ไฟเขียว ฉีดวัคซีนโควิดสูตรไขว้ ซิโนแวค+ไฟเซอร์ ในเด็ก12-17 ปี
สธ.เผยพบเด็กติดโควิด19เพิ่มขึ้น ฉีดวัคซีนโควิดในเด็ก 5-11 ปีไปแล้วกว่า 6 หมื่นคน แนะนำ 4 สูตรฉีด ไฟเขียวไขว้ซิโนแวค-ไฟเซอร์อายุ 12-17 ปี ผลศึกษา พบภูมิคุ้มกัน ขึ้นเทียบเคียงกับการฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม
เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2565 ในการแถลงสถานการณ์โควิด19 นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อในเด็กระลอกหลังๆ ที่มีสายพันธุ์เดลตา โอมิครอน พบมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงอายุ 5-11 ปี อยู่ที่ 6 % แต่อาการค่อนข้างน้อย สิ่งที่กังวลเด็กบางคนที่ติดเชื้อสามารถพบการเกิดภาวะ MIS-C เป็นการอักเสบของอวัยวะหลายระบบที่เกิดหลังติดเชื้อโควิดในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก จึงมีเป้าหมายเร่งให้เด็กได้ฉีดวัคซีนโควิด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด การนำเชื้อไปสู่ผู้สูงอายุในบ้าน และรองรับการเปิดโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย ขณะนี้สธ.ได้ฉีดวัคซีนโควิดในเด็ก 5-11 ปีไปแล้ว 66,165 คน จาก 5.1 ล้านคน ยังไม่มีรายงานอาการผิดปกติหลังฉีด
สำหรับคำแนะนำของ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ในการฉีดวัคซีนโควิด19 กลุ่มเป้าหมายอายุต่ำกว่า 18 ปี มี 3 กลุ่มเป้าหมาย 4 สูตรวัคซีน ได้แก่ 1.เด็กอายุ 5-11 ปี วัคซีนไฟเซอร์(ฝาสีส้ม) 2 เข็ม ขนาด 0.2 มิลลิลิตรต่อโดส ระยะห่างระหว่างเข็ม1และ 2 อยู่ที่ 8 สัปดาห์ 2.เด็กอายุ 6-17 ปี ซิโนแวค ขนาด 0.5 มิลลิลิตรต่อโดส ระยะห่างระหว่างเข็ม1และ 2 อยู่ที่ 4 สัปดาห์ 3.เด็กอายุ 12-17 ปี วัคซีนไฟเซอร์(ฝาสีม่วง) 2 เข็ม ขนาด 0.3 มิลลิลิตรต่อโดส ระยะห่างระหว่างเข็ม1และ 2 อยู่ที่ 3-4 สัปดาห์ และ4.เด็กอายุ 12-17 ปี วัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวค+ไฟเซอร์ โดยเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวคขนาด 0.5 มิลลิลิตร และเข็มที่ 2 เป็นไฟเซอร์(ฝาสีม่วง) ขนาด 0.3 มิลลิลิตร ระยะห่างระหว่างเข็ม1และ 2 อยู่ที่ 4 สัปดาห์ ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครอง
คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคมีคำแนะนำการฉีดสูตรไขว์ซิโนแวค+ไฟเซอร์สำหรับเด็กอายุ 12-17 ปี เพื่อเป็นทางเลือกได้ โดยมีการพิจารณาถึงข้อมูลการศึกษา ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีการศึกษาการระดับภูมิคุ้มกันของเด็กวัยรุ่นอายุ 12-17 ปี ที่ฉีดสูตรไขว้ พบภูมิคุ้มกันภายหลังฉีดเข็ม 2 ขึ้นเทียบเคียงกับการฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่คณะอนุกรรมการฯ ตัดสินใจแนะนำการฉีดสูตรไขว์ในเด็ก 12-17 ปี แต่สำหรับเด็กเล็ก 6-11 ปี ยังต้องรอนำข้อมูลเข้าพิจารณาอีกครั้ง
“ผู้ปกครองที่ลังเลว่าจะให้บุตรหลานฉีดหรือไม่ฉีดนั้น จากข้อมูลพบอัตราป่วยตายจากโควิด19ในกลุ่มเด็กอยู่ที่สัดส่วน 2 ใน 10,000 แต่ถ้าฉีดวัคซีนอัตราตายลดลงอย่างมากเป็นพันเท่าตัว การฉีดวัคซีนจึงมีประโยชน์ป้องกันการป่วยตายในเด็กได้ดี”นพ.วิชาญกล่าว
การศึกษาผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนซิโนแวค ในกลุ่มอายุ 3-17 ปีในประเทศจีน (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ธ.ค.2564) มีกลุ่มประชากรเด็กอายุ 3-17 ปี จำนวน 235 ล้านราย ที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค พบว่า มีรายงานการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จำนวน 19,000 ราย
การศึกษาผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ในกลุ่มอายุ 5-17 ปี ในประเทศสหรัฐอเมริกา (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ม.ค.2565) ผลข้างเคียงทั่วไป อาการอ่อนเพลียพบ 39.4 % ปวดหัว 28 % ปวดเมื่อย 11.7 % หนาวสั่น 9.8 % โอกาสพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังได้รับวัคซีนไฟเซอร์ เข็มที่ 2 ต่อการฉีดวัคซีน จำนวน 1 ล้านโดส
ในกลุ่มอายุ 5-11 ปี พบอุบัติการณ์เกิดในเพศชายและเพศหญิง เป็น 4.3 รายและ 2 รายตามลำดับ กลุ่มอายุ 12-15 ปี พบอุบัติการณ์เกิดในเพศชายและเพศหญิง เป็น 45.7 รายและ 3.8 ราย ตามลำดับ และกลุ่มอายุ 16-17 ปี พบอุบัติการณ์เกิดในเพศชายและเพศหญิง เป็น 70.2 ราย และ 7.6 ราย ตามลำดับ