โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว กับคำถามผลต่อเนื่อง 7 ข้อที่จะเกิดขึ้น

โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว กับคำถามผลต่อเนื่อง 7 ข้อที่จะเกิดขึ้น

โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว กับผลต่อเนื่อง 7 ข้อที่จะเกิดขึ้น หลัง คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแนวทางการพิจารณาให้โรคโควิด-19เป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease)

วันที่ 28 มกราคม 2565 "หมอธีระวัฒน์" นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความระบุถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณาเห็นชอบให้โควิด-19 เป็น "โรคประจำถิ่น" แล้ว

 

 

โดย หมอธีระวัฒน์ เผยว่า ทางการสั่งให้โควิดเป็น "โรคประจำถิ่น" แล้ว ผลต่อเนื่องจากนี้หมายความว่า

 

  • โควิดไม่ได้อยู่ในโรคติดต่ออันตราย?
  • ไม่ต้องมีการตรวจคัดกรองแยกกักตัว?
  • ไม่ต้องมีการรายงาน?
  • ถ้าเป็นการรักษา ต่อไปนี้ใช้สิทธิ์ของแต่ละคน เช่น ใช้บัตรทอง?
  • ไม่ต้องมีการชดเชยการประกอบธุรกิจค่าเสียหาย?
  • การตรวจใดๆ เป็นการตรวจที่ต้องเสียเงินเอง?
  • วัคซีนที่ใช้อยู่เป็นวัคซีนที่ออกมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งสิ้น

 

และปัจจุบันในประเทศไทยยังสามารถเรียกร้องค่าชดเชยผลกระทบจากวัคซีนได้ จาก สปสช. แล้วต่อจากนี้ยังสามารถรับค่าชดเชยได้หรือไม่?

 

โดยที่จนกระทั่งถึงวันที่ 28 มกราคม 2565 มีผู้ยื่นคำร้อง 13,825 รายเข้าเกณฑ์ 10,544 ราย และมีที่อยู่ในระหว่างพิจารณาในรายที่เหลือและที่มีอุทธรณ์

 

ทั้งนี้ ได้รับเงินชดเชยไปแล้ว 1,205,538,900 บาท และมีเสียชีวิต 20.56%

 

 

ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่(27 ม.ค.2565) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายก รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565

 

โดยนายอนุทิน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ คงที่เฉลี่ยวันละ 7,000-9,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ความรุนแรงของโรคน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า ทำให้มีผู้ป่วยหนักต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตลดลง ซึ่งมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ยังสามารถควบคุมป้องกันโรคได้ดี ในวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจึงได้หารือใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ

 

1.เห็นชอบแนวทางการพิจารณาให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) โดยมีหลักเกณฑ์และค่าเป้าหมาย เช่น ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 ราย/วัน อัตราป่วยตาย น้อยกว่าร้อยละ 0.1 การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล น้อยกว่าร้อยละ 10 และประชาชนมีภูมิต้านทานเพียงพอ กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงได้วัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่าร้อยละ 80 เป็นต้น ซึ่งหากสถานการณ์เหมาะสมและเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด กระทรวงสาธารณสุขจะมีการประกาศแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

 

2.เห็นชอบหลักการและแนวทางการดำเนินงานคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ เพื่อให้บริการวัคซีนสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เพื่อให้บริการวัคซีนโควิด และวัคซีนในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่มีความจำเป็น

 

หลักการของโรคประจำถิ่นดังกล่าวต้องแปลงเป็น 3 หลัก

 

1.อัตราป่วยเสียชีวิตไม่เกิน 1 ต่อ 1,000  คน  ต้องบริหารจัดการไม่ให้เกินอัตรา ถ้าเกินก็แสดงว่ายังรุนแรง 

2.มีการสร้างเสริมให้คนมีภูมิต้านทานมากขึ้น ด้วยการฉีดวัคซีนซึ่งสำหรับโอมิครอน ถ้าได้รับวัคซีน 2 เข็ม 80% ก็ถือว่ามีภูมิต้านทานพอสมควรแล้ว

และ 3.ประสิทธิภาพการดูแลรักษาพยาบาล ซึ่งจะดูความสอดคล้องการระบาดที่จะต้องเป็นระบาดทั่วไป ที่เป็นประจำถิ่นด้วย แต่ปัจจุบันยังเป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก และโรคติดต่ออันตราย

 

ซึ่งเมื่อมีกรอบหลักเกณฑ์แล้ว สธ.ก็จะไปจัดทำแนวทาง และแผนงานเพื่อบริหารจัดการให้เป็นไปตามเกณฑ์ ก่อนจะประกาศเป็นโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อทั่วไปที่จะเข้าสู่ "โรคประจำถิ่น"