เปิดเหตุ"โควิด19"ทะลุหมื่นราย สูงสุดใน1เดือน และสิ่งที่คนไทยต้องไม่ลืม!
3 วันต่อเนื่องที่จำนวนผู้ติด"โควิด19" รายใหม่แตะหมื่นราย เกิดอะไรขึ้นมีเหตุปัจจัยอย่างไร และคนไทยจะต้องเข้มมาตรการเรื่องใดมากขึ้น รวมถึง ทิศทาง"โควิด19"ที่จะเป็นไปต่อจากนี้
โควิด19สูงสุดในรอบโอมิครอน
ศบค.รายงาน "ยอดโควิดวันนี้"วันที่ 5 ก.พ. 2565 ประเทศไทยมีผู้ติดโควิด19 รายใหม่ 10,490 ราย เสียชีวิต เพิ่ม 21 คน อาการหนัก 535 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 101 ราย รักษาหาย 8,479 ราย
ขณะที่เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ติดโควิด19รายใหม่ 9,909 ราย เสียชีวิต 22 คน อาการหนัก 516 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 105 ราย รักษาหาย 7,827 ราย
วันที่ 3 ก.พ. ติดโควิด19รายใหม่ 9,172 ราย เสียชีวิต 21 คน อาการหนัก 517 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 107 ราย
นับเป็นช่วงเวลา 3 วันต่อเนื่องที่การติดโควิด19รายใหม่เพิ่มขึ้นมาเกือบถึง 1 หมื่นรายและเกิน 1 หมื่นราย จะเห็นได้ว่าจำนวนของวันที่ 5 ก.พ.นั้น เป็นยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดในรอบ 1 เดือน และเป็นจำนวนสูงสุดในขณะนี้ของการระบาดระลอกโอมิครอนที่เริ่มนับตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565
จำนวนผู้เสียชีวิตยังอยู่ในระดับคงตัว โดยก่อนหน้านี้มีรายงานสูงสุดของระลอกใหม่ที่ 28 คนเมื่อวันที่ 28 ม.ค. เช่นเดียวกับ ผู้ป่วยมีอาการหนักยังอยู่ระดับคงตัวที่ประมาณ 500 กว่าราย
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ส่วนใหญ่เวลาดูข้อมูลผู้ป่วยจะดูข้อมูล Hospital Base คือเอาข้อมูลจาก รพ.ที่รายงานเข้ามา แต่โควิดตอนนี้ดูข้อมูลทั้งจากแล็ป จากอะไรหลายข้อมูล และคนไข้อยู่ที่บ้านก็เอาข้อมูลมารวมด้วย โดยหากจะปรับเข้าสู่ระบบปกติอาจให้ดูเพียงข้อมูลจากที่รพ.รายงานเข้ามา ซึ่งจะเป็นเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยที่เมื่อติดเชื้อแล้วต้องไปรักษาที่รพ.
“ตอนนี้ทั่วโลกให้ความสนใจผู้ติดเชื้ออาการหนักและเสียชีวิตมากกว่า อย่างคนไทยดูผู้ป่วยอาการหนักก็คือผู้ป่วยปอดอักเสบ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 500 กว่ารายจากช่วงหนักๆ พบ 5,000กว่าราย ส่วนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ที่ 100 รายเศษๆ จากสูงสุด 1,300 ราย และเสียชีวิตจากเดิมขึ้นไป 300 ราย ลดเหลือประมาณ 20 ราย”นพ.โอภาสกล่าว
สถานการณ์อยู่ช่วงขาขึ้น
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ช่วงนี้ยังเป็นช่วงขาขึ้นของโควิด19อยู่ เมื่อโรคระบาดขึ้นแล้วจะคงอยู่สักระยะและค่อยๆ ลดลง ตามหลักการระบาด อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ติดเชื้อ ยังอยู่ในระดับเส้นคาดการณ์ที่ดีที่สุด คือระดับหมื่นราย ส่วนที่มากที่สุด คือ 30,000 รายต่อวัน ส่วนการเสียชีวิตยังต่ำกว่าเส้นคาดการณ์ระดับที่ต่ำสุด ซึ่งการระบาดที่เกิดขึ้นขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นคลัสเตอร์ที่ไม่ค่อยใหญ่นักกระจัดกระจายทั่วทุกจังหวัดของประเทศ และพบว่าคลัสเตอร์ที่เกิดจากงานเลี้ยง งานบุญ สังสรรค์ งานแต่งงาน งานศพ งานบวชยังเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะต่างจังหวัด และเมื่อมีการติดเชื้อในกลุ่มที่ไปร่วมงานก็จะกลับไปติดที่บ้าน
โอมิครอนอัตราติดในครอบครัว 40-50 %
จากเดิมสายพันธุ์เดลตามีอัตราการติดเชื้อในครอบครัว 10-20% แต่สายพันธุ์โอมิครอนจากการประเมินเบื้องต้นติดเชื้อแล้วไปติดในครอบครัว อัตราอยู่ที่ 40-50% จะเห็นว่าติดเชื้อค่อนข้างง่าย แต่ส่วนใหญ่อาการน้อย โดยเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนโควิด19แล้ว แต่กลุ่มเสี่ยงอายุ 60 ปีขึ้นไป มี 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เสียชีวิตเกือบ 100% ต้องเร่งรัดฉีดเข็มกระตุ้นกลุ่มนี้ต่อไป เมื่อถึงกำหนดขอให้ไปฉีด
ปัจจัยทำติดเชื้อพุ่ง
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า คนเริ่มผ่อนคลายมาตรการ ไม่สวมหน้ากากอนามัย รับประทานอาหารร่วมกัน รวมถึง กิจกรรมที่เพิ่มมากขึ้น การเปิดร้านอาหารให้ดื่มแอลกอฮอล์ การจัดกิจกรรมต่างๆ คงทำให้ผู้ติดเชื้อตัวเลขเพิ่มขึ้น แต่กิจกรรมเหล่านี้สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งการจะให้โควิด19เป็นโรคประจำถิ่นได้ ต้องสมดุลระหว่างการควบคุมโรคและการใช้ชีวิตควบคู่กันไป ถ้าอยู่ในระดับอย่างนี้ก็น่าจะยอมรับได้ เพราะระบบสาธารณสุขรองรับได้ และผู้ติดเชื้อเสียชีวิตไม่ได้มีอัตราที่น่ากังวลจนเกินไป และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายให้นำยาใหม่ๆ ที่มีการขึ้นทะเบียนแล้วรีบนำมาใช้เพื่อลดการเสียชีวิตให้มากที่สุด
หากจะเป็นโรคประจำถิ่น สำคัญคือควบคุมสถานการณ์ได้ และให้ความสำคัญกับตัวเลขผู้ติดเชื้ออาการหนักและเสียชีวิตที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้
อย่างหลายประเทศทางยุโรปและอเมริกา แม้ผู้ติดเชื้อจะขึ้นไป 2-3 แสนรายหรือเป็นล้านราย ก็ยังไม่เพิ่มมาตรการเข้าไป เพราะระบบสาธารณสุขยังรองรับได้
"เช่นเดียวกับประเทศไทย แม้ผู้ติดเชื้อจะขึ้นไปถึงระดับหมื่นราย แต่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้รุนแรงไปกว่าสายพันธุ์เดลตา และมียา วัคซีน เชื่อว่าจะทำให้ระบบสาธารณสุขดูแลผู้ป่วยอาการหนักได้”นพ.โอภาสกล่าว
เข้มมาตรการ-ไปฉีดวัคซีน
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ผู้ติดเชื้อระดับหมื่นรายก็ยังต้องระวังอย่าให้เพิ่มมากกว่านี้ ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนในการป้องกันตัวเอง ยังคงปฏิบัติมาตรการป้องกัน มาตรการ VUCAต่อไป นั่นคือ เข้ารับการฉีดวัคซีน และเมื่อถึงกำหนดให้รับเข็มกระตุ้นควรไปรับ ป้องกันตนเองแบบครอบทุกที่ทุกเวลา สถานประกอบการดำเนินการCOVID-free setting และตรวจคัดกรองด้วยATK
ครึ่งปีหลังติดเชื้อลดอย่างมีนัยสำคัญ
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ในปี 2565โรคโควิด 19 ถ้าไม่มีการกลายพันธุ์สายพันธุ์ที่มีนัยสำคัญอื่นเพิ่มเติม คาดว่าครึ่งปีหลัง จำนวนผู้ติดเชื้อน่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยเหตุผล คือ คนไทยฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามเป้าหมาย จะทำให้ควบคุมสถานการณ์ติดเชื้อรายใหม่ครึ่งปีหลังได้ แต่หากมีกลายพันธุ์หรือเหตุการณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น จะมีพยากรณ์โรคใหม่
ยังคงเตือนภัยโควิด19ระดับ4
สิ่งที่คนไทยจะต้องไม่ลืม คือ แม้ว่าศบค.จะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ด้วย แต่ในแง่ของการแพทย์และสาธารณสุขนั้น กระทรวงสาธารณสุข “ยังไม่ได้ลดระดับเตือน” ยังคงเตือนภัยโควิด19 อยู่ในระดับที่ 4 มาตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน
คำแนะนำการปฏิบัติตัวในสถานการณ์เตือนภัยระดับ 4 ประกอบด้วย
งดไปรับประทานร่วม/ดื่มสุราในร้าน
งดเข้าสถานที่เสี่ยงทุกประเภท
เลี่ยงเข้าใกล้ผู้อื่นนอกบ้าน
งดร่วมกิจกรรมกลุ่ม
งดโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท
งดไปต่างประเทศ
เข้าประเทศกักตัว