‘คน’เกิดลดลง ปัญหาใหญ่
“เด็กเกิดใหม่ลดลง” ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีแนวโน้มอายุยืนขึ้น ซึ่งในอนาคตข้างหน้า ไทยจะกลายเป็นประเทศคนสูงอายุ โจทย์สำคัญคือ รัฐจะคิดแผนพัฒนาทักษะประชากรให้เด็กที่จะเกิดน้อยลงในอนาคตมีคุณภาพอย่างไร? นี่คือสิ่งที่ต้องลุยลงมือทำ
หนึ่งในประเด็นทางสังคมที่สำคัญและกำลังเป็นประเด็นกระทบระบบเศรษฐกิจโดยภาพรวม ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมแก้ปัญหาคือ ประเทศไทยกำลังเผชิญปรากฏการณ์ “เด็กเกิดใหม่ลดลง” ขณะที่ประชากรโดยส่วนใหญ่ของประเทศมีแนวโน้มอายุยืนขึ้น เพราะเทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวหน้า นั่นแปลว่าไทยจะกลายเป็นประเทศของ “คนสูงอายุ” เต็มขั้นในอีกไม่นานนี้ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าปี 2568 จะเป็นปีแรกที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ จะมีผู้สูงอายุ 60 ปี หรือมากกว่าที่ 14.5 ล้านคน คิดเป็น 20.7% ของประชากรทั้งหมด
นอกจากนี้อีก 18 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2583 ประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นเร็วจาก 12.2 ล้านคนในปี 2564 เป็น 20.4 ล้านคนในปี 2583 ขณะที่วัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี) ลดลงจาก 43 ล้านคน เหลือ 36 ล้านคน ส่งผลให้สัดส่วนประชากรวัยแรงงานต่อประชากรลดลงจาก 3.5 คนต่อ 1 คน เหลือเพียง 0.6 คนต่อ 1 คน ส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มจาก 28.4 คนต่อวัยแรงงาน 100 คนในปี 2564 เป็น 56.2 คนต่อวัยแรงงาน 100 คนในปี 2583
มีข้อมูลที่น่าตกใจเผยว่า รวมทั้งปี 2564 เป็นครั้งแรกที่ประชากรเกิดใหม่ต่ำกว่า 6 แสนคน อยู่ที่ 5.4 แสนคน และมีแนวโน้มจะลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จากค่านิยมของสังคมยุคใหม่ ที่มีความคิดหลากหลาย หลุดจากกรอบเดิม เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น นำมาซึ่งค่านิยม “อยู่เป็นโสด” ทั้งโสดแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจ ไม่เห็นความจำเป็นของการมีคู่ มีครอบครัว คนไทยเลยแต่งงานช้าลง บางคนอยู่เป็นคู่ แต่ไม่อยากมีลูก เพราะกังวลไม่อยากให้ลูกเกิดมาในสังคมที่ดูวุ่นวาย ไม่ใช่สังคมในฝัน กังวลเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงาน บางครอบครัวมีลูกน้อยลง หรือไม่ต้องการมีลูกเลย
ประเด็นเด็กเกิดน้อยลงไม่ได้เป็นปัญหาแค่เฉพาะในไทย ประเทศอื่นๆ ก็เผชิญปัญหานี้และมีนโยบายจูงใจมีลูกล่วงหน้าไปก่อนเรานานพอสมควร เช่นในจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี ฯลฯ บางประเทศมีนโยบายบ้านไหนมีลูก ทางการจะประกาศให้เงิน หรือให้สิทธิพิเศษต่างๆ อะไรทำนองนี้ แต่ประเทศที่ว่ามาเขาเตรียมการรองรับปัญหานี้ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆต่างจากประเทศไทยที่กำลังกลายเป็นประเทศผู้สูงอายุ หากมาตรการรองรับยังไม่ชัดเจน หรือเป็นรูปธรรมเท่าไรนักอีกสิ่งที่น่าคิดคือ เด็กที่เกิดน้อยอยู่แล้ว เมื่อเกิดมาก็ไม่ได้มีคุณภาพมากพอที่จะอยู่ในโลกยุคใหม่ได้ กลายเป็นปัญหาในเชิง “คุณภาพ” ของคนเพิ่มขึ้นไปอีก
ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลต้องไม่เน้นแค่กระตุ้นให้คนมีลูกเท่านั้น แต่สิ่งที่ต้องทำมากกว่า คือการพัฒนาทักษะของประชากรที่มีอยู่และเด็กที่เกิดใหม่ที่แม้จะน้อยลง แต่เมื่อเกิดมาเขาต้องกลายเป็นคน “คุณภาพ” อย่าเน้นแค่“ปริมาณ” รัฐบาลจึงต้องหามาตรการช่วยเหลือสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม ให้คนในประเทศทุกกลุ่มอายุ กลายเป็นคนมีคุณภาพ สร้างพื้นที่การเรียนรู้ สร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กน้อยเกิดใหม่เหล่านี้มีโอกาสพัฒนาทักษะชีวิต และมีคุณภาพชีวิตที่ดี เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพพัฒนาบ้านเมืองได้ต่อไป