กรมการแพทย์แจงกรณีผู้ป่วยตั้งครรภ์ 9 เดือนโควิด19 ไม่มีโรงพยาบาลรับรักษา
กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ว่าผู้ป่วยตั้งครรภ์ติดโควิด19 ใกล้คลอด แต่ไม่มีโรงพยาบาลรับรักษา
กรมการแพทย์ ขอชี้แจงว่า ข้อเท็จจริงในผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วยหญิงอายุ 32 ปีตั้งครรภ์อายุครรภ์ 9 เดือนและมีประวัติเคยผ่าคลอดมาก่อน ได้ฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ต่อมาพบบุคคลในครอบครัวติดเชื้อโควิด 19 จึงตรวจ ATK ด้วยตนเองให้ผลบวกและมีอาการเจ็บครรภ์จึงได้ติดต่อไปยังโรงพยาบาลเอกชนที่ตนฝากครรภ์เพื่อเข้ารับการรักษา ทว่าโรงพยาบาลเอกชนรายดังกล่าว ปฏิเสธการทำคลอดผู้ป่วยโควิด 19 จึงทำให้ผู้ป่วยซึ่งมีสิทธิประกันสังคมโรงพยาบาลเลิดสิน ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 ได้ติดต่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเลิดสิน ในเบื้องต้นแพทย์ได้ทำการตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยันก่อนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและประเมินอาการผู้ป่วย
ซึ่งพบว่าขณะนั้นผู้ป่วยไม่พบอาการผิดปกติอื่น โรงพยาบาลได้แนะนำให้ผู้ป่วยสังเกตอาการที่บ้านเพื่อรอผลตรวจ RT-PCR ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป ต่อมาในช่วงค่ำของวันเดียวกันผู้ป่วยเริ่มมีอาการเจ็บครรภ์และเริ่มมีอาการคลื่นไส้อาเจียนจึงได้ติดต่อไปยังศูนย์เอราวัณ ทางศูนย์เอราวัณจึงนำส่งโรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลรับผู้ป่วยตอนเวลาเที่ยงคืนประเมินอาการเบื้องต้นพบว่า ผู้ป่วยอาการคงที่ไม่มีมดลูกหดตัว ไม่มีน้ำเดิน ระดับออกซิเจนในเลือดปกติ ไม่พบอาการผิดปกติอื่น จึงรับไว้สังเกตอาการ เพื่อวางแผนการรักษาสำหรับการผ่าตัดคลอดต่อไป
ทั้งนี้ ได้มีการวางระบบการดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ โควิด 19 ในเขตกรุงเทพมหานคร ตามที่มีการหารือร่วมกันในที่ประชุมเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาลและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานคร
สำหรับผู้ป่วยรายนี้ตามระบบแล้วควรจะได้รับการดูแลเบื้องต้นจากโรงพยาบาลที่รับฝากครรภ์ก่อน หากเกินศักยภาพของโรงพยาบาลจึงค่อยส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่รับผิดชอบดูแลตามพื้นที่ที่แบ่งไว้
กรมการแพทย์ ขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลเอกชน ขอให้ช่วยดำเนินการตามแนวทางระบบที่ได้วางไว้ และขอให้ทุกภาคส่วนรายงานข้อเท็จจริงตามความเป็นจริงเพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารที่ถูกต้อง โดยไม่ทำให้สังคมตื่นตระหนกเกินควร สุดท้ายนี้กรมการแพทย์ขอขอบคุณประชาชนทุกท่านที่ให้ความร่วมมือในการป้องกันโรคโควิด 19 รักษาระยะห่าง ใส่หน้ากาก ล้างมือ และให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีน