ไทยติด "โควิด-19" ทะลุหมื่นเป็นวันที่ 3 ศบค. แนะฉีดเข็ม 3 กระตุ้นภูมิ
ศบค. รายงาน "สถานการณ์โควิด-19" ไทยติดเชื้อเกินหมื่นเป็นวันที่ 3 ของการระบาดระลอก ม.ค. 65 ยังอยู่ระดับคาดการณ์ ระบบสาธารณสุขรับไหว เสียชีวิต 12 ราย กว่า 75% ไม่ได้รับวัคซีน หรือ ได้รับวัคซีนไม่ครบ แนะประชาชน ฉีดวัคซีน "เข็ม 3" กระตุ้นภูมิ ป้องกันป่วยหนัก เสียชีวิต
วันนี้ (7 ก.พ. 65) ที่ทำเนียบรัฐบาล “พญ.สุมนี วัชรสินธุ์” ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรครายงาน “สถานการณ์โควิด-19” ประเทศไทย ติดเชื้อเพิ่ม 10,470 ราย ติดเชื้อเกินหมื่นเป็นวันที่ 3 แล้วของการระบาดระลอก ม.ค. 65 แบ่งเป็น
- ติดเชื้อในประเทศ 10,300 ราย
- ติดเชื้อจากต่างประเทศ 166 ราย
- ติดเชื้อจากเรือนจำ 4 ราย
- เสียชีวิตเพิ่ม 12 ราย
ติดเชื้อสะสม 2,507,471 ราย เสียชีวิตสะสม 22,303 ราย รักษาตัวอยู่ 92,784 ราย อาการหนัก 535 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 102 ราย หายป่วยเพิ่ม 8,711 ราย หายป่วยสะสม 2,392,384 ราย
- เสียชีวิต 75% ไม่ได้รับวัคซีน / ได้รับไม่ครบ
สำหรับผู้เสียชีวิต 100% ของผู้เสียชีวิตอยู่ในกลุ่ม 607 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 9 ราย (75%) และ โรคเรื้อรัง 3 ราย (25%) โดยในจำนวนนี้กว่า 75% ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบ ขณะที่ ค่ากลางของอายุอยู่ที่ 83 ปี อายุต่ำสุด 38 ปี มากสุด 88 ปี ยังคงมีรายงานพบการเสียชีวิตในทุกภาคของประเทศ แต่ในวันนี้ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตในกทม.
- ระบบสาธารณสุขยังรองรับได้
จากการคาดการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ จะเห็นว่ามีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ยังคงเป็นไปตามที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้และควบคุมได้ ถึงแม้จะมีการติดเชื้อหลักหมื่นต้นๆ หากพิจารณาผู้ติดเชื้อ และมีอาการหนัก ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต หากเทียบกับระลอก เม.ย. 64 ที่ผ่านมา ถือว่าลดลงอย่างมาก และตอนนี้อัตราการเสียชีวิตค่อนข้างคงตัว ระบบสาธารณสุข ยังคงรองรับได้
"ถึงแม้ว่าการติดเชื้อโอมิครอน อาจจะไม่มีอาการหรืออาการน้อย แต่ดีที่สุด คือ อย่าติด อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนและหน่วยงานต่างๆ เคร่งครัดมาตรการทั้ง COVID Free setting และ มาตรการส่วนบุคคล และรับวัคซีนให้ครบโดส หากเข็ม 2 เกิน 3 เดือน ให้รีบไปรับเข็มกระตุ้น"
- ไทยฉีด “วัคซีนโควิด-19” เข็มสาม 22.5%
จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. 2564 - 6 ก.พ. 2565) รวม 117,094,785 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 52,506,813 ราย (75.5%)
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 48,938,007 ราย (70.4%)
จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 15,649,965 ราย (22.5%)
- ภาพรวมยอดฉีดวัคซีน วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565
ยอดฉีดทั่วประเทศ 216,538 โดส
เข็มที่ 1 : 11,063 ราย
เข็มที่ 2 : 15,217 ราย
เข็มที่ 3 : 190,258 ราย
- สูงวัย ฉีดเข็ม 3 เพียง 19%
หากดูกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนโดยรวม ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเห็นว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ได้รับวัคซีนเข็ม 1 คิดเป็น 66.1% เข็ม 2 คิดเป็น 62% และ เข็ม 3 คิดเป็น 19%
- 10 จังหวัด ฉีดกลุ่ม 607 น้อยที่สุด
เมื่อดูวัคซีนเข็มที่ 3 ขึ้นไปในภาพรวมประเทศ จังหวัดที่ได้รับการฉีด กลุ่ม 607 น้อยที่สุด 10 จังหวัด ได้แก่ บึงกาฬ นราธิวาส ปัตตานี หนองคาย สกลนคร สระแก้ว นครพนม กาฬสินธุ์ เลย ยะลา ซึ่งจากรายงานประจำวันที่มีการรายงานผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่เกือบ 100% เป็นกลุ่มสูงอายุ กลุ่มเสี่ยง ดังนั้น หากครอบครัวที่มีผู้สูงอายุในบ้าน ให้มารับวัคซีนให้ได้มากที่สุด และเมื่อฉีดเข็ม 2 เกิน 3 เดือน ขอให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้เร็วที่สุด
- "เข็ม 3" ลดความรุนแรงของโรค
มีการศึกษาในประเทศไทย โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ และทีมของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ขึ้นไปไม่ว่าจะยี่ห้อใด แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา สามารถลดความรุนแรงของโรค และลดอาการป่วยหนัก และลดการเสียชีวิตได้ 96% และป้องกันการติดเชื้อ โอมิครอน 68% โดยจะกระตุ้นยี่ห้อใดก็ได้ทั้ง 3 ยี่ห้อ สามารถป้องกันการติดเชื้อ และเสียชีวิตได้ ไม่ต่างกัน
- ป่วยหนัก เสียชีวิตทั่วโลกลดลง
สถานการณ์ "โควิด-19 ทั่วโลก" มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1,859,486 ราย ประเทศที่มีการติดเชื้อเกิน 1 แสนราย ได้แก่ ฝรั่งเศส รัสเซีย เยอรมนี นอกจากนี้ ใน 20 อันดับประเทศ มีรายงานผู้ติดเชื้อหลักหลายหมื่นแต่ละประเทศ หากสังเกตพบว่า เป็นผู้มีอาการหนักสะสม 90,593 ราย คิดเป็น 0.02% ลดลง 0.01% เมื่อเทียบกับจันทร์ที่ผ่านมา 1 สัปดาห์ ซึ่งอัตราป่วยหนัก อยู่ที่ 0.03%
ผู้เสียชีวิต รายงาน 6,352 ราย คิดเป็น 1.45% หากเทียบกับจันทร์ที่แล้ว 30 ม.ค. 65 อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 1.51% ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ในสถานการณ์ทั่วโลกมีแนวโน้มผู้ป่วยอาการหนัก เสียชีวิตลดลง
- เอเชีย อยู่ในช่วงขาขึ้น
แนวโน้มผู้ติดเชื้อทั่วโลก และ เสียชีวิต 1 เม.ย. 64 - 2 ก.พ. 65 จะเห็นว่า ผู้ติดเชื้อสูงขึ้นมากใน ธ.ค. 64 และเพิ่มวันละล้านราย เป็น 3.5 ล้านรายในช่วงปลายปี และสูงที่สุด คือ แตะ 28 ม.ค. 65 หลังจากนั้น ก็มีทิศทางลดลงเรื่อยๆ ขณะที่ผู้เสียชีวิต พบว่า จาก ต.ค. 64 ค่อยๆ ลดลงต่อเนื่อง อาจจะมีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วง 5,000 – 9,000 กว่าราย
ที่ผ่านมาทั้งการระบาดรอบโลก ช่วง 3-4 ระลอกแรก จะมีการเพิ่มสูง ของผู้ติดเชื้อในแถบ สหรัฐ และหลังจากนั้น ยุโรป และเอเชีย ตอนนี้ยอดผู้ติดเชื้อสูงสุดผ่านยอดสูงสุดของสหรัฐแล้ว และประเทศแถบยุโรป ยอดติดเชื้อสูงสุดได้ลดลงแล้ว และตอนนี้เป็นขาขึ้นของทวีปเอเชีย ทั้งนี้ ภาพรวมทั่วโลกอัตราการเสียชีวิตไม่ได้สูงขึ้น
หากดูอัตราการติดเชื้อในทวีปเอเชีย ประเทศที่ติดเชื้อสูงจะอยู่ที่ อินเดีย เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น รายงานกว่า 1.5 แสนราย รวมถึงอินโดนีเซีย เป็นหลักหมื่น ขณะที่ไทย มีแนวโน้มทิศทางผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้
- เตรียมประชุม ศบค. ชุดใหญ่ 11 ก.พ. นี้
พญ.สุมนี กล่าวอีกว่า หลังจากวันนี้ จะมีการประชุม ศบค. ใหญ่ 11 ก.พ. 65 ขอให้พี่น้องประชาชนติดตามข่าวสารว่ามีมาตรการในการจัดการโควิด-19 หลังจากประชุมอย่างไร โดยที่ผู้ที่จะมารายงาน คือ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ในวันศุกร์ 11 ก.พ. 65 ประมาณช่วงบ่าย