เล็งใช้ "กฎหมายอุ้มบุญ"ช่วยกลุ่มหลากหลายทางเพศมีลูก
กรมอนามัยเล็งใช้ “กฎหมายอุ้มบุญ” ช่วยครอบครัวกลุ่มหลากหลายทางเพศอยากมีลูก ออกกฎหมายรองรับ “ธนาคารไข่-น้ำเชื้อ” ย้ำต้องทำอย่างรอบคอบ เสนอเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆให้คนมีลูก หวังแก้ปัญหาเด็กไทยเกิดใหม่น้อย
เมื่อวันที่ 4 ก.พ. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเด็กเกิดน้อยในไทย ว่า จากการหารือร่วมกันของคณะกรรมการพัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา มีมติหลายอย่างสิ่งที่ต้องดำเนินการไปพร้อมกันคือมาตรการทางสังคม มาตรการทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และระบบสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพสังคมไทยมีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ชายแต่งกับชาย หญิงแต่งกับหญิง รวมถึงมีคนที่แปลงเพศแล้วอยากมีลูก ซึ่งเป็นเรื่องทางสังคมที่มีแง่มุมทางกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันผู้หญิงอยากมีลูก แต่ไม่อยากมีสามี ส่วนผู้ชายบางคนก็อยากมีลูก แต่ไม่อยากมีภรรยา
“ตอนนี้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 หรือกฎหมายอุ้มบุญ ว่าจะมีแนวทางเพื่อช่วยคนกลุ่มเหล่านี้ที่อยากมีลูกได้อย่างไร แต่ก็ต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดเพื่อคุ้มครองเด็ก เพราะต้องยอมรับว่ามีคนที่คิดไม่ดี นำเด็กไปดูแลไม่ดี หรือไปมีความเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์ ที่สำคัญต้องปรับแนวคิดที่ว่าครอบครัว ไม่ใช่เรื่องของผู้ชาย กับผู้หญิงเท่านั้น”นพ.สุวรรณชัยกล่าว
ปัจจุบันผู้หญิงต้องทำงานนอกบ้าน จึงยังไม่มีลูก หลายคนเลยวัยเจริญพันธุ์แล้วทำให้มีบุตรยาก สิ่งที่เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยเหลือได้ คือการฝากไข่ มีธนาคารไข่ รวมถึงธนาคารน้ำเชื้อ ที่มีระบบรองรับทางกฎหมาย จึงเป็นประเด็นที่สังคมต้องช่วยกัน ซึ่งไม่ได้จำกัดที่ครอบครัวละ 2 คน แต่ดูที่ความพร้อมของครอบครัว แล้วสร้างมาตรการทางเศรษฐกิจสังคมเข้ามาช่วยเหลือ เช่น มีลูก 1 คนได้สิทธิอะไร หรือ มีลูกเพิ่ม 2 คน 3 คน จะได้สิทธิอะไรเพิ่มเติม
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ส่วนการตั้งครรภ์ในคนอายุต่ำว่า 20 ปี ซึ่งอาจจะเป็นวัยที่ยังไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ เพราะอยู่ระหว่างการเรียนหนังสือ ในส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ที่ต้องจัดระบบดูแลเพื่อไม่ให้ผู้หญิงไปทำแท้ง ต้องทำให้คนเหล่านี้ได้รับการดูแล ยังอยู่ในระบบการศึกษา ได้เรียนต่อ ลดปัญหาการตีตรา สร้างอาชีพ และช่วยให้เด็กที่เกิดมาได้รับการดูแล ทั้งนี้ ไม่ได้ส่งเสริมให้ท้องก่อนวัยอันควร