สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลง เมื่อ "โควิด19"เป็น"โรคประจำถิ่น"
ต้องรอดูว่า ภายในปี 2565 กระทรวงสาธารณสุขจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะให้ “โรคโควิด19”กลายเป็น “โรคประจำถิ่น”หรือไม่ ซึ่งจะต้องทำตัวชี้วัดต่างๆให้ถึงเกณฑ์ที่กำหนด แน่นอน หากทำได้จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะด้านระบบสาธารณสุข
นิยาม”โรคประจำถิ่น
ทางระบาดวิทยาให้นิยามระยะการระบาดของโรคเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย
- การระบาดใหญ่ทั่วโลก(Pandemic) การระบาดที่เพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว ทั้งจำนวนและกว้างขวางทางพื้นที่ ทางภูมิศาสตร์ เช่น ข้ามพรมแดนระบาดหลายประเทศข้ามทวีป จนมีผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งสาธารณสุขและสังคม
- โรคประจำถิ่น (Endemic) การที่มีโรคปรากฎหรือระบาดในพื้นที่ แต่อาจจำกัดในเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์หรือการกระจายและการเพิ่มขึ้น ในจำนวนที่สามารถคาดการณ์ได้
- โรคระบาด (Epidemic) การที่โรคแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางหรือภาวการณ์เกิดโรคผิดปกติ หรือมากกว่าที่เคยเป็นมา
“โรคประจำถิ่น”VS โรคติดต่อตามกฎหมาย
ขณะที่นิยามโรคตามกฎหมาย พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มี 4 นิยามจะแตกต่างจากนิยามทางระบาดวิทยา คือ
1. “โรคติดต่อ” หมายความว่า โรคที่เกิดจากเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรคซึ่งสามารถแพร่โดยทางตรงหรือทางอ้อมมาสู่คน
2. "โรคติดต่ออันตราย" หมายความว่า โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูงและสามารถแพร่ ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมี 14 โรครวมโรคโควิด 19 เช่น โรคอีโบลา กาฬโรค ไข้เหลือง เวสต์ไนล์ ไวรัสนิปาห์ เป็นต้น
3. "โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง" หมายความว่า โรคติดต่อที่ต้องมีการติดตามตรวจสอบหรือจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน มี 55 โรค เช่น ไข้เลือดออก และโรคเอดส์
4."โรคระบาด" หมายความว่า โรคติดต่อหรือโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคแน่ชัด ซึ่งอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง หรือมีภาวะของการเกิดโรคมากผิดปกติกว่าที่เคยเป็นมา โดยจะต้องระบุชื่อโรค อาการ และสถานที่ระบาด
เกณฑ์”โรคประจำถิ่น”
3 หลักการโรคประจำถิ่น ได้แก่ สายพันธุ์คงที่ ไม่มีการกลายพันธุ์ที่รุนแรงกว่าเดิม อัตราป่วยคงที่ และคาดเดาการระบาดได้
ส่วนเกณฑ์ที่จะถือว่าเข้าข่ายโรคประจำถิ่น อาทิ
1.ผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 10,000รายต่อวัน
2.อัตราป่วยเสียชีวิตไม่เกิน 1 ต่อ 1,000 คน
3.มีการสร้างเสริมให้คนมีภูมิต้านทานจากวัคซีน ในกลุ่มเป้าหมายเสี่ยงสูงรับเข็ม 2 ได้ 80 %
4.ประสิทธิภาพการดูแลรักษาพยาบาล เป็นต้น
ฉายภาพ “โรคประจำถิ่น”อื่น
ยกตัวอย่าง โรคที่เคยเป็นโรคอุบัติใหม่ในอดีต แต่ปัจจุบันถือเป็นโรคประจำถิ่น คือ โรคไข้เลือดออกเป็นโรคอุบัติใหม่ เมื่อปี 2500 ปัจจุบันกลายเป็นโรคประจำถิ่นตามนิยามทางระบาดวิทยา และเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามนิยามของกฎหมาย
โรคเอดส์เป็นโรคอุบัติใหม่เมื่อปี 2527 และมีการระบาดทั่วโลก เมื่อเวลาผ่านไป ตอนนี้ก็จัดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน
คาดการณ์โควิด19ปี 65
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ภาพรวมการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพในปี 2565 ในส่วนของ โรคโควิด19 หากไม่มีสายพันธุ์อื่นเพิ่มเติม คาดว่าครึ่งปีหลัง จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สาเหตุจากคนไทยฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามเป้าหมายซึ่งขณะนี้ฉีดไปได้ประมาณ 20% หากทำได้จะควบคุมสถานการณ์การติดเชื้อรายใหม่ได้ แต่ต้องไม่มีการกลายพันธุ์ที่มีนัยสำคัญเพิ่มเติม หากมีการกลายพันธุ์หรือเหตุการณ์ใหม่ๆเกิดขึ้นก็จะมีการพยากรณ์โรคใหม่อีกครั้ง
สิ่งที่จะเกิดเมื่อโควิด19เป็นโรคประจำถิ่น
“โรค” ยังมีการระบาดเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว “มาตรการต่างๆ” ขึ้นกับว่า จะมีการกำหนดให้ โรคโควิด19 เป็น “โรคติดต่อ” ประเภทไหนตามนิยามของกฎหมาย อย่างเช่น หากกำหนดเป็น “โรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง” ก็จะต้องมีการรายงานผู้ป่วย เมื่อเกิดการระบาดก็เข้าไปควบคุมการระบาด แต่เจ้าหน้าที่จะไม่มีอำนาจสั่งกักตัวผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ แต่หากเป็น “โรคติดต่ออันตราย” ก็จะมีอำนาจสั่งกักตัวผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศได้ เป็นต้น
“ระบบการรายงาน” ไม่ได้รายงานพบผู้ติดเชื้อทุกวัน แต่มีการเฝ้าระวังทุกวันและรายงานผู้ป่วยที่เข้ารพ. โดยเป็นการเฝ้าระวังการระบาดเป็นกลุ่มก้อน
“การดูแลรักษา” กรณีที่ติดเชื้อมีอาการต้องเข้ารับการรักษาในรพ. จากเดิมที่ประกาศกำหนดให้ผู้ติดโควิด19เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งสามารถเข้ารับการรักษาได้ในสถานพยาบาลทุกแห่ง ปรับเป็นการยกเลิกประกาศดังกล่าว โดยผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิ์ของแต่ละคน เช่น บัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการหรือประกันสุขภาพส่วนบุคคล
“การเข้ารับวัคซีน” ขณะนี้อาจจะยังเร็ว เกินไปที่จะประเมินได้ว่าการรับวัคซีนโควิด19จะเป็นอย่างไร แต่อาจเป็นไปได้ว่าจะมีการให้รับวัคซีนฟรีในกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรงเช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ เหมือนวัคซีนไข้หวัด
ปี 66 รักษาโควิดอยู่ในงบปกติ
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีปรับการจ่ายค่ารักษาโรคโควิด -19 จากการระบบฉุกเฉินวิกฤติจากโควิด (UCEP) มาเป็นระบบปกติ ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้แจ้งเบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการถึงทิศทางในอนาคตที่โควิดจะมีความรุนแรงลดลง หรือการที่โรคโควิด -19 เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งเชื่อว่าเมื่อรุนแรงลดลงแล้วน่าจะไม่เกิดภาวะการณ์ฉุกเฉินวิกฤติ ดังนั้นจึงอาจจะไม่มีระบบฉุกเฉินวิกฤติจากโควิดแล้ว ซึ่งในแง่ของการรักษาพยาบาลนั้นสปสช.จะต้องเข้าไปดูแลอยู่แล้ว ในลักษณะเป็นการจัดระบบบริการภาครัฐ ประชาชนยังได้รับการบริการ เพราะโรคโควิด – 19 ในทางกฎหมายก็ยังจัดเป็นโรคติดต่ออันตราย
“ตอนนี้ทางสปสช.ได้เตรียมความพร้อมในการทำงบประมาณปี 2566 ก็ได้บรรจุเรื่องนี้ในกรณีที่จะเข้าสู่ระบบปกติแล้ว งบประมาณอาจจะใช้งบประมาณพิเศษลดลง แต่แล้วมีการใช้งบฯ ปกติแทน โดยหากต้องนอนโรงพยาบาลก็จะคิดตามระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) ถ้าไม่ได้แอดมิทก็มีระบบการเหมาจ่ายรายหัว ถ้าต้องตรวจพิเศษก็จะมีค่าตรวจ ATK ค่าตรวจ RT-PCR เป็นต้น เพียงแต่เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์เข้าสู่โหมดปกติแล้วความต้องการตรงนี้จะลดลง แต่ก็ยังไม่ได้มีการเผยแพร่ออกไป เผื่อสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง เกิดการกลายพันธุ์รุนแรง แต่ตรงนี้เราก็เตรียมพร้อมเอาไว้ โดยหลักการคือต้องรอกระทรวงสาธารณสุขออกหลักเกณฑ์มาก่อน เพราะเป็นผู้ถือกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ขณะที่ สปสช.มี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อยู่ซึ่งยืนยันว่าทุกโรคต้องได้รับการรักษา”นพ.จเด็จกล่าว