"เทคโนโลยี" ไอน้ำ ทางเลือกรักษา โรคต่อมลูกหมากโต

"เทคโนโลยี" ไอน้ำ ทางเลือกรักษา โรคต่อมลูกหมากโต

โรคต่อมลูกหมากโต เป็นโรคที่พบบ่อยในชายสูงวัย ซึ่งมีโอกาสพบได้ถึง 50% ในชายวัย 50 ปีขึ้นไป และ 70% ในวัย 60 ปีขึ้นไป หากมีอายุยืนยาวมากขึ้นถึง 85 ปีขึ้นไป ก็ยิ่งพบได้สูงขึ้นถึง 90% การรักษามีทั้งการกินยา ผ่าตัด และล่าสุด "เทคโนโลยี" ไอน้ำ ซึ่งเป็นทางเลือกให้ผู้ป่วย

โรคต่อมลูกหมากโต สัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่ผู้ป่วยชายที่มาพบแพทย์จะมีอายุ 50 ปีขึ้นไป มักจะมีอาการปัสสาวะไม่พุ่ง ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ ตื่นปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปัสสาวะเสร็จแล้วแต่รู้สึกไม่สุด เป็นต้น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยอาการและความรุนแรงของโรคของแต่ละคนจะแตกต่างกัน

 

“นพ.ธีระพล อมรเวชสุกิจ” แพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ยูโรวิทยาศูนย์ทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ผ่านระบบ Zoom เรื่อง “ผลความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ” โดยอธิบายว่า ในปี 2564 ประเทศไทยเข้าสู่ สังคมสูงวัย ซึ่งมีผู้สูงอายุประมาณ 20% ของประชากร ขณะเดียวกัน เมื่อประชากรอายุยืนขึ้น ปัญหาต่อมลูกหมากโตจะมากขึ้นในอนาคต

 

สาเหตุของต่อมลูกหมากโต ได้แก่ “อายุ” โดยปกติเริ่มตั้งแต่อายุ 40 ปี ยังไม่มีอาการ อายุ 50 ปี จะเริ่มมีอาการ และเมื่ออายุ 60 ปี อาการจะเริ่มชัดขึ้น นอกจากอายุแล้ว ยังมีปัจจัยด้าน “เชื้อชาติ” ในกลุ่มแอฟริกัน อเมริกัน บางชาติโตเร็วกว่าทางเอเชีย และ “อาหาร” โดยเฉพาะอาหารแนวตะวันตก

 

  • ระดับอาการต่อมลูกหมากโต

 

สำหรับอาการต่อมลูกหมากโต แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ต่อมลูกหมากเริ่มโตแต่ปัสสาวะยังคล่อง กระเพาะปัสสาวะเริ่มทำงานหนักขึ้น เริ่มปัสสาวะบ่อย ความลำบากในการปัสสาวะยังไม่เกิด

 

ขณะที่กลุ่มสอง ต่อมลูกหมากเริ่มโตขึ้น กระเพาะปัสสาวะทำงานด้วยความลำบากมากขึ้น เพราะต่อมลูกหมากบีบท่อไว้ให้แคบ เอื่อย ช้า ปัสสาวะไม่หมด เป็นสัญญาณหากทิ้งไว้กระเพาะปัสสาวะ จะเสียหาย

 

\"เทคโนโลยี\" ไอน้ำ ทางเลือกรักษา โรคต่อมลูกหมากโต

  • การรักษา

 

นพ.ธีระพล กล่าวต่อไปว่า ในการรักษามีตั้งแต่ กินยา เป็นทางเลือกแรกหากตอบสนองดี ผลข้างเคียง คือ วิงเวียน ความดันตก คัดจมูกทุกวันพบ 10% บางครั้งพบน้ำอสุจิหายไป 10-20% บางตัวทำให้ไม่มีกำลังหมดแรง สุดท้ายต้องตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยว่าวิธีใดเหมาะสมมากที่สุด ขณะที่คนไข้ส่วนใหญ่อยู่ในระดับกลางที่เหมาะสมจะใช้ไอน้ำ หรือบางคนที่อาการมากก็จะใช้ผ่าตัด

 

  • "เทคโนโลยี" ไอน้ำ รักษาต่อมลูกหมากโต

 

เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ศูนย์ทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้นำเทคโนโลยีการรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ (Water Vapor Therapy) มาใช้ ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2558 และได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย ในช่วงต้นปี 2564

 

เหมาะกับผู้ป่วยในกลุ่มที่มีต่อมลูกหมากโต ขนาด 30 – 80 กรัม โดยใช้เวลารักษา 10 – 15 นาที และผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เนื่องจากการรักษาจะต้องฉีดไอน้ำที่อุณหภูมิ 103 องศาเซลเซียส เข้าไปในต่อมลูกหมากประมาณ 4-6 ครั้ง ขึ้นอยู่กับขนาดของต่อมลูกหมาก การฉีดแต่ละครั้งใช้เวลาเพียง 9 วินาที ผู้ป่วยจะมีอาการแสบในท่อปัสสาวะเล็กน้อย หลังจากรักษา จะมีการให้ยาแก้ปวด และยาฆ่าเชื้อ

 

\"เทคโนโลยี\" ไอน้ำ ทางเลือกรักษา โรคต่อมลูกหมากโต

ในระยะแรกหลังการรักษา ต่อมลูกหมากจะบวม ทำให้ปัสสาวะไม่ออก แพทย์จึงต้องใส่สายสวนปัสสาวะชั่วคราวให้กับผู้ป่วย โดยเฉลี่ยจะสามารถถอดสายสวนออกได้ภายใน 1 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับขนาดของต่อมลูกหมาก หากขนาดโตมาก แพทย์ก็จะฉีดไอน้ำหลายครั้ง ทำให้ต่อมลูกหมากบวมมากขึ้นและอาจต้องใส่สายสวนปัสสาวะนานขึ้น ซึ่งร่างกายจะค่อยๆ กำจัดเซลล์ที่ตายออกตามธรรมชาติ ซึ่งปกติใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน จะเห็นผลการรักษาที่ดีได้อย่างเต็มที่

 

  • ผลการรักษาหลังติดตามผล 5 เดือน

 

ปัจจุบัน มีผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโตรักษาด้วยไอน้ำ จำนวน 65 ราย มีอายุระหว่าง 60-80 ปี ที่เข้ารับการรักษาในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ผู้ป่วยรู้สึกพึงพอใจผลการรักษาในระดับสูง ร้อยละ 70-95 ซึ่งแพทย์ได้มีการนัดติดตามผล จำนวน 53 ราย เพื่อประเมินผลลัพธ์หลังการรักษา 1 เดือน โดยภาพรวมการปัสสาวะของผู้ป่วยดีขึ้น ประกอบด้วย ผู้ป่วยสามารถปัสสาวะพุ่งแรงขึ้น และมีอัตราพุ่งแรงสูงสุดขณะปัสสาวะ เทียบระหว่างก่อนการรักษาอยู่ที่ 10.6 มิลลิลิตร/วินาที และหลังการรักษาเพิ่มขึ้นเป็น 22.5 มิลลิลิตร/วินาที

 

ผู้ป่วยรู้สึกปัสสาวะสุด โดยมีปริมาตรปัสสาวะคงเหลือลดลงเกือบ 3 เท่า (หรือ 90.7 -> 36.3 มิลลิลิตร) และมีปริมาณปัสสาวะในแต่ละครั้งมากขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 194 เพิ่มขึ้นเป็น 288 มิลลิลิตร, มีการเสียเลือดในปริมาณน้อยมาก คือ 0-10 มิลลิลิตร ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้จะเห็นผลชัดเจนหลังเข้ารับการรักษา 1 เดือน และเห็นผลสูงสุดตั้งแต่เดือนที่ 3 หลังจากการรักษา

 

\"เทคโนโลยี\" ไอน้ำ ทางเลือกรักษา โรคต่อมลูกหมากโต

 

  • ฟื้นตัวเร็ว ไม่ต้องนอน รพ.

 

“นพ.วิโรจน์ ชดช้อย” หัวหน้าศูนย์ทางเดินปัสสาวะ และแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ผลลัพธ์การรักษาในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวความสำเร็จของบำรุงราษฎร์ในการรักษาผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ ถือเป็นนวัตกรรมการแพทย์สมัยใหม่ที่ใช้กระบวนการรักษาเพียง 10-15 นาที โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ฟื้นตัวเร็ว มีความเสี่ยงต่ำ อวัยวะบอบช้ำน้อยทำให้สามารถกลับมาสู่สภาพทางสรีรวิทยาและกลับมาใช้งานได้เป็นปกติมากที่สุด และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางเพศหรือส่งผลน้อยมาก ที่สำคัญ วิธีนี้ยังสามารถใช้ได้กับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน หรือโรคอ้วน อีกด้วย

 

\"เทคโนโลยี\" ไอน้ำ ทางเลือกรักษา โรคต่อมลูกหมากโต

 

“การนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาต้องศึกษา ติดตามผลงาน หากดูการรักษาที่ผ่านมาคือ กินยา หากรักษาไม่ไหวก็ต้องผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดจะมีผลต่อการหลั่งน้ำเชื้อและเพศสัมพันธ์ บางคนจึงไม่ผ่าตัดเพราะมีปัญหาผลลัพธ์อื่นๆ ดังนั้น เทคโนโลยี จึงมาอยู่ตรงกลาง หากคนไข้ใช้ยาไม่ได้ผลมีผลข้างเคียง ก็สามารถเอาเทคโนโลยีมาใช้ได้ โดยที่ไม่มีผลข้างเคียงจากการผ่าตัด เป็นการผ่าตัดชนิดหนึ่งที่เป็นช่องทางธรรมชาติ ง่าย ผลลัพธ์ดี มีประสิทธิภาพ ไม่มีผลแทรกซ้อน หากทำตามมาตรฐาน มีการศึกษาในต่างประเทศ 5-6 ปี ในแง่ทฤษฎี เชื่อว่าวิธีนี้ได้ผล และในทางปฏิบัติก็ใช้ได้ดี นอกจากนี้ ยังเป็นเทคโนโลยีที่ไม่สลับซับซ้อนในทางปฏิบัติ แต่ต้องใช้ความชำนาญของแพทย์”

 

“อย่างไรก็ตาม การป้องกันไม่ให้เกิดโรคต่อมลูกหมากโต ถือเป็นเรื่องที่ลำบากเพราะเป็นไปตามอายุ มีปัจจัย เช่น ฮอร์โมนเพศชาย การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในผู้สูงวัย ซึ่ง 1 ใน 4 ของผู้สูงวัย จะมีต่อมลูกหมากเล็ก ไม่โต และไม่มีอาการ ขณะที่อีก 1 ใน 4 มีอาการต่อมลูกหมากโตคงที่ไม่มีอาการ ถัดมา 1 ใน 4 มีอาการเยอะจำเป็นต้องมาหาหมอ และ 1 ใน 4 ไม่มีอาการ ต่อมลูกหมากโตและไม่รู้ตัว กลุ่มนี้จะมีปัญหาตามมาเพราะจะกระทบต่อกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลต่อการทำงานของไต ทำให้ไตเสื่อม” นพ.วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์

 

\"เทคโนโลยี\" ไอน้ำ ทางเลือกรักษา โรคต่อมลูกหมากโต