สธ.เผยยอดโควิด-19 เพิ่ม อัตราป่วยตายรอบใหม่ลด อยู่ที่ 0.2% จากเดิม 2%
สธ.ยันตัวเลขผู้ติดโควิด-19 โปร่งใส ยอดติดเชื้อเพิ่ม แต่ป่วยหนัก - เสียชีวิตไม่ได้พุ่ง อัตราป่วยตายรอบใหม่ 0.2% ส่วนใหญ่ 80% เป็นกลุ่มไม่รับวัคซีน - กลุ่มเสี่ยงสูง เตรียมปรับระบบรายงานโควิดใหม่ สร้างความเข้าใจมากขึ้น ย้ำควร “Move On” สถานการณ์เปลี่ยนแปลงจาก 2 ปีก่อน
เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนติดเชื้อง่าย แต่ความรุนแรงไม่เท่ากับสายพันธุ์ที่ได้ประสบมา เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องมารับวัคซีนและฉีดเข็มกระตุ้น ขอให้มารับวัคซีนและพยายามระวังตัวเอง เพราะผู้ติดเชื้อมากขึ้น มาจากการสังสรรค์และรวมตัวคนหมู่มาก แต่ก็เข้าใจว่าประเทศไทยต้องมีสังคม ขอให้พยายามระวังตัว หลีกเลี่ยงการร่วมกลุ่ม ใส่หน้ากากตลอดเวลา ถ้าไปคนหมู่มากใส่ 2 ชั้นก็ดี
“คนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว แม้มีผู้ติดเชื้อมากขึ้น แต่ผู้มีอาการรุนแรง ป่วยหนักและเสียชีวิต หากเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ยังอยู่ในการคาดการณ์ และน้อยลงกว่าก่อนหน้านี้ อย่างช่วงเดือนธ.ค.2564 มีผู้ติดเชื้อประมาณ 3,500-4,000 รายต่อวัน ส่วนวันนี้ ผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มมากขึ้น แต่ผู้มีอาการหนักและเสียชีวิตก็อยู่ระดับใกล้เคียงกัน ไม่ได้เปลี่ยนแปลง เป็นสถานการณ์ที่กรมควบคุมโรคพยายามเต็มที่ ที่จะตรึงสถานการณ์ไม่ให้เลวร้าย จากการที่ติดตามสาเหตุของการเสียชีวิต พบว่าโดยเฉลี่ยราว 80% เป็นผู้ไม่ได้รับวัคซีนและกลุ่มเสี่ยงสูงเป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวเรื้อรังและหญิงตั้งครรภ์”นายอนุทิน กล่าว
ถามถึงจะมีการเสนอ ศบค.ในการเพิ่มหรือลดมาตรการใดหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ยังมีการติดเชื้อ จึงไม่ได้มีการเสนอให้มีการผ่อนคลายแบบเต็มที่ แต่ สธ.จะมีการปรับรูปแบบรายงานประจำวันเพื่อให้ความวิตกกังวลน้อยลง ซึ่งอิงตามสากล และเป็นข้อเท็จจริง และทำให้ประชาชนเข้าใจ และสามารถใช้ชีวิตท่ามกลางสถานการณ์ที่เป็นปกติให้มากที่สุด
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า สถานการณ์ในประเทศอื่น ผู้ติดเชื้อมากกว่าในประเทศไทยมาก หากเทียบอัตราส่วนประชากร ซึ่งประเทศไทยยังสามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ได้มากกว่าหลายๆ ประเทศ เหตุผลสำคัญ เพราะคนไทยร่วมมือ เพราะฉะนั้น การรับวัคซีนสำคัญมาก ที่ทำให้ผู้มีอาการหนักและเสียชีวิตไม่เพิ่มขึ้น ส่วนความพร้อมเรื่องเตียง และยามีเต็มที่ เพราะฉะนั้นทำให้จับทิศทางได้ แม้ป้องกันไม่ได้ 100% แต่เทียบผู้ป่วยหนักลดลง
“ผู้ติดเชื้อกว่า 85% ไม่แสดงอาการ จึงมีระบบดูแลที่บ้าน(Home Isolation) จึงไม่สามารถไปบอกล็อกดาวน์หรือบังคับอะไรได้ ซึ่งตอนนี้ก็เหลือแต่ผับ บาร์ คาราโอเกะที่ยังไม่เปิด เพราะฉะนั้น ถ้าร่วมมือต่อไป อย่ารวมกลุ่มคนหมู่มากจนเกินไป ระมัดระวังตัวเองตลอดเวลา ก็น่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ ขอบคุณคนไทยที่ให้ความร่วมมืออย่างดี แม้บางทีไม่ถูกใจ หรือวัคซีนไม่ตรงความต้องการ แต่ก็มาฉีดวัคซีน เพราะเชื่อมั่นว่ารัฐจัดหาวัคซีนที่มีประโยชน์ มีมาตรฐานให้ประชาชน และใส่หน้ากากเมื่อไปในที่ต่างๆ แต่ยังมีความต้องระวังเรื่องช่วงที่ต้องถอดหน้ากากมากที่สุด โดยเฉพาะเวลาอยู่บ้านและใกล้ผู้สูงอายุต้องระวังให้มาก”นายอนุทินกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่ประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อระบาดระลอกนี้ต่ำกว่าหลายประเทศเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า สิ่งที่ประเทศไทยดำเนินการ ทำให้นานาชาติเห็นชัดคือ ความโปร่งใสด้านข้อมูลสาธารณสุข ตามที่ท่านอุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยกล่าว เพราะฉะนั้น คำถามที่ว่าไทยตรวจน้อย ไม่ตรวจ ตรวจไม่พอไม่ใช่ประเด็น เพราะประเทศไทยก็ตรวจไม่น้อยกว่าประเทศอื่น แต่มีมาตรการต่างๆ เข้มกว่าประเทศอื่น ทุกวันนี้มีทูตหลายประเทศประสานมาว่าประเทศไทยมีมาตรการที่เข้ม ขอให้ผ่อนคลาย หากไทยเข้มแบบนี้ก็จะเข้มมาตรการต่อประเทศไทยด้วย
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ขณะนี้ยังอยู่ในการควบคุม และตามที่มีการประมาณการไว้ โดยอัตราผู้เสียชีวิตสะสมของประเทศไทย เดิมอยู่ที่ 2% ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 1% แต่เฉพาะระลอกโอมิครอนอยู่ที่ 0.2% ถือว่าค่อนข้างต่ำ ดังนั้น การฉีดวัคซีนเข็ม 3 มีความจำเป็น ตั้งเป้าฉีดเข็ม 1-2 ให้ได้ 80% และเข็ม 3 ให้ได้ 80-90% ของเข็ม 1 และเข็ม 2 ก็จะควบคุมสถานการณ์ได้ดี
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้รอการนัดประชุม ศบค. อีกครั้งแต่หลักๆ สธ.จะมีการรายงานสถานการณ์ การฉีดวัคซีน การปรับพื้นที่ และรายงานคนเข้าประเทศ แต่แนวโน้มจะเป็นอย่างไร ขอเวลาเพื่อหารือร่วมกับหลายฝ่าย ส่วนสถานการณ์ขณะนี้ทั่วโลกก็ผ่อนคลายมากขึ้น หากไทยจะเข้มขึ้นก็อาจดูแปลกๆ แต่ถ้าผ่อนมาก ก็อาจจะไม่สอดรับกับตัวเลขที่กำลังเพิ่มขึ้น ดังนั้นเมื่อมีหลายประเด็นขึ้นอยู่ว่าจะเอาประเด็นใดมาอธิบาย
“ต้องมูฟออน ติดกับสถานการณ์โควิดมาตั้งแต่ปี 2563 แล้ว ชีวิตจะต้องเดินต่อไป ตอนนี้โควิดเปลี่ยนแปลงไป เชื้อไวรัสเปลี่ยน คนมีภูมิคุ้มกัน มีความรู้มากขึ้น หากยังทำแบบเดิมก็อาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์” นพ.โอภาส กล่าว
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์