และ มุ่งมั่นในเรื่อง Net Zero ในปี 2019”
- 3 กลยุทธ์ ลดคาร์บอน ด้วย Plant-based food
แดน กล่าวต่อไปว่า เป้าหมายของ NRF คือ ทำอย่างไรให้ลดคาร์บอนโดยใช้อาหารเป็นเครื่องมือ เครื่องมือของเรา คือ Plant-based food ทำอย่างไรให้คนหันมาทาน Plant-based food ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ผ่าน 3 กลยุทธ์ ได้แก่ กลยุทธ์ที่ 1 สร้างฐานการผลิตในแต่ละภูมิภาคในลักษณะของ OEM โดยมีโรงงานที่อังกฤษ และโรงงานที่ร่วมกับ ปตท. ในประเทศไทย รวมถึงพันธมิตรที่สหรัฐอเมริกา กับ จีน
“ขณะเดียวกัน โควิด-19 สร้างอุปสรรคเยอะมาก อุตสาหกรรมการเดินเรือ วันนี้ค่าขนส่งขึ้นมา 10 เท่า เพราะฉะนั้น วิธีจะแก้ปัญหาได้ คือ ต้องผลิตในภูมิภาค เป็นกลยุทธ์ ที่ NRF ทำมาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว คือ การสร้างฐานผลิตในภูมิภาค ลดคาร์บอน ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินเรือ กระจาย Plant-based ทั่วโลก และลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์”
กลยุทธ์ที่ 2 ทำอย่างไรให้สามารถเป็นบริษัทที่ยั่งยืนและเป็นตัวอย่างให้บริษัทอื่น เราทำทั้งหมด 2 เรื่อง คือ พยายามเข้าไปทำงานร่วมกับหน่วยงานหรือองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อเอาสิ่งที่เราเจอปัญหา หรือเห็นโอกาส ไปพูดในเวทีต่างๆ ให้ทุกคนมาช่วยกันแก้ปัญหาในจุดเดียวกัน และ จัดตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไร “Root The Future” มีหน้าที่ให้ความรู้เรื่องปัญหาโลกร้อน และโปรโมตเรื่อง Plant-based food ทั้งในประเทศและเตรียมขยายไปยังประเทศอื่นด้วย
กลยุทธ์ที่ 3 การแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อนที่ต้นน้ำ ทำอย่างไรให้ซัพพลายเชนสามารถลดคาร์บอน เป้าหมายระยะยาว คือ ปลูกพืช โดยล่าสุดประกาศร่วมมือกับ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ Eastwater ทำโครงการ ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการปลูกสาหร่ายทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเคลป์ (Kelp) สาหร่ายสีน้ำตาลขนาดใหญ่ ซึ่งมีความสามารถในการดูดซับคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศผ่านระบบนิเวศทางทะเล หรือ Blue Carbon สามารถแปรรูปเป็นอาหาร และปุ๋ยชนิดพิเศษ เป็น Value Chain ที่ช่วยต่อสู้กับโลกร้อน สิ่งที่น่าสนใจ คือ สาหร่ายโตเร็ว และศักยภาพในการดูดซึมคาร์บอน หากเทียบกับไม้ยืนต้นสูงถึง 8-15 เท่า ไม้ยืนต้นใช้เวลาเป็นปีกว่าจะโต 1 ไร่สามารถดูดคาร์บอนได้ 1 ตัน ในขณะที่สาหร่าย 20 วันในการโต สามารถลดคาร์บอนได้ 8 ตันต่อไร่
- สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
ขณะที่เดียวกัน ปัจจุบันหลายประเทศให้ความสนใจในเรื่องของ “คาร์บอนเครดิต” ในมุมมองฐานะอุตสาหกรรมอาหาร “แดน” อธิบายว่า คาร์บอนเครดิตที่ต่างประเทศ จะแยกออกมาเป็น 2 รูปแบบ คือ ทำด้วยความสมัครใจ และในรูปแบบบังคับเช่นยุโรป ขณะที่ ในประเทศไทย มีเพียงการทำด้วยความสมัครใจ สำหรับ NRF สิ่งที่เราพยายามทำ คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุดด้วยเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นโซลาร์เซลล์ ลดพลังงาน แต่จะมาถึงจุดหนึ่งที่ไม่ว่าอย่างไรเราก็ปล่อยคาร์บอน 4,600 ตันต่อปีไม่สามารถลดไปกว่านี้ได้ วิธีการคือต้องไปซื้อคาร์บอนเครดิต 4,600 ตัน จากธุรกิจที่เขาลดคาร์บอนอย่างมิตรผล ทำให้เรามี “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutrality) ทันที
“คาร์บอนเครดิต สำคัญสำหรับธุรกิจโดยเฉพาะในต่างประเทศ ส่วนในประเทศไทยยังไม่ได้รับความสนใจมากเท่าที่ควร เพราะการลดคาร์บอนมีต้นทุน ประโยชน์ที่จะได้ยังจับต้องไม่ได้ เพราะไม่ได้มีใครบังคับว่าเราต้องทำ ในวันนี้ NRF มีต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งต้นทุนที่ซื้อคาร์บอนเครดิต ต้นทุนทีมความยั่งยืน ทำทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน แต่ว่าผลตอบรับตอนนี้ชัดเจนมาก คือ ลูกค้าให้ความสนใจ เพราะต่างชาติเขาให้ความสำคัญเรื่องนี้มากทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่จีนที่ต้องคอยจับตามอง”
แดน กล่าวต่อไปว่า ยุโรปมี Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) เป็นตัวที่ปรับประเทศ หรืออุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ บริษัท ที่ปล่อยคาร์บอนสูง เพราะเขามองว่าประเทศของเขาเขียว และวันนี้เขากำลังให้ประเทศที่ปล่อยคาร์บอนสูง และไม่สนใจเรื่องโลกร้อนให้สินค้าไหลเข้ามาไม่ถูกต้อง หากเอาหลักเศษฐศาสตร์ของโลก ตลาดที่ Healthy Market จะดูต้นทุนของอุตสาหกรรม สมมุติว่าทุน 80 บาท และมีทุนของการปล่อยคาร์บอน 20 บาท ดังนั้น ทุนคือ 100 บาท เพราะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย แต่นอก EU เขาเรียกว่า Unhealthy Market ต้นทุนอาจจะแค่ 80 บาท เพราะเขาไม่สนใจเรื่องโลกร้อนเลย ดังนั้น EU กำลังจะสร้างภาษีอีก 20 บาท เพื่อให้ต้นทุนเท่ากัน
“สิ่งที่เอกชนและอุตสาหกรรมไทยต้องทำ คือ หันมาดูคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของตัวเอง ดูคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำ และสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมข้าวปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ เพราะหากโดนภาษีส่งข้าวไปยุโรป โรงสีก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว คำถาม คือ เกษตรกรรายย่อยจะดูเรื่องคาร์บอนอย่างไร ต้องพูดคุยกันในระดับประเทศ และภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุน”
“ทั้งนี้ เป้าหมายของ NRF คือ ทำอย่างไรให้ลดคาร์บอนโดยใช้อาหารเป็นเครื่องมือ และเครื่องมือของเรา คือ Plant-based food ถัดมา คือ ต้นน้ำของ NRF ที่สามาถลดคาร์บอนได้ เช่น สาหร่าย ถั่วเขียว เป็นสิ่งที่เราพยายามทำ หลายคนถามว่าผมปลูกสาหร่ายไปทำไม ทำไมผมพยายามทำคาร์บอนเครดิต ความจริงแล้วทุกอย่างเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด” แดน กล่าวทิ้งท้าย