ศิริราช จับมือ ดีเอ็นดีไอ วิจัยแนวทางรักษา "ไข้เลือดออก" ตั้งเป้า 5 ปี

ศิริราช จับมือ ดีเอ็นดีไอ วิจัยแนวทางรักษา "ไข้เลือดออก" ตั้งเป้า 5 ปี

คณะแพทย์ฯ ศิริราช ร่วมกับ ดีเอ็นดีไอ เพื่อพัฒนาป้องกัน รักษาที่สามารถเข้าถึงได้และมีประสิทธิภาพสำหรับโรคไข้เลือดออกเป็นระยะเวลา 5 ปี หลังพบยอดผู้ติดเชื้อ "ไข้เลือดออก" สูงถึง 390 ล้านรายต่อปี ในมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก

วานนี้ ( 27 ม.ค) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับองค์กรด้านการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับโรคที่ถูกละเลย (Drugs for Neglected Disease initiative (DNDi) หรือ ดีเอ็นดีไอ เพื่อการพัฒนาด้านการป้องกันและการรักษาที่สามารถเข้าถึงได้และมีประสิทธิภาพสำหรับโรคไข้เลือดออกเป็นระยะเวลาห้าปี

 

ด้วยข้อตกลงดังกล่าว ทำให้สถาบันการศึกษาด้านการแพทย์ชั้นนำของไทยแห่งนี้ได้กลายเป็นสมาชิกรายแรกในแผนงานความร่วมมือแบบภาคีระดับนานาชาติ นำโดยกลุ่มประเทศที่มีโรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่น โดยการอุทิศให้กับการวิจัยที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกันในการค้นหาและส่งมอบแนวทางการรักษาใหม่สำหรับโรคไข้เลือดออก

 

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แม้เราจะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ก็ตาม แต่เป็นเรื่องสำคัญที่เราไม่อาจเพิกเฉยในความพยายามที่จะต่อกรกับโรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนนับล้านคนทั่วโลกได้

 

 “หากกล่าวถึงโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยและที่เป็นปัญหาของประเทศไทยอันดับหนึ่งคือโรคไข้เลือดออก การกำจัดโรคนี้ให้หมดไปถือเป็นเป้าหมายของทุกองค์กร โดยเฉพาะหน่วยงานด้านสาธารณสุข ที่ศิริราชแม้ว่าเราจะมีการวิจัยและพัฒนาการรักษา รวมถึงความก้าวหน้าด้านวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก แต่ยังให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีพอ"

 

"ความร่วมมือกับดีเอ็นดีไอในครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการทำงานร่วมกับองค์กรระดับนานาชาติเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในสถานที่วิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใตรวมถึงการสนับสนุนในการควบคุมโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยอย่างถาวร” ศ. ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวเสริม

ไข้เลือดออก หรือ ไข้เดงกี่ โรคเขตร้อนที่ถูกละเลยโดยมีความเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง นับเป็นหนึ่งในสิบของภัยคุกคามต่อการสาธารณสุขทั่วโลกอาการของโรคสามารถพบได้ทั้งการมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดตามร่างกาย รวมถึงเจ็บกล้ามเนื้อ ข้อต่อ หรือกระดูก ด้วยความรุนแรงของอาการดังกล่าวนี้จึงทำให้ไข้เลือดออกเป็นที่รู้จักกันในบางประเทศว่า “ไข้กระดูกแตก” (Breakbone fever)

 

สำหรับไข้เลือดออกหรือที่เรียกว่า ไข้เลือดออกไวรัสเดงกี่ (dengue haemorrhagic fever) สามารถทำให้เกิดอาการช็อค เลือดออกภายใน อวัยวะล้มเหลว และเสียชีวิตได้

 

  • ทั่วโลก ติดเชื้อไข้เลือดออก 390 ล้านรายต่อปี 

 

ถึงกระนั้น แม้ว่าจะมียอดผู้ติดเชื้อ ไข้เลือดออก สูงถึง 390 ล้านรายต่อปี ในมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกก็ตาม หากแต่ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคไข้เลือดออกโดยเฉพาะ ซึ่งสิ่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นเหตุให้ผู้คนต้องทนทุกข์ทรมานจากการป่วยแล้ว ยังส่งผลต่อภาระที่เกินจะรับไหวทางระบบสาธารณสุขในพื้นที่เหล่านั้นอีกด้วยร้อยละ 70 ของภาระโรคไข้เลือดออกทั่วโลกอยู่ในทวีปเอเชียที่ซึ่งโรคไข้เลือดออกชนิดร้ายแรงได้กลายมาเป็นสาเหตุสำคัญในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตในเด็กและผู้ใหญ่ในหลาย ๆ ประเทศ

 

  • ไทยติดเชื้อ "ไข้เลือดออก" หลายหมื่นรายต่อปี

 

โดยประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโรคไข้เลือดออกหลายหมื่นรายในแต่ละปี โดยจะมีการระบาดหนักในทุก ๆ 2-3 ปี ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2562 ที่เกิดการระบาดของโรคอย่างกว้างขวางในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย โดยพบผู้ป่วยมากกว่า 131,000 ราย ความร่วมมือล่าสุดที่เกิดขึ้นนี้มีเป้าประสงค์ที่นำไปสู่การค้นพบวิธีการรักษาใหม่ที่จะช่วยเยียวยารักษาอาการของไข้เลือดออก ป้องกันไมให้โรคพัฒนาไปสู่ไข้เลือดออกชนิดร้ายแรง รวมถึงช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อระบบสาธารณสุขได้ด้วย

ดีเอ็นดีไอ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งดำเนินการมาอย่างยาวนานในเรื่องโครงการด้านการแพทย์ระดับนานาชาติ โดยการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมากมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของการแบ่งปันองค์ความรู้ ข้อมูล และวิทยาการต่าง ๆ ที่เท่าเทียมและรวดเร็ว รวมถึงงานด้านการระดมทุนช่วยเหลืออีกด้วย

 

“เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้มาร่วมกับเรา ถึงเวลาแล้วที่เราจำเป็นจะต้องยกประเด็นในเรื่องการป้องกันและการรักษาไข้เลือดออกอย่างมีประสิทธิภาพที่คนไข้ทุกคนสามารถจ่ายค่ารักษาและเข้าถึงได้ขึ้นมา และเพื่อให้งานนี้สำเร็จได้สิ่งสำคัญที่สุด คือ ประเทศที่มีไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่นจะต้องเป็นผู้นำ” ดร.เบอร์นาร์ด เปอคูว์ กรรมการบริหารดีเอ็นดีไอ (DNDi) เจนีวา และผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล กล่าว

 

การค้นหาวิธีการรักษานับว่าเป็นเรื่องสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เพราะไข้เลือดออกนั้นมีอัตราการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งมีการคาดการณ์เอาไว้ว่าจะไม่เพียงส่งผลให้สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในแหล่งที่เป็นโรคประจำถิ่นแย่ลงไปกว่าเดิมแล้ว เรายังจะเห็นการแพร่กระจายของโรคนี้ในพื้นที่ซึ่งไม่เคยได้รับผลกระทบจากโรคนี้อีกด้วย

 

  • ไข้เลือดออก เพิ่มขึ้น 85%

 

ตัวเลขอุบัติการณ์ของโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 85 นับแต่ปี 2533 จนถึงปี 2562 โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปถูกทำนายไว้ว่าจะทำให้เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมีการขยายตัวได้ไวขึ้น รวมถึงอัตราการรอดชีวิต การขยายพันธุ์ และการเกาะกัดของยุงที่เป็นพาหะของโรคด้วย มีการคาดการณ์ถึงจำนวนผู้ที่มีความเสี่ยงกับโรคไข้เลือดออกว่าจะแตะร้อยละ 60 ของจำนวนประชากรโลกภายในปี 2623 ด้วยสาเหตุจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง การเดินทางที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว และการเติบโตทางด้านประชากร

 

ข้อตกลงครั้งนี้ระหว่าง ดีเอ็นดีไอ และ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จะนำมาซึ่งความร่วมมือในโครงการศึกษาต่าง ๆ ที่จะต่อยอดการศึกษาวิจัยขั้นก่อนคลินิกในด้านวิธีการรักษาที่มีความเป็นไปได้ การทดสอบประสิทธิผลของยาชนิดเก่าที่นำมาใช้รักษาโรคใหม่ (repurposed drug) และการดำเนินการทดลองทางคลินิกของยาที่มีแนวโน้มที่ดีที่สุดในการรักษา 

 

  • เสริมการวิจัยทางคิลินิก

 

ในขณะเดียวกัน ความร่วมมือครั้งนี้ยังจะช่วยลดช่องว่างด้านความรู้และช่วยส่งเสริมให้การทำวิจัยทางคลินิกและการอนุมัติข้อกำหนดต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการระบุถึงความต้องการที่แท้จริงของโรคไข้เลือดออกอย่างเช่นการตรวจวินิจฉัยโรค พันธมิตรทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันเพื่อระดมทุนและทรัพยากรต่าง ๆ ขณะที่แบ่งปันความรู้ทางงานวิจัยอย่างเปิดเผยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น

 

อนึ่ง ดีเอ็นดีไอ กำลังอยู่ในขั้นตอนการลงนามข้อตกลงที่คล้ายคลึงกันนี้กับประเทศอินเดีย และกำลังมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็วในการเจรจากับประเทศมาเลเซียและบราซิลเพื่อพัฒนาด้านการบำบัดรักษา ขณะเดียวกัน อีกหลายประเทศในทวีปแอฟริกาได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและกานาที่จะเริ่มการศึกษาด้านระบาดวิทยา อันจะช่วยให้เข้าใจโรคไข้เลือดออกในพื้นที่เหล่านี้ได้อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น