หมุดหมาย“โควิด19คือโรคประจำถิ่น” มองภาพให้ชัด ชีวิต Next Normal
ในปี 2565 กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กำหนดเป้าหมายที่จะให้โรคโควิด19 กลายเป็น “โรคประจำถิ่น” หลังมีการระบาดมานานกว่า 2 ปี ซึ่งเป็นไปตามระยะระบาดของโรค ขณะเดียวกันจะส่งผลต่อการปรับมาตรการและการดำเนินชีวิตยุคNext Normal ของคนไทยที่จะแตกต่างออกไปจากปัจจุบันด้วย
ตามนิยามทางระบาดวิทยา แบ่งระยะการระบาดของโรคเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย 1.การระบาดใหญ่ทั่วโลก(Pandemic) การระบาดที่เพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว ทั้งจำนวนและกว้างขวางทางพื้นที่ ทางภูมิศาสตร์ เช่น ข้ามพรมแดนระบาดหลายประเทศข้ามทวีป จนมีผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งสาธารณสุขและสังคม 2.โรคประจำถิ่น (Endemic) การที่มีโรคปรากฎหรือระบาดในพื้นที่ แต่อาจจำกัดในเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์หรือการกระจายและการเพิ่มขึ้น ในจำนวนที่สามารถคาดการณ์ได้ และ3.โรคระบาด (Epidemic) การที่โรคแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางหรือภาวการณ์เกิดโรคผิดปกติ หรือมากกว่าที่เคยเป็นมา
โดยมีความแตกต่างจากการกำหนดนิยามโรคตามกฎหมาย พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่เป็นการกำหนดมุ่งเน้นให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการเข้าไปดำเนินการเมื่อเกิดการระบดา มี 4 นิยาม คือ 1.”โรคติดต่อ” หมายความว่า โรคที่เกิดจากเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรคซึ่งสามารถแพร่โดยทางตรงหรือทางอ้อมมาสู่คน "โรคติดต่ออันตราย" หมายความว่า โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูงและสามารถแพร่ ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมี 14 โรครวมโรคโควิด 19 เช่น โรคอีโบลา กาฬโรค ไข้เหลือง เวสต์ไนล์ ไวรัสนิปาห์ เป็นต้น
"โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง" หมายความว่า โรคติดต่อที่ต้องมีการติดตามตรวจสอบหรือจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน มี 55 โรค เช่น ไข้เลือดออก และโรคเอดส์ และ"โรคระบาด" หมายความว่า โรคติดต่อหรือโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคแน่ชัด ซึ่งอาจแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง หรือมีภาวะของการเกิดโรคมากผิดปกติกว่าที่เคยเป็นมา โดยจะต้องระบุชื่อโรค อาการ และสถานที่ระบาด เช่น เกิดโรคไข้เลือดออกระบาดในจ.นนทบุรี ก็ต้องบอกว่า โรคไข้เลือดออก มีอาการอย่างไร และเกิดที่จ.นนทบุรี จะมีการแจ้งเป็นครั้งๆเมื่อมีการระบาด
จะเห็นว่าการกำหนดนิยามโรคตามกฎหมายนั้น บางโรคไม่ได้มีการระบาด หรือไม่ได้มีในประเทศไทย แต่ก็จัดให้เป็น “โรคติดต่ออันตราย”ก็เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจ ดำเนินการป้องกัน ควบคุมโรคนั้นๆ เช่น การสั่งให้แยกกัก การสั่งให้เข้ารับการฉีดวัคซีน หรืออื่นๆที่จำเป็นต่อการป้องกันควบคุมโรค
หากจะมองภาพเมื่อโควิด19เป็นโรคประจำถิ่นให้ชัด นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) อธิบายเทียบเคียงกับโรคไข้เลือดออกและโรคเอดส์ว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคอุบัติใหม่ เมื่อปี 2500 ปัจจุบันกลายเป็นโรคประจำถิ่นตามนิยามทางระบาดวิทยา และเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามนิยามของกฎหมาย หรือ โรคเอดส์เป็นโรคอุบัติใหม่เมื่อปี 2527 และมีการระบาดทั่วโลก เมื่อเวลาผ่านไป ตอนนี้ก็จัดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน
“โรคโควิด19อยู่ในระยะการระบาดใหญ่ทั่วโลกมา 2 ปีแล้ว ภายในปีนี้ก็น่าจะสิ้นสุดระยะนี้แล้ว จากนั้นทิศทางจะเป็นระยะหลังการระบาดใหญ่ ก็คือเป็นโรคประจำถิ่นตามนิยามทางระบาดวิทยา ส่วนนิยามทางกฎหมายจะเป็นโรคติดต่อประเภทไหน ยังไม่สามารถระบุได้ ต้องพิจารณาอีกครั้ง” นพ.โอภาสกล่าว
หลักการที่โรคโควิด19จะเป็นโรคประจำถิ่นมี 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ สายพันธุ์คงที่ ไม่มีการกลายพันธุ์ที่รุนแรงกว่าเดิม อัตราป่วยคงที่ และคาดเดาการระบาดได้ และสธ.มีการกำหนดเกณฑ์ที่จะถือว่าเข้าข่ายโรคประจำถิ่นแล้วเพื่อเป็นเป้าหมายการดำเนินการ อาทิ 1.ผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 10,000รายต่อวัน 2.อัตราป่วยเสียชีวิตไม่เกิน 1 ต่อ 1,000 คน 3.มีการสร้างเสริมให้คนมีภูมิต้านทานจากวัคซีน ในกลุ่มเป้าหมายเสี่ยงสูงรับเข็ม 2 ได้ 80 % และ4.ประสิทธิภาพการดูแลรักษาพยาบาล เป็นต้น
สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังเป็น”โรคประจำถิ่น” ในแง่ของ “โรค”ยังมีการระบาดเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว ส่วนการดำเนินการจัดการมาตรการต่างๆ ขึ้นกับว่า จะมีการกำหนดให้ โรคโควิด19”เป็น “โรคติดต่อ”ประเภทไหนตามนิยามของกฎหมาย อย่างเช่น หากกำหนดเป็น “โรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง” ก็จะต้องมีการรายงานผู้ป่วย เมื่อเกิดการระบาดก็เข้าไปควบคุมการระบาด แต่เจ้าหน้าที่จะไม่มีอำนาจสั่งกักตัวผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ แต่หากเป็น “โรคติดต่ออันตราย”ก็จะมีอำนาจสั่งกักตัวผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศได้ เป็นต้น
ระบบการรายงาน ไม่ได้รายงานพบผู้ติดเชื้อทุกวัน เว้นกรณีป่วยหนัก แต่มีการเฝ้าระวังทุกวัน โดยเป็นการเฝ้าระวังการระบาดเป็นกลุ่มก้อน การดูแลรักษา กรณีที่ติดเชื้อมีอาการต้องเข้ารับการรักษาในรพ. จากเดิมที่ประกาศกำหนดให้ผู้ติดโควิด19เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งสามารถเข้ารับการรักษาได้ในสถานพยาบาลทุกแห่ง ปรับเป็นการยกเลิกประกาศดังกล่าว โดยผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิ์ของแต่ละคน เช่น บัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการหรือประกันสุขภาพส่วนบุคคล
และการเข้ารับวัคซีน ขณะนี้อาจจะยังเร็ว เกินไปที่จะประเมินได้ว่าการรับวัคซีนโควิด19จะเป็นอย่างไร แต่อาจเป็นไปได้ว่าจะมีการให้รับวัคซีนฟรีในกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรงเช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ เหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ รวมถึง การชดเชยอาการข้างเคียงจากการรับวัคซีน ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตวัคซีนโควิด19ทุกรายขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉิน ทำให้รัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบกรณีที่เกิดอาการข้างเคียง แต่หากผู้ผลิตขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะปกติแล้ว ก็จะมีการพิจารณาอีกครั้ง
ขณะที่ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสถานการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นในยุค NEXT Normalว่า วิถีการใช้ชีวิตและวิถีการทำงานของคนจำนวนมาก มีแนวโน้มไม่กลับมาเป็นปกติในรูปแบบก่อนการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด19 แต่เป็นปกติรูปแบบใหม่ที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง รวมถึง การเกิดการแพร่ระบาดจากเชื้อโรคใหม่ และจะเป็นรูปแบบที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริม/การสร้างสุขภาพ การรักษาความสะอาด/สุขอนามัย รวมถึง เทคโนโลยีต่างๆ จะมามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น การยอมรับเทคโนโลยีจะมีมากขึ้น และใช้ได้สะดวกขึ้น และระบบการดูแลสุขภาพมีการปรับตัว มีการนำเทคโนโลยีและวิธีการใหม่ๆมาใช้