‘ม.นิวยอร์ก’ เปิดสอนวิชา ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ ศึกษาตัวตน ความสำเร็จ และปรากฏการณ์ทางสังคม

‘ม.นิวยอร์ก’ เปิดสอนวิชา ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ ศึกษาตัวตน ความสำเร็จ และปรากฏการณ์ทางสังคม

เปิดสอนแล้ววันนี้ วิชา “เทย์เลอร์ สวิฟต์” ศึกษา ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ว่าด้วยตัวตน วาทกรรม ทัศนคติ มุมมองของเทย์เลอร์ สวิฟต์ที่มีต่อเรื่องต่าง ๆ โดยมีผู้สนใจเข้าเรียนเป็นจำนวนมาก

"สถาบันดนตรีไคลฟ์ เดวิส" (Clive Davis Institute of Recorded Music) แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ในสหรัฐ ได้เปิดหลักสูตรวิชา “เทย์เลอร์ สวิฟต์” (Taylor Swift) สอนโดย “บริทานีย์ สแปนอส” (Brittany Spanos) คอลัมนิสต์จากนิตยสารโรลลิง สโตน เริ่มเรียนเมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมา จนถึง 9 มี.ค.นี้ และคอร์สได้เต็มแล้วเป็นที่เรียบร้อย

รายวิชานี้จะสอนถึงวิวัฒนการทางดนตรีของเทย์เลอร์, วิธีการแต่งเพลงคันทรีและเพลงป๊อปที่ทำให้ประสบความสำเร็จ, วาทกรรมของเทย์เลอร์ที่แสดงให้ถึงการถูกเอารัดเอาเปรียบในวงการเพลงและสื่อ, และปัญหาการเมืองทางเชื้อชาติในวงการเพลงป๊อปผ่านแนวคิดทางการเมือง การแต่งเพลง โลกทัศน์ และการมีปฏิสัมพันธ์ต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมของเทย์เลอร์ สวิฟต์

คำบรรยายรายวิชาระบุว่า “รายวิชานี้เป็นการแยกโครงสร้างทั้งความน่าดึงดูดและความเกลียดชังของเทย์เลอร์ สวิฟต์ ผ่านการศึกษาทางด้านงานเพลงและวาทกรรมของเธอในฐานะศิลปินและคนดัง

รวมถึงการวิเคราะห์วัฒนธรรมและการเมืองของผู้หญิงในวงการเพลงป๊อป กลุ่มแฟนคลับ สื่อมวลชน ความเป็นคนขาว และพลังอำนาจ ที่เกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์ของเธอ และภาพลักษณ์ของเธอในช่วงก่อนและหลังประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเรื่องลิขสิทธิ์และความเป็นเจ้าของในชิ้นงาน ลัทธิชาตินิยมอเมริกัน และผลกระทบอย่างต่อเนื่องของโซเชียลมีเดียที่มีต่ออุตสาหกรรมเพลงป๊อป”

ขณะเดียวกัน จะมีการเชิญเทย์เลอร์มาบรรยายในชั้นเรียนด้วย แต่เทย์เลอร์ยังไม่ได้ตอบรับคำเชิญ

เจสัน คิง” (Jason King) ผู้บริหารสถาบันดนตรีไคลฟ์ เดวิส กล่าวกับนิตยสาร Variety ว่า เขาตกลงที่จะเปิดคอร์สนี้ทันที หลังจากบริทานีย์เสนอ เธอเป็นแฟนตัวยังของเทย์เลอร์ แต่เธอเข้าใจวิธีการสร้างบริบททางวัฒนธรรมของเทย์เลอร์ และสามารถช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจในเพลงและตัวตนของเทย์เลอร์ผ่านเลนส์ของเพศ สตรีนิยม เชื้อชาติ อัตลักษณ์ และการจัดประเภท ซึ่งเป้าหมายของคลาสนี้คือการให้ผู้เรียนได้ใช้การคิดในเชิงลึก (Deeper Thinking)

ขณะที่ บริทานีย์กล่าวว่า ความฝันของเธอตั้งแต่สมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กคือการได้กลับมาสอนที่นี่ เธอเป็นแฟนคลับของเทย์เลอร์มานานเป็นสิบปีแล้ว เธอจึงรู้สึกเป็นเกียรติที่จะได้แบ่งปันข้อมูลและสิ่งที่เทย์เลอร์ทำให้แก่ผู้เรียนของเธอ 

เทย์เลอร์ สวิฟต์ เป็นหนึ่งในศิลปินที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้ ชนะรางวัลแกรมมี่ อวอร์ด (Grammy Awards) 11 ครั้ง และเป็นศิลปินที่ชนะรางวัลใหญ่อย่าง อัลบั้มแห่งปี (Album of the Year) มากที่สุด ถึง 3 ครั้ง เป็นศิลปินที่ชนะรางวัลอเมริกัน มิวสิค อวอร์ด (American Music Awards) สูงสุดถึง 34 รางวัล อีกทั้งยังศิลปินหญิงที่ชนะรางวัลบิลบอร์ด มิวสิค อวอร์ด (BillBoard Music Awards) มากที่สุดถึง 25 รางวัล และเป็นเจ้าของบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ (Guinness World Records) 55 รายการ

ปัจจุบัน เทย์เลอร์ออกอัลบั้มมาทั้งหมด 9 อัลบั้ม และรีเรคอร์ด 2 อัลบั้ม ทำยอดขายไปได้กว่า 114 ล้านอัลบั้มทั่วโลก และมียอดฟังเพลงผ่านบริการสตรีมมิงต่าง ๆ รวมกันกว่า 76,000 ล้านครั้ง

"All Too Well" เพลงล่าสุดของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ กลายเป็นเพลงที่ยาวที่สุดที่สามารถขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ต BillBoard Hot 100 

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งที่แรกมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เปิดคอร์สศึกษาเกี่ยวกับคนดังหรือวัฒนธรรมสมัยนิยม ก่อนหน้ามหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เปิดคอร์สวิชา “บียอนเซ, เพศ และ เชื้อชาติ” โดยศึกษาเกี่ยวกับผลงานของ “บียอนเซ” (Beyonce) นักร้องชื่อดัง มุมมองทางสังคมที่มีต่อตัวเธอ และมุมมองทางจิตวิทยา 

ขณะที่ มหาวิทยาลัยสแตฟฟอร์ดเชอร์ ในประเทศอังกฤษ เปิดวิชา “เดวิด เบ็คแฮม ศึกษา” เพื่อทำการศึกษาความสำเร็จของ “เดวิด เบ็คแฮม” (David Beckham) นักฟุตบอลที่โด่งดังไปทั่วโลก รวมถึงวัฒนธรรมฟุตบอลที่กลายเป็นกีฬาที่คนทั่วโลกต่างสนใจ

วิชา “เลดี้ กาก้า: เพศ, เพศวิถี และอัตลักษณ์” ของมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ในสหรัฐ เปิดสอนเกี่ยวกับการวิเคราะห์ผลงานเพลง มิวสิควิดีโอ และการแต่งกายของ “เลดี้ กาก้า” (Lady GaGa) รวมไปถึงการแสดงออกทางเพศ ความเป็นหญิง และการขยายขอบเขตทางสังคม

‘ม.นิวยอร์ก’ เปิดสอนวิชา ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ ศึกษาตัวตน ความสำเร็จ และปรากฏการณ์ทางสังคม 3 คนดังที่มหาวิทยาลัยเปิดรายวิชาสอน

(จากซ้ายไปขวา) บียอนเซ, เดวิด เบ็คแฮม และ เลดี้กาก้า

 

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่เปิดรายวิชาที่ทำการศึกษาวรรณกรรมและซีรีส์ชื่อดัง เช่น แฮร์รี่ พอตเตอร์, สตาร์ เทร็ค และ เกม ออฟ โธรนส์

วิชาที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับคนดังและวัฒนธรรมสมัยนิยม ตลอดจนวิชาพื้นฐาน (A-Levels) หรือวิชาเสรี (Soft Option) ที่เกี่ยวกับการคิดวิพากษ์ (Critical Thinking) มักถูกมองว่าเป็นวิชาที่ไม่มีความสำคัญ และไม่จำเป็นต้องเรียน จนถูกเรียกว่าเป็น “วิชามิกกี เมาส์” (Mickey Mouse Degrees) ซึ่งใช้ครั้งแรกในอังกฤษ เมื่อปี 2546 โดย มาร์กาเร็ต ฮอดจ์ (Margaret Hodge) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา (State for Universities) ของอังกฤษให้สัมภาษณ์กับ บีบีซี (BBC) เกี่ยวกับ รายชื่อหลักสูตรและรายวิชาที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้เปิดเผยออกมา และให้ความหมายของวิชามิกกี เมาส์ ว่า 

“เป็นหลักสูตรที่มีเนื้อหาไม่เข้มข้นเท่าที่ควร และไม่ได้มีความจำเป็นต่อตลาดแรงงาน” เธอยังกล่าวอีกว่า รายวิชาเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างไม่จำเป็นและไม่ได้เป็นที่ยอมรับ

อย่างไรก็ตาม ดร.เจมส์ เบ็นเน็ตต์ (James Bennett) หัวหน้าวิชาสื่อศิลปะ (Media Arts) ของมหาวิทยาลัยรอยัล ฮอลโลเวย์ (Royal Holloway) ประเทศอังกฤษ ให้เหตุผลที่ต้องทำการศึกษาวัฒนธรรมสมัยนิยม เพราะมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจโลกในปัจจุบัน เหล่าคนดังกลายเป็นสิ่งที่ช่วยจัดระเบียบสังคมที่ทรงพลัง คอยกำหนดสื่อที่เราเสพย์ วิธีเราเข้าใจการเมือง และสิ่งที่เราซื้อ

อีกทั้งยังกล่าวเพิ่มว่า วิชาเหล่านี้ไม่ได้สอนชีวประวัติของคนดัง แต่สอนเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นจากพวกเขา ถ้าไม่ศึกษาวัฒนธรรมร่วมสมัยก็เหมือนกับเราไม่ได้ศึกษาโครงสร้างของสังคม

 

ที่มา: BBCBusinessBecause, ES, Variety