"คลัสเตอร์" สถานศึกษาโผล่ 11 จ. โรงเรียนหญิงล้วน "ราชบุรี" ติดเชื้อ 311 ราย
ศบค. รายงาน พบ "คลัสเตอร์" สถานศึกษา กระจายกว่า 11 จังหวัด โรงเรียนหญิงล้วน "ราชบุรี" พบติดเชื้อรวมกว่า 311 ราย ย้ำโรงเรียน สถานศึกษา เข้ม 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้มงวด
วันนี้ (28 ม.ค. 65) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. รายงาน
10 จังหวัดติดเชื้อ โควิด-19 สูงสุดรายวัน พบว่า
- อันดับ 1 ยังเป็น กทม. อยู่ที่ 1,292 ราย ลดลงจากวานนี้
- รองลงมา ได้แก่ สมุทรปราการ
- นนทบุรี
- ชลบุรี
- ภูเก็ต
- ปทุมธานี
- ราชบุรี
- นครราชสีมา
- ศรีสะเกษ
- ลพบุรี
"จังหวัดที่เป็นกลุ่มการติดเชื้อที่แนวโน้มเพิ่มขึ้นยังอยู่ที่ กทม. ปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวทั้งพื้นที่สีฟ้าทั้งจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่เปิดในบางอำเภอ จะมีการรายงานติดเชื้อมากกว่าพื้นที่อื่น"
- "คลัสเตอร์" ระบาดต่อเนื่อง
ในส่วนของการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนหรือ คลัสเตอร์ ยังพบในร้านอาหาร โรงเรียน ตลาด โรงงาน สถานประกอบการ พิธีกรรมทางศาสนา อย่างที่เน้นนย้ำว่ามีรายงานต่อเนื่อง งานแต่งงาน น่าน จันทบุรี สระบุรี , งานบวช ร้อยเอ็ด
"เน้นย้ำเสมอว่าการจัดพิธีกรรมไม่ได้เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ แต่หลังพิธีกรรมมักจะมีการจัดเลี้ยงอาหาร เปิดหน้ากาก ใกล้ชิด ล้อมวง ทำกิจกรรมรับประทานอาหาร หรือเล่นพนันหลังจัดงาน ฝากไปยังจังหวัดในการเข้มงวดการรวมกลุ่มรับประทานอาหาร การจัดงาน เลี้ยงที่มีการคลุกคลี สังสรรค์ ที่มีคนจำนวนมาก" พญ.อภิสมัย กล่าว
- คลัสเตอร์สถานศึกษา 11 จังหวัด
ในส่วนของ คลัสเตอร์สถานศึกษา ได้แก่
- ราชบุรี
- น่าน
- เพชรบุรี
- ปราจีนบุรี
- สระแก้ว
- ร้อยเอ็ด (นักเรียนโรงเรียนกีฬา)
- สมุทรปราการ
- หนองคาย
- ยโสธร
- เลย
- ศรีสะเกษ
โรงเรียนที่พบการติดเชื้อ มีตั้งแต่อนุบาล ก่อนวัยเรียน สถานศึกษารัฐ เอกชน โรงเรียนประจำ โรงเรียนกีฬา โรงเรียนมัธยมศึกษา
- ปัจจัยเสี่ยง รวมกลุ่ม ทำกิจกรรม
สิ่งที่สำคัญ คือ แต่ละโรงเรียนที่พบรายงานการติดเชื้อกลุ่มก้อน เมื่อสาธารณสุขลงตรวจสอบ ทุกโรงเรียนมีมาตรการเข้มงวด และมีบุคลากรที่ฉีดวัคซีนค่อนข้างครบถ้วน แต่ปัจจัยเสี่ยง คือ การรวมกลุ่ม เช่น กีฬา ปัจฉิมนิเทศ มีการรับประทานอาหารร่วมกัน ถ้วยเดียวกัน ลักษณะร่วมกับปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อ เช่นเดียวกับ พิธีกรรมทางศาสนา หรือการจัดงานเลี้ยง งานบวช งานแต่ง
- รร.หญิงล้วน "ราชบุรี" ติดเชื้อ 311 ราย
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า มีการวิเคราะห์โรงเรียนในจังหวัดราชบุรี เป็นโรงเรียนประจำหญิงล้วน ตอนนี้คลัสเตอร์เดียว รายงานยืนยันของ สสจ. ราชบุรี ติดเชื้อรวม 311 ราย โดยเป็นกรณีที่โรงเรียนประจำอนุญาตให้กลับบ้านปีใหม่ และกลับมา 14 – 16 ม.ค. 65 เมื่อนักเรียนกลับมาจากสถานที่แตกต่างกัน
นักเรียนทั้งหมด 570 ราย โรงเรียนมีการตรวจ ATK เบื้องต้น ผลเป็นลบทั้งหมดรวมทั้งครู แต่เมื่อมีการตรวจครั้งที่ 2 ในวันที่ 23 ม.ค. 65 พบผลบวก 120 ราย ซึ่งโรงเรียนมีแผนปฏิบัติการฉุกเฉิน โดยแจ้งไปยัง สสจ. จังหวัด ซึ่งมีการส่งทีมควบคุมโรคไปให้ความช่วยเหลือ คัดแยกผู้ป่วย แยกกัก ผู้ที่มีสัมผัสเสี่ยงสูงทันที และมีการลงเก็บตัวอย่าง RT-PCT ตั้งแต่ 24 ม.ค. เป็นต้นมาและรายงาน ล่าสุด 311 ราย จากจำนวนทั้งสิ้น รวมครู 6 ท่านเป็น 576 ราย
ซึ่งในวันนี้ สสจ. ราชบุรี รายงานว่า นักเรียนได้รับการรักษาแล้ว 26 รายที่โรงพยาบาล และมี 285 รายเข้ารักษาในรพ.สนาม เบื้องต้นมีมาตรการปิดโรงเรียน ทำความสะอาด สอบสวนโรค และจัดการตามมาตรการที่เหมาะสม
- ATK เกิดผลลวงไม่เกิน 10%
ทั้งนี้ มีคำถามว่า ATK มีความแม่นยำเพียงพอหรือไม่ พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ต้องเน้นย้ำว่า ATK มีความสำคัญ แต่ต้องพึงระวังว่าสามารถเกิดผลลบลวงไม่เกิน 10% อยู่ที่ 5-7% หมายถึงว่าผู้ป่วยมีเชื้อในร่างกายแล้วแต่การตรวจ ATK ยังไม่ไวพอทำให้ผลเป็นลบ
ทาง สธ. แนะนำว่า แม้จะตรวจ ATK เป็นลบแต่หากสำรวจประวัติเดินทางมาจากหลากหลายพื้นที่ มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก หรือประวัติสัมผัสผู้เคยมีความเสี่ยง หรือเคยติดเชื้อ ขอให้กักตัว คล้ายกับมาตรการสถานประกอบการ โรงงาน ที่ต้องมีการแยกกักก่อน
และหากมีผล ATK เป็นบวก เรียกว่าท่านเป็นผู้ติดเชื้อเข้าข่าย มีคำแนะนำให้กักตัว 7 วัน สังเกตอาการตนเอง พอวันที่ 8-10 แม้จะผลเป็นลบ ก็อนุญาตให้ทำงานได้แต่ยังต้องแยกพื้นที่กับผู้อื่น มีการเฝ้าระวังมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล และไม่ไปในที่สาธารณะ เลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะช่วงหนาแน่น
- ย้ำสถานศึกษาปลอดโควิด
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า การรายงานคลัสเตอร์โรงเรียนต่อเนื่อง อาจทำให้ผู้ปกครองเกิดความลังเล ไม่มั่นใจที่จะให้ลูกหลานไปโรงเรียน สธ. และ ที่ประชุม ศปก. ศบค. มีความเป็นห่วง ต้องเน้นย้ำว่า เรายังต้องอยู่ร่วมกับโควิดอีกสักระยะ แม้นโยบายต่างประเทศและ WHO ใช้มาตรการอยู่กับโควิดให้ได้
โดยศบค.ชุดใหญ่มีแนวโน้มทิศทางผ่อนคลาย มาตรการต่างๆ มากขึ้น ไม่ใช่เพราะความเสี่ยงลดลง ความเสี่ยงยังคงมี โควิดยังคงอยู่ แต่เราจำเป็นต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพี่น้องประชาชนดำเนินชีวิตใกล้เคียงปกติมากที่สุด ดังนั้น ในส่วนของ กระทรวงศึกษาธิการ และ ผอ.ศปก.ศบค. มีการหารือร่วมกันอย่างเร่งด่วนในการติดตามมาตรการสถานศึกษาปลอดโควิด
- 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม
สำหรับมาตรการมีอยู่แล้วแต่ต้องนำไปเข้มงวด กำกับให้ชัดเจน หลักๆ ได้แก่
6 มาตรการหลัก
- เว้นระยะห่าง
- สวมหน้ากากอนามัย
- ล้างมือ
- คัดกรองวัดไข้
- ลดการแออัด
- ทำความสะอาด
6 มาตรการเสริม
- ดูแลตนเอง
- ใช้ช้อนกลางส่วนตัว
- กินอาหารปรุงสุกใหม่
- ลงทะเบียนเข้าออก
- สำรวจตรวจสอบ
- กักกันตัวเอง
- 7 มาตรการเข้มงวด
- ประเมิน TSC+ และรายงานผลผ่าน MOE COVID ต่อเนื่อง
- Small Bubble ทำกิจกรรมแบบกลุ่มย่อยไม่ทำกิจกรรมข้ามกลุ่ม
- อาหาร ตามหลักสุขาภิบาลอาหารและโภชนาการ
- อนามัยสิ่งแวดล้อม ตามเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งอากาศ ความสะอาด น้ำ ขยะ
- School Isolation มีแผนเผชิญเหตุและซักซ้อมอย่างเร่งครัด
- Seal Route ดูแลการเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน
- School Pass สำหรับทุกคนในสถานศึกษา
"การติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์มาจากการทำกิจกรรม ขอให้โรงเรียนจัดมาตรการซีล เช่น โรงงานหากมีหลายแผนก ก็จะมีพื้นที่รับประทานอาหารเฉพาะแผนก เมื่อเกิดการติดเชื้อก็จะไม่ทำให้ฝ่ายอื่นปิดไปด้วย ตรงนี้ช่วยได้เพราะบางทีพบนักเรียนติดเชื้อ 2-3 รายไม่มีความจำเป็นต้องปิดทั้งโรงเรียน มาตรการตรงนี้คาดว่า สธ. และ ศธ. มีคู่มืออยู่แล้ว ต้องช่วยกันกำกับให้เข้มงวดมากขึ้น ขอความร่วมมือพ่อแม่ผู้ปกครองการร่วมด้วยช่วยกัน จะทำให้เด็กๆ ได้กลับเข้าโรงเรียนและสนับสนุนพัฒนาการที่ดีของเด็กต่อไป" ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าว