ผู้สูงอายุกว่า 2 ล้านคน ยังไม่ได้วัคซีนโควิด-19
อัตราเสียชีวิตจากโควิด-19 กลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากคนในครอบครัว พบทั่วประเทศยังไม่ได้วัคซีนโควิด-19 กว่า 2 ล้านคน กำชับ “มาฆบูชา”ต้องเข้มมาตรการป้องกัน
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ข้อมูลการติดโควิด-19 ในกลุ่มผู้สูงอายุ สะสมตั้งแต่ เม.ย.2564 - ก.พ.2565 พบ 237,759 ราย เฉพาะช่วง 1 ม.ค.-14 ก.พ. 2565 ติดเชื้อสะสม 34,918 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 569 ราย เฉพาะเดือนก.พ. พบเสียชีวิต 237 ราย ซึ่ง อัตราการป่วยในกลุ่มสูงอายุเท่าเดิมกับที่ผ่านมา แต่การเสียชีวิตสูงขึ้นจากปีที่แล้ว 69% เป็น 76% โดยส่วนใหญ่การติดเชื้ออยู่ในเขตเมือง เช่น กทม. สมุทรปราการ นนทบุรี และชลบุรี สาเหตุมากกว่า 50% มาจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ
“การรับวัคซีนโควิด-19ในกลุ่มสูงอายุ รับครบ 2 เข็ม แล้ว 9.8 ล้านคน และรับเข็ม 3 แล้ว 3.3 ล้านคน แต่ยังไม่ครอบคลุมเนื่องจากผู้สูงอายุทั่วประเทศมีมากกว่า 12 ล้านคน ดังนั้นจึงมีอีก 2.2 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน”นพ.สุวรรณชัย กล่าว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวด้วยว่า สาเหตุการติดเชื้อส่วนใหญ่ของผู้สูงวัยเกิดจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อในครอบครัว ผู้ดูแล หรือผู้ใกล้ชิดกัน นอกจากนั้น ก็เกิดจากการไปในสถานที่แออัด สำหรับวันมาฆบูชานี้ กรมอนามัยมีข้อมูลอนามัยโพลล์ สำรวจการสวมหน้ากากอนามัยในวัด จากผู้ตอบแบบสอบถาม 3 หมื่นราย พบว่า สวมหน้ากากถูกต้อง 87% จึงขอให้การสวมหน้าถูกต้องมากขึ้น โดยเลือกขนาดที่เหมาะกับใบหน้าให้กระชับ สวมปิดปากและจมูก ทั้งนี้ มาตรการที่ทำให้ประชาชนมั่นใจในการเข้าใช้สถานบริการจัดงานบุญมากขึ้น พบว่า เห็นว่าต้องคัดกรองก่อนเข้างาน 67% ให้งดกิจกรรมที่รวมคนหนาแน่น 60% จัดบริการตรวจ ATK หน้างานหรือภายใน 72 ชั่วโมง 59% มีเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจการจัดกิจกรรม 52% ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม 37% และมีตรวจการระบายอากาศ 32%
สถิติอนามัยโพลล์ในการดำเนินงานของวัด ศาสนสถานในเดือนก.พ.2565 พบว่ามาตรการที่ทำได้ดีคือ การคัดกรองจุดเข้าออก 70% มีจุดล้างมือ 56% และการประชาสัมพันธ์ให้คนสวมหน้ากาก 52% ส่วนมาตรการที่ยังปฏิบัติได้ไม่ดี และควรเพิ่มเติมคือ เพิ่มมาตรการ Covid-19 Free Setting 15% การคัดกรองความเสี่ยงผ่านแอปพลิเคชัน 18% ถังขยะที่มีฝาปิด 23% และการทำความสะอาดห้องน้ำ จุดสัมผัส 26% ทั้งนี้ การประเมินตนเองของวัดและศาสนสถานผ่าน Thai Stop Covid-19 Plus 2,997 แห่ง พบว่าผ่านเกณฑ์ประเมิน 2,797 แห่ง และไม่ผ่าน 93 แห่ง โดยสาเหตุไม่ผ่านคือ การดูแลสิ่งแวดล้อม ห้องน้ำ , ผู้นำหรือผู้ประกอบพิธีกรรมได้รับวัคซีนตามเกณฑ์ , ตรวจ ATK ใน 72 ชั่วโมง และการเลือกทำบุญลดการสัมผัสผ่านแอป หรือ E-Donation
ด้าน นพ.นิธิรัตน์ บุญตานนท์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยผู้สูงอายุ กล่าวว่า สำหรับผู้สูงอายุที่ติดโควิด-19 แบ่ง 2 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มติดเตียง ดูแลตัวเองไม่ได้ เมื่อติดเชื้อมีอาการ เช่น ไข้สูง หอบเหนื่อย ออกซิเจนในเลือดน้อยกว่า 94% ต้องรักษาในโรงพยาบาล(รพ.) ติดต่อผ่าน 1330 ได้ทันที ซึ่งหากมีอาการวิกฤติให้โทร 1669 ส่วนผู้ดูแลที่ดูแลเบื้องต้นระหว่างรอเตียง ต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือ N95 หรือหน้ากากเฟซชิลด์ ล้างมือเสมอ และใช้เวลาในการดูแลผู้ติดเชื้อให้สั้นที่สุด ไปจนถึงการแยกผู้ติดเชื้อออกจากคนอื่นในบ้านให้มากที่สุด แยกอาหาร ของใช้ต่างๆ และเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของอาการต่อเนื่อง
2.กลุ่มช่วยเหลือตัวเองได้ ติดบ้าน อายุน้อยกว่า 75 ปี มีอาการเล็กน้อย สามารถดูแลที่บ้านและชุมชน(Home and Community Isolation) ซึ่งติดต่อสายด่วน 1330 ให้การดูแล ส่วนต่างจังหวัดสามารถติดต่อได้ที่เบอร์ของแต่ละจังหวัด ทั้งนี้ การดูแลช่วง 10 วัน ให้สังเกตการเปลี่ยนแปลงอาการต่อเนื่อง หากพบว่าไข้สูงกว่า 39 องศา หรือออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% หายใจเร็ว หอบเหนื่อย ให้รีบแจ้งสถานพยาบาลที่ดูแล เพื่อนำเข้าสู่ รพ.ต่อไป
นายเกรียงศักดิ์ บุญประสิทธิ อธิบดีกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวว่า สำหรับวันมาฆบูชา กำหนดให้ศาสนสถานทุกแห่ง เข้มงวดมาตรการให้ประชาชนประกอบศาสนกิจที่สำคัญ เช่น เวียนเทียน ส่วนกรุงเทพมหานคร จัดที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) ในรูปแบบออนไซต์ด้วยการจำกัดจำนวนคนเข้าร่วม การตรวจ ATK ก่อนเข้างาน และเป็นรูปแบบออนไลน์ เช่น เวียนเทียน เจริญจิตภาวนา โดยงานดังกล่าวจัดตั้งแต่วันที่ 10-16 ก.พ. นี้
“ความเสี่ยงในระหว่างทำกิจกรรมงานบุญ ขอให้ประชาชนเตรียมดอกไม้ ธูปเทียนไปเองได้ แต่หากไม่ได้นำไป ก็ขอให้เจ้าหน้าที่เตรียมถุงมือเพื่อจัดดอกไม้ ธูปเทียน และประชาชนสามารถรับไปได้ โดยให้เว้นระยะห่าง แต่แนะนำว่าไม่ควรใช้เวียนกัน แต่ถ้าจำเป็นก็ขอให้ทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ก่อน” นายเกรียงศักดิ์ กล่าว
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์