"สปสช."ย้ำช่องทางลงทะเบียนระบบHI ขณะที่ กทม.เปิดศูนย์พักคอยรองรับผู้ป่วย

"สปสช."ย้ำช่องทางลงทะเบียนระบบHI ขณะที่ กทม.เปิดศูนย์พักคอยรองรับผู้ป่วย

สปสช. ย้ำ 3 ช่องทางลงทะเบียน “ระบบ HI” ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน พร้อมจัดเจ้าหน้าที่สายด่วนติดต่อกลับ หากโทร 1330 แต่สายไม่ว่าง พร้อมชี้แจง ผู้ป่วยโควิด-19 ลงทะเบียน HI ไม่เสียสิทธิรักษาใน รพ. หากอาการแย่ลงมีระบบส่งต่อ ขณะที่กทม.เตรียมเปิดศูนย์พักคอยเพิ่มสาย

ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ด้วยเป็นการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนทำให้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวไม่มีอาการหรือมีอาการไม่มาก

ทั้งนี้ ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังและติดตามตามนโยบาย HI- CI - ATK first ของกระทรวงสาธารณสุข โดย สปสช. จัดทำระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation : HI) ในการจับคู่หน่วยบริการดูแลและขณะนี้ยังคงให้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อประชาชนตรวจ ATK ด้วยตนเองและมีผลติดเชื้อโควิด-19 สามารถลงทะเบียนระบบ HI ดังนี้

  • พื้นที่ กทม. โทร.เบอร์สายด่วนของแต่ละเขต โดยเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์หรือเฟสบุ๊ก กรุงเทพมหานคร: https://bit.ly/3FBOgvw  หรือ โทรสายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 กด 2 หรือเพิ่มเพื่อนทาง Line @BKKCOVID19CONNECT
  • ส่วนต่างจังหวัด  โทร. Call Center ของจังหวัดหรืออำเภอ โดยเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์หรือเฟสบุ๊กสำนักงานสาธารณสุขของแต่ละจังหวัด

 

  • 3 ช่องทางเข้ารับการรักษาระบบ HI

ทั้งนี้ ในส่วน กทม.และต่างจังหวัด หากไม่ทราบหรือไม่สะดวก โทร.ตามรายละเอียดข้างต้น ให้ปฏิบัติ 3 ช่องทางดังนี้

1.โทร.สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 หรือ

2.ลงทะเบียนด้วยตนเองที่ https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHIหรือ

3. ไลน์ สปสช. โดยเพิ่มเพื่อน พิมพ์ @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6•

  • เลือกเมนูบริการเกี่ยวกับโควิด-19
  • เลือกลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation)

\"สปสช.\"ย้ำช่องทางลงทะเบียนระบบHI ขณะที่ กทม.เปิดศูนย์พักคอยรองรับผู้ป่วย

นโยบายของรัฐบาลให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่การรักษาที่บ้าน (Home Isolation) หากสภาพบ้านไม่พร้อม จะเข้าสู่การรักษาในระบบชุมชน (Community Isolation) แต่ถ้าหากอาการรุนแรงขึ้น คนไข้จะถูกส่งต่อเข้าโรงพยาบาลตามความเร่งด่วนของคนไข้แต่ละราย

หลังจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 โทรแจ้งตามระบบแล้ว จะมีเจ้าหน้าหน้าที่โทรกลับเพื่อประเมินอาการภายใน 6 ชั่วโมง หากภายใน 6 ชั่วโมงยังไม่มีการติดต่อกลับ ให้โทร.แจ้งที่ สายด่วน สปสช. 1330 อีกครั้ง

“กรณีโทรสายด่วน 1330 ไม่ติด เนื่องจากมีประชาชน โทร.เข้ามามาก ไม่ต้องกังวล สปสช.จัดเจ้าหน้าที่โทรกลับสายที่โทรไม่ติดเพื่อรับข้อมูลเข้าระบบ หรือใช้ช่องทางลงทะเบียนด้วยตนเองตาม link ข้างต้น หรือผ่านช่องทางไลน์ สปสช. พิมพ์ @nhso” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

  • ระบบ HI ดูแลเฉพาะผู้ป่วยโควิด กลุ่มสีเขียว

ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีข้อมูลจากทีมเครือข่ายจิตอาสาที่มาร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 แจ้งว่ามีประชาชนส่วนหนึ่งเกิดเข้าใจผิดว่า เมื่อลงทะเบียน HI แล้วจะเสียสิทธิการจองเตียงเข้ารักษาในโรงพยาบาล ขอชี้แจงว่าระบบ HI เป็นการติดตามและดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เฉพาะกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว เพื่อแยกผู้ป่วยสีเหลืองและแดงเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ช่วยลดความแออัดและให้มีเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วยอาการหนักและจำเป็น ซึ่งในระหว่างการดูแลในระบบ HI หากผู้ป่วยมีอาการแย่ลงก็จะมีการส่งต่อผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล ไม่ได้เสียสิทธิการเข้ารักษาในโรงพยาบาลแต่อย่างใด

ส่วนกรณีการขอใบรับรองแพทย์ช่วงรักษาตัวในระบบ HI นั้น ให้ประสานกับหน่วยบริการที่ดูแลซึ่งจะออกใบรับรองแพทย์ให้ตามการให้บริการจริง

  • กทม.เตรียมเปิดศูนย์พักคอยเพิ่ม รองรับโอมิครอน

สำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ กทม. ได้รายงานการเตรียมพร้อมสถานพยาบาลเพื่อผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากมีแนวโน้มผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น จึงได้มอบหมายให้ 50 เขตพิจารณาเปิดศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเพิ่มเติม ในกรณีที่ศูนย์พักคอยฯซึ่งเปิดดำเนินการอยู่แล้วมีจำนวนผู้ป่วยครองเตียงมากกว่า ร้อยละ 80

รวมถึงเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบช่องทางการติดต่อ หากพบว่าตนเองติดเชื้อ โดยสามารถโทรแจ้งได้ที่สายด่วน สปสช.1330 กด 14 และศูนย์ EOC ของ 50 สำนักงานเขต ได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สร้างความเข้าใจให้แก่สถานบริการที่แจ้งความประสงค์ปรับรูปแบบร้านเป็นร้านอาหารและได้รับอนุญาตแล้ว จำนวน 483 แห่ง ให้เข้ารับการประเมินมาตรฐาน Thai Stop Covid 2 Plus เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนหรือผู้มาใช้บริการ