เปิดประสิทธิภาพวัคซีนโควิด19 หลังฉีดเข็ม3 กระตุ้น 3 ยี่ห้อ
คร.ระบุป่วยหนักจากโควิด19อยู่ที่ 1 % ใกล้เคียงไข้หวัดใหญ่มากขึ้น เผยทุกสูตรวัคซีนโควิด19 กระตุ้นฉีดเข็ม3ด้วยแอสตร้าฯ-ไฟเซอร์-โมเดอร์นา ประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน ป้องกันติดเชื้อ 60-70 % ป้องกันเสียชีวิต 96-98%
เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินวงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การปรับรายงานข้อมูลโควิด19 มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ บางรายบอกว่ารายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อทุกวันไม่เกิดประโยชน์ ทำไมไม่รายงานเฉพาะป่วยหนักเสียชีวิต แต่สธ.ก็มีรายงานทุกอย่าง ก็ต้องเอาแบบกลางๆ โดยปรับให้เข้ากับสถานการณ์ หากคิดว่าจะเป็นโรคประจำถิ่น การรายงานก็คือคนที่ไปรพ.และคนเสียชีวิต ไม่ได้รายงานผู้ติดเชื้อทุกคน อย่างเช่นไข้หวัดใหญ่ ไม่ได้ตรวจทุกคน หากมองแล้วก็คล้ายโควิดเข้าไปทุกที หากดูตัวเลขคนที่มีอาการหนักปอดอักเสบราว 1 % ที่เหลืออาการน้อยมาก ตอนนี้มีคนไข้นอนรพ.ประมาณ 5 หมื่นราย ดูเบื้องต้นคนเป็นปอดอักเสบ 500 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ100 กว่าราย ไม่ถึง 1 % เหมือนไข้หวัดใหญ่ไปทุกที ซึ่งการจะปรับก็ต้องค่อยๆลดลง ไม่ใช่ทำพรุ่งนี้มะรืนนี้
“คาดปลายปี2565 คนติดเชื้อไม่มีอาการก็คงอยู่กับบ้าน ไม่ต้องทำอะไรมาก ถึงตอนนั้นก็คงฉีดเข็ม 3 ไปกว่า 70% โดยการฉีดเข็ม 3 ไม่ว่าจะฉีดวัคซีน2เข็มด้วยสูตรไหน หากกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ประสิทธิภาพป้องกันติดเชื้อใกล้เคียงอยู่ที่ระดับ 60-70% แต่ป้องกันการเสียชีวิต 96-98 % มั่นใจนโยบายการฉีดเข็มกระตุ้นพิจารณาจากข้อมูลของไทย และปรับให้สอดคล้องสถานการณ์ ซึ่งการที่ไทยคุมสถานการณ์ได้ดี ส่วนหนึ่งเพราะฉีดเข็มกระตุ้นได้เร็ว โดยเฉพาะกทม. ทำให้สถาการณ์การระบาดไม่มาก”นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาส กล่าวถึงการฉีดวัคซีนโควิด19ในเด็ก ด้วยว่า วัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็ก 5-11 ปีฝาสีส้ม เมื่อรับมอบก็จะกระจายไปยังพื้นที่ทันที โดยจะมีการทยอยส่งมอบ สัปดาห์ละ 3 แสนโดส และจะเพิ่มเป็น 5 แสนโดสต่อสัปดาห์ จนครบ 10 ล้านโดส ส่วนวัคซีนซิโนแวคสำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป วัคซีนที่ใช้เป็นสูตรเดียวกับของผู้ใหญ่ ซึ่งมีวัคซีนอยู่ในพื้นที่แล้ว สามารถฉีดได้เลย
ถามถึงความจำเป็นการฉีดเข็ม 4 นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่แนะนำทั่วไป แต่แนะนำเฉพาะพื้นที่เสี่ยง เช่น จังหวัดสีฟ้านำร่องท่องเที่ยวที่มีคนเข้าออกมาก ความเสี่ยงสูง จึงให้แนวปฏิบัติการฉีดเข็ม4ไป ส่วนการให้วัคซีนในวงกว้างก็พิจารณาจากความปลอดภัย ประสิทธิภาพ สถานการณ์การระบาดในพื้นที่นั้นๆ และความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการ เช่น มีวัคซีนอะไรในการให้บริการ เป็นต้น