เปิดอัตราติดเชื้อ - ป่วยตายจากโควิด-19 ตามช่วงอายุ
สธ.เผยยอดโควิด-19 เฉลี่ย 7 วัน แนวโน้มยังสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนปอดอักเสบ - ใส่ท่อช่วยหายใจ ต่ำกว่าปีก่อน 10 เท่า ติดเชื้อพบมากกลุ่มวัยทำงาน - วัยรุ่น สวนทางกลุ่มเสียชีวิตสูงสุดอายุมากกว่า 70 ปี
เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2565 ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยจะรายงานสถานการณ์ในรูปแบบที่ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจมากขึ้น โดยขอให้สนใจตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบ และการเสียชีวิตมากกว่าการติดเชื้อรายวัน เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอน อาการค่อนข้างน้อย โอกาสพบผู้ติดเชื้ออาการรุนแรงมีไม่มาก โดยวันนี้รายงานผู้ป่วยปอดอักเสบ 563 ราย เพิ่มขึ้น 16 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 114 ราย เพิ่มขึ้น 3 ราย แนวโน้มยังดูสูงขึ้น แต่ถ้าเทียบกับเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2564 ที่มีการติดเชื้อสูงสุดของประเทศไทย คือ 2.3 หมื่นกว่าราย มีผู้ป่วยปอดอักเสบประมาณ 5.6 พันราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 1,111 ราย
“ขณะนี้อยู่ประมาณ 1 ใน 10 ของยอดสูงสุดเมื่อปีที่แล้ว ส่วนเสียชีวิตวันนี้รายงาน 20 ราย เป็นกลุ่มผู้สูงวัย มีโรคเรื้อรังทั้งหมด มีเพียงรายเดียวที่รับบูสเตอร์โดส แต่ได้รับเพียง 13 วัน ซึ่งอาจยังสร้างภูมิคุ้มกันไม่ทัน ดังนั้น ผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตยังอยู่ในแนวโน้มคงตัว ไม่ได้เพิ่มขึ้นสูงมาก ซึ่ง 20 รายอยู่ในเกณฑ์ที่ศักยภาพทางการแพทย์รองรับได้”นพ.จักรรัฐ กล่าว
นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า กรณีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ต้องใช้วิธีการติดตามสถานการณ์รายวันแบบเฉลี่ย 7 วัน เพื่อให้เห็นภาพว่าสัปดาห์หนึ่งมีการติดเชื้อเท่าไหร่ ซึ่งขณะนี้ผู้ติดเชื้อในประเทศเฉลี่ย 7 วันอยู่ที่ 11,450 ราย แนวโน้มยังสูงขึ้นต่อเนื่อง จากการเริ่มผ่อนคลายมาตรการ และมีกิจกรรมทางสังคม ไปรับประทานอาหารร่วมกัน ทำให้อาจมีโอกาสแพร่เชื้อและติดเชื้อตามกันไปได้เพิ่มขึ้น แต่หากดูแลตนเอง ลดปัจจัยเสี่ยงให้มากที่สุด รับวัคซีนครบและบูสเตอร์โดส จะสร้างความเชื่อมั่นว่า หากติดเชื้ออาการจะไม่รุนแรง สำหรับการรักษาขณะนี้อยู่ในระบบ 105,129 ราย ถือเป็นเพียงครึ่งเดียวจากช่วงที่ติดเชื้อสูงสุดที่มีผู้รักษาในระบบ 2 แสนราย โดยพบว่าครึ่งหนึ่งอยู่ใน รพ. คือ 5 หมื่นคน และอีกครึ่งหนึ่งอยู่นอก รพ.คือ แยกกักที่บ้าน HI รพ.สนาม หรือ CI รวมประมาณ 5.3 หมื่นคน และส่วนใหญ่อาการไม่มาก
นพ.จักรรัฐ กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ยังนำเสนอการแจ้งเตือนที่ยังอยู่ในระดับ 4 ขอให้งดเข้าสถานที่เสี่ยงระบบปิด งดการรวมกลุ่มคนจำนวนมากๆ ที่มีโอกาสเจอผู้ติดเชื้อมาสัมผัสเราได้ หากต้องไปสถานที่เสี่ยงให้สวมหน้ากากตลอดเวลา นอกจากนี้ จังหวัดที่แนวโน้มยังมีความเสี่ยงสูง และติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ นครราชสีมา ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ขอนแก่น มหาสารคาม สุรินทร์ ภูเก็ต นครศรีธรรมราช ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ระยอง ปราจีนบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี และ กทม. โดยเฉพาะสัมผัสกันในครอบครัว ซึ่งประชาชนในจังหวัดเหล่านี้หรือเดินทางเข้าจังหวัดเหล่านี้ ต้องเพิ่มป้องกันตนเองให้มากขึ้น สวมหน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่างผู้อื่น การรับประทานอาหารร่วมคนในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ต้องเว้นระยะห่างมากขึ้น และพาผู้สูงอายุไปรับวัคซีนบูสเตอร์โดส
สำหรับผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานอายุ 20-29 ปี 30-39 ปี และ 40-49 ปี แต่ที่เพิ่มขึ้นช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คือ กลุ่มเด็ก 0-9 ปี และวัยรุ่น 10-19 ปี จากหลายปัจจัย ซึ่งรายงานผู้ติดเชื้อกลุ่มเด็กช่วงวันที่ 30 ม.ค. - 5 ก.พ. 2565 จำนวน 10,832 ราย เมื่อแบ่งตามอายุพบว่า การติดเชื้อในโรงเรียนมักพบในกลุ่มอายุ 10-14 ปีและ 15-19 ปี ส่วนการติดเชื้อในครอบครัวพบมากในทุกกลุ่มอายุ แต่จะมากในกลุ่ม 0-4 ปี และ 5-9 ปี เนื่องจากพ่อแม่ติดเชื้อทำให้ลูกติดเชื้อด้วย ส่วนสัมผัสผู้ติดเชื้อนอกบ้าน และในชุมชน จะเป็นกลุ่มวัยรุ่น 15-19 ปีเป็นหลัก ซึ่งการติดเชื้อในบ้านจำนวนมากในทุกกลุ่มอายุเด็ก จึงเป็นประเด็นสำคัญ เพราะหากติดเชื้อในเด็ก และไม่ระวังอาจไปติดผู้สูงอายุในบ้าน ทำให้มีอาการรุนแรงได้
ส่วนอัตราการเสียชีวิต กลุ่มเด็กอายุ 0-9 ปี และ 10-19 ปี อัตราป่วยตายอยู่ที่ 0.01% อายุ 20-29 ปี อยู่ที่ 0.02 % อายุ 30-39 ปี 0.03% อายุ 40-49 ปี 0.09% อายุ 50-59 ปี 0.26% vkp6 60-69 ปี 0.65% และสูงสุดในกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 3.89% สูงกว่าเด็กเล็กถึง 200 เท่า ดังนั้น หากมีการติดเชื้อในเด็กเล็ก ขอให้เว้นระยะห่าง ปู่ ย่า ตา ยาย อย่าเพิ่งเข้าไปกอดหอมแก้มเด็ก อาจติดเชื้อ และมีอาการหนักได้ โดยเฉพาะคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีนหรือบูสเตอร์โดส จึงต้องรณรงค์ให้มารับวัคซีนโดยเร็ว เพราะมีคนฉีดวัคซีนไม่ครบหรือยังไม่ฉีดจำนวนมาก โดยฉีดเข็มแรก 75.6% เหลืออีก 25%
“ ตอนนี้มีการฉีดวัคซีนในเด็กแล้ว ขอให้พ่อ แม่ พาลูกหลานไปฉีดวัคซีนทั้งสองเข็ม ส่วนผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรังไปฉีดบูสเตอร์โดส ซึ่งขณะนี้กลุ่มสูงอายุฉีดเข็มกระตุ้นเพียง 19.9% และโรคเรื้อรังฉีดเพียง 37% นอกจากนี้ ช่วงรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่ม ให้เว้นระยะห่าง ลดการพูดคุยในช่วงนั้น จะช่วยลดการแพร่ระบาดไม่ให้รวดเร็ว และไปถึงกลุ่มเสี่ยง 608" นพ.จักรรัฐ กล่าว
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์