หุ้นกู้แสนสิริ 100 ลบ. แก้ "ความเหลื่อมล้ำ" เด็กทุกคนต้องได้เรียน

หุ้นกู้แสนสิริ 100 ลบ. แก้ "ความเหลื่อมล้ำ" เด็กทุกคนต้องได้เรียน

"แสนสิริ" จับมือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระดมทุนผ่านหุ้นกู้แสนสิริ 100 ล้านบาท สร้างความเปลี่ยนแปลงประเทศ ลดปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ผ่านโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน”

โอกาสทางการศึกษาของไทยยังมี "ความเหลื่อมล้ำ" ในปี 2564 มีเด็กยากจนกว่า 1.9 ล้านคน จากทั้งหมด 9 ล้านคน ที่เสี่ยงหลุดระบบการศึกษา เนื่องจากครอบครัวยากจน และจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ การศึกษาไทยยิ่งต้องเผชิญกับปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาที่ทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากหลายครอบครัว มีรายได้ลด ถูกเลิกจ้าง และปัญหาเรื่องขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน คอมพิวเตอร์ ฯลฯ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กหลายคนหลุดออกนอกระบบการศึกษา

 

บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มุ่งมั่นส่งเสริมเรื่องความเสมอภาค เท่าเทียม และเข้าถึงได้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย เปลี่ยนระบบการศึกษาไทยให้เด็กหลุดระบบการศึกษาต้องเป็น “ศูนย์” เปิดโครงการ “Zero Dropout” การระดมทุนผ่าน หุ้นกู้ แสนสิริ 100 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี เพื่อรวมพลังสร้างประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงประเทศของคนไทย สถานการณ์การศึกษาไทย ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงและแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด ผ่านโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน”

 

  • นำร่อง ราชบุรีโมเดล 

 

ทั้งนี้ โครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” จะเริ่มดำเนินการแห่งแรก ที่จังหวัด ราชบุรี จากข้อมูล กสศ. พบว่า มีเด็กที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษากว่า 11,200 คน เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ใน จ.ราชบุรี แบ่งเป็น 

 

  • เด็กปฐมวัย 3-5 ปี กว่า 66% 
  • เด็กประถมศึกษา 6-11 ปี กว่า 26% 
  • เด็กมัธยม 12-15 ปี กว่า 8%

 

หุ้นกู้แสนสิริ 100 ลบ. แก้ \"ความเหลื่อมล้ำ\" เด็กทุกคนต้องได้เรียน

"ดร.ไกรยส ภัทราวาท" ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในงาน แถลงข่าวโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” ผ่านระบบ Zoom โดยระบุว่า โจทย์ที่ท้าทาย โจทย์แรก คือ เราต้องการให้เด็กทุกคนกลับเข้าระบบการศึกษา จากข้อมูล จ. ราชบุรี พบว่า มีเด็กกว่าหมื่นคนที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาชั้นใดชั้นหนึ่ง ดังนั้น ต้องค้นหาและเอากลับเข้าระบบการศึกษา

 

โจทย์ข้อสอง คือ กลับเข้ามาแล้ว ทำอย่างไรไม่ให้หลุดซ้ำ  ดังนั้น ต้องมีระบบดูแลช่วยเหลือในโรงเรียน โดยสนับสนุนในเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ สนับสนุนชุมชน ทำงานร่วมกับโรงเรียน สร้างระบบนิเวศ ไม่ให้เด็กหลุดและส่งต่อให้สูงที่สุด

 

โจทย์ข้อที่สาม ไม่อยากให้เรื่องนี้ เริ่มที่ราชบุรีและจบที่ราชบุรี อยากให้ขยายโมเดล ต้องมีการพัฒนากลไกจังหวัดเพื่อความยั่งยืน ดังนั้น 3 ปีหลังจากความร่วมมือสิ้นสุด จะมีอีกกลุ่มที่ทยอยหลุดออกมาหรือไม่ จำเป็นต้องสร้างกลไกร่วมกับ เอกชนในราชบุรี โดยมีแพลตฟอร์ม ในการระดมทรัพยากรต่อยอดเพิ่มเติม และสร้างนโยบายสาธารณะ ไม่ว่าจะท้องถิ่น และระดับประเทศ สามารถนำไปขยายผลที่อื่นได้เช่นกัน

 

  • เด็กกว่า 1.9 ล้านคน เสี่ยงหลุดระบบ

 

ดร.ไกรยส กล่าวต่อไปว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ของไทยเรามีต้นทุนเดิมตั้งแต่ก่อนโควิด เรามีเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในวัยเรียนปฐมวัยถึงมัธยมศึกษากว่า 1.9 ล้านคน แต่เดิมก่อนโควิดก็มีปัญหารายได้น้อย ความขาดโอกาสต่างๆ พอสถานการณ์โควิด ทำให้สร้างความเสี่ยงให้เด็กหลุดออกมาอีก

"เป็นความท้าทายในการทำให้เขากลับเข้าระบบการศึกษา เด็กที่ยังไม่หลุด ต้องเรียนออนไลน์ แต่อุปกรณ์ไม่พร้อม ทำให้เสี่ยงหลุด กสศ. จึงพยายามเป็นกลไกเหนี่ยวนำความร่วมมือ สร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน ปวงชนเพื่อการศึกษา เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้ โจทย์เรื่องของเด็กนอกระบบ เป็นเรื่องซับซ้อน เด็กมีต้นตอความเหลื่อมล้ำไม่เหมือนกัน ปัจจัยมีความหลากหลายมาก"  

 

  • สร้างกลไก ร่วมกันทุกฝ่าย

 

"ทั้งนี้ กสศ. ทำงานโดยการใช้ข้อมูลรายบุคคลและรีพอร์ตข้อมูลบนเว็บไซต์ ที่ผ่านมา เงินงบประมาณ กสศ. 4,000 - 5,000 ล้านบาทต่อปี ที่ถึงมือเด็ก จะมีการรายงาน โครงการนี้ก็เช่นกัน ทั้งหมดจะเป็นการใช้ระบบสารสนเทศ เรามีการพูดคุยกับมหาวิทยาลัย ผู้ว่าราชการจังหวัด และกลไกในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในตรงนี้ และเงินที่ไปถึงมือเด็ก ต้องมีหลักฐานการรับเงิน ทุกอย่างตรวจสอบได้

 

  • หุ้นกู้ 100 ล้านบาท ลดความเหลื่อมล้ำ

 

ด้าน "เศรษฐา ทวีสิน" ประธานอำนวยการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เผยที่มาของโครงการ “Zero Dropout” ว่า ในฐานะภาคเอกชนที่มีลูกหลาน และเห็นถึงปัญหาของการศึกษาไทย ทำอย่างไรให้เป็นส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เมื่อกลางเดือน ธ.ค. 64 มีการพูดคุยกับ กสศ. เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ

 

"แสนสิริ ทำงานด้านเด็กและเยาวชนร่วมกับยูนิเซฟมากว่า 10 ปี พอบริษัทใหญ่ขึ้น จึงมองว่าควรทำอะไรที่ใหญ่ขึ้น หากประเทศชาติไปได้ สังคมแข็งแกร่ง ธุรกิจก็จะดำเนินหน้าได้ดี การศึกษาไทยมีปัญหา ทางออกทางแก้ค่อนข้างซับซ้อน กสศ. จึงให้ไอเดียว่า แสนสิริในฐานะภาคธุรกิจ มีส่วนร่วมในการช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้"

 

ลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท ดอกเบี้ย 3.2% 

 

สำหรับ หุ้นกู้ "แสนสิริ" มูลค่า 100 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.2% รับดอกเบี้ยทุก 3 เดือนตลอดอายุหุ้นกู้ ระดมทุนผ่าน SME Easy app อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ BBB+ ลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท เพื่อใช้ในการช่วยเหลือเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยจะเริ่มขายในวันที่ 15 – 18 ก.พ. 65 

 

"เศรษฐา" กล่าวต่อไปว่า เหตุผลที่เลือก จ.ราชบุรี เป็นจังหวัดนำร่อง เนื่องจาก 100 ล้านบาท อาจไม่เพียงพอในจังหวัดใหญ่ จึงสร้าง ราชบุรีโมเดล เป็นจังหวัดที่มีขนาดเหมาะสม มีข้อกำหนด คือ ต้องเป็นจังหวัดที่แสนสิริไม่มีโครงการอยู่ และเดินทางสะดวกจาก กทม. การมีส่วนร่วมไม่ว่าจะพนักงาน คู่ค้า เป็นสิ่งสำคัญ

 

"อยากให้ทุกคนเห็นปัญหา ระยะเวลา 3 ปี ปัญหามีการแก้ไข และมีผลสำเร็จ เห็นรอยยิ้มของผู้ปกครอง เป็นแรงบันดาลใจให้ราชบุรีโมเดล กระจายไปยังจังหวัดอื่นๆ ได้ เพื่อนำไปสู่ทั้งประเทศว่าเป็น Zero Dropout”

 

ทั้งนี้ ประเด็นปัญหาสังคม ในฐานะบริษัทที่มีธุรกิจปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นหน้าที่ของเรา หากช่วยกันได้ก็ต้องช่วย หลายวงการไปไม่ได้หากประเทศไปไม่ได้ หากรากฐานเศรษฐกิจ คือ การศึกษาไม่แข็งแกร่ง เศรษฐกิจก็ไม่ยั่งยืน อย่าเกี่ยงกันทำ อันไหนทำไหวก็ช่วยกัน

 

"สำหรับเป้าหมายในการขยายในอนาคต หากเศรษฐกิจดีขึ้น มีผลตอบแทนที่ดีขึ้น จะมีการทำงานร่วมกับ กสศ. ว่ามีจังหวัดไหนที่ต้องการความช่วยเหลือต่อไป" เศรษฐา กล่าวทิ้งท้าย