'ภูมิใจไทย' ชงแก้กฎหมาย กยศ. ให้ทุนเรียนฟรีเด็กเกรดเอ

'ภูมิใจไทย' ชงแก้กฎหมาย กยศ. ให้ทุนเรียนฟรีเด็กเกรดเอ

"ภูมิใจไทย" จ่อเสนอแก้กฎหมายกยศ. ให้ทุนเรียนฟรีกลุ่มเด็กเกรดเอจบเกียรตินิยม-สาขาวิชาที่ขาดแคลน-ยากจน ด้าน ผู้ค้ำ ร่ำไห้ ลูกหนี้เรียนจบเป็นข้าราชการไม่ใช้หนี้ ทำผู้ค้ำถูกกยศ.ฟ้องบังคับคดี

เมื่อวันที่ 14 ก.ย.62 พรรคภูมิใจไทยจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน กฎหมาย แก้หนี้ กยศ. ปลดทุกข์เด็กไทย โดยนายกมล รอดคล้าย ประธานยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคภูมิใจไทยเสนอกฎหมาย 12 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ซึ่งเป็นการทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ล่าสุดพรรคเตรียมเสนอร่างพ.ร.บ.กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ฉบับที่ พ.ศ.... เข้าสู่สภาฯ พร้อมเสนอให้พิจารณาเรื่องการให้ทุนคือให้ขาดไม่ขอรับคืน เพื่อให้เด็กยากจนได้รับทุนเรียนฟรีกรณีเรียนดีได้เกียรตินิยม จัดอยู่ในกลุ่มเกรดเอให้ทุนเรียนฟรีไปเลย เช่นเดียวกับเด็กที่เรียนในสาขาวิชาชีพขาดแคลน และการให้ยืม คือให้โดยไม่คิดดอกเบี้ยแต่ขอเงินต้นคืน หรือกำหนดให้ใช้คืนโดยการทำงาน

โดยสาระสำคัญที่พรรคภูมิใจไทย เสนอให้แก้ไขพ.ร.บ.กองทุน กยศ. มีดังนี้ 1.ยกเลิกบทบัญญัติที่ให้อำนาจคณะกรรมการกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืนกองทุนตามสัญญากู้ยืมเงิน 2.กำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินภายหลังที่สำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว อาจเลือกทำงานให้รัฐแทนการชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ได้รับไปตามสัญญากู้ยืมเงินคืนให้กองทุนก็ได้ 3.สำหรับเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นเงินกู้ยืมที่ปลอดดอกเบี้ยนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ กรณีผู้รับทุนการศึกษาก่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้บังคับใช้และยังมีเงินค้างชำระอยู่ให้ชำระคืนเฉพาะเงินต้น 4.การกำหนดให้กรณีที่ผู้กู้ยืมเงินสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและได้รับผลการศึกษาในระดับเกียรตินิยมอันดับ 1 สามารถแปลงหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาของผู้กู้ยืมเงินเป็นเงินทุนเพื่อการศึกษา โดยไม่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา

10567265758090

และ 5.กำหนดให้กรณีที่ผู้กู้ยืมเงินสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและจบจากคณะหรือสาขาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้แปลงหนี้เงิน กยศ. ของผู้กู้ยืมเงินในส่วนที่ค้างชำระทั้งหมดเป็นเงินทุนเพื่อการศึกษาแทน และไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในส่วนที่ค้างชำระคืน และผู้กู้ยืมเงินที่ศาลได้มีคำพิพากษาก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อได้ทำปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับกองทุนแล้วถือว่าหลุดพ้นจากประวัติการชำระหนี้อันไม่ก่อให้เกิดรายได้ โดยผู้ค้ำประกัน ผู้กู้ยืมเงินได้ปฏิบัติตามดังกล่าว ก็ให้ถือว่าหลุดพ้นจากประวัติการชำระหนี้อันไม่ก่อให้เกิดรายได้ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต

ด้านนางปทิตา วิปัสสา ผู้ได้รับผลกระทบจากการค้ำประกันเงินกู้ กยศ. กล่าวทั้งน้ำตาว่า ตนได้รับความเดือดร้อนจากการค้ำประกันเงินกู้กยศ. คนกู้เรียนจบไปมีงานทำ เป็นข้าราชการ แต่ กยศ.บังคับคดีกับคนค้ำประกัน ทำให้ตนมียอดหนี้กว่า 260,000 บาท จำนวนดังกล่าวเป็นเงินต้น 130,000 บาท เบี้ยปรับ 180,000 บาท โดยกยศ.กำหนดให้ผ่อนชำระภาย 3 ปี เฉลี่ยเดือนละกว่า 7,500 บาท แต่ปัจจุบันตนตกงาน ต้องดูแลแม่ที่แก่ชรา จึงอยากให้ กยศ.ช่วยเหลือ

10567265982071

นางณัญฐิยา วงษ์เหลา ผู้กู้ที่ได้รับผลกระทบถูกยึดทรัพย์ กล่าวว่า แม้ว่ายอดเงินกู้กยศ.จะมีไม่มาก แต่หลังเรียนจบตนมีรายได้น้อย และมีภาระค่าเช่าบ้าน ทำให้มีเงินไม่เพียงพอชำระหนี้ให้กยศ. จึงเสนอให้กยศ.ยกเลิกดอกเบี้ยและเบี้ยปรับเพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ชำระคืนเงินต้น เพราะลูกหนี้กยศ.มีภาระดอกเบี้ยหลักหมื่นบาท แต่เบี้ยปรับแซงเงินต้น ทำให้บางรายมีภาระต้องชำระคืนกองทุน กยศ.ถึง 900,000 บาท ขณะที่ นายกิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ผู้แทนเด็กที่กู้เงินกยศ. กล่าวว่า ลูกหนี้กยศ.ทุกคนอยากชำระหนี้ แต่เมื่อมาเจอกับเบี้ยปรับของกยศ. ทำให้ลูกหนี้ไม่มีความสามารถจ่ายเงินคืนให้กับ กยศ. จนต้องถูกฟ้อง บังคับคดี ยึดทรัพย์ขายทอดตลาด

ทางด้าน นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุน กยศ. กล่าวว่า กองทุนพยายามทุกแก้ไขหนี้กยศ.มาโดยตลอด จากสถิติข้อมูล ของกยศ. มีผู้กู้ยืมเงินจากกองทุน 5,615,065 ราย วงเงินกู้ยืม 5.9 แสนล้านบาท โดยผู้กู้ยืม 3,661,599 ราย หรือ 65% อยู่ระหว่างชำระหนี้ ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 1,093,041ราย คิดเป็น 19% อยู่ระหว่างปลดหนี้ 803,222ราย หรือ 14% เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ 53,964 ราย คิดเป็น 1% กยศ.ฟ้องคดีลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้เกิน 4 ปี 1,700,000 คดี ซึ่งเป็นการฟ้องคดีด้วยความจำเป็น โดยเฉลี่ยนักศึกษาที่เป็นลูกหนี้ กยศ.จะมียอดเงินกู้ คนละ 1 แสนบาท มีอัตราดอกเบี้ยปีละ 1 % เบี้ยปรับ 7.5% ซึ่งกยศ.กำหนดระยะเวลาชำระหนี้ 15 ปี โดยปีที่ 1-3 กำหนดให้ชำระเดือนละ 1,500 บาท หรือเพียงวันละ 5 บาทเท่านั้น ปีที่ 4 ขึ้นไปชำระคืนเพียงวันละ 10 บาท กรณีผิดนัดชำระหนี้ มีทั้งผู้กู้ยืมยากจน ขาดวินัยการเงิน และขาดจิตสำนึก หรือมีเงินแต่ไม่จ่ายคืน ทำให้กยศ.ต้องฟ้องคดีกว่า 1.5 ล้านคดี แต่หลังฟ้องคดีก็ยังเปิดโอกาสให้ผ่อนชำระได้อีก 9-15 ปี หลังบังคับคดีก็ยังให้โอกาสผ่อนชำระให้อีก

"เรามีหมอที่เรียนจบจากเงินกู้กยศ.มากกว่า 20,000 คน เรามีศิษย์เก่าที่รวยเป็น 100 ล้านบาท ที่ผ่านมากยศ. ใช้งบประมาณแผ่นดินทุกปี แต่ 2 ปีหลัง เรามีเงินหมุนเวียนเพียงพอ โดยปี 2562 กยศ.รับชำระหนี้ 30,000 ล้านบาท ทำให้กยศ.มีเงินเพียงพอให้กู้ยืมกับนักเรียนนักศึกษารุ่นต่อๆ ไป กยศ.ไม่อยากฟ้องคดี ไม่อยากบังคับคดียึดทรัพย์ใครพยายามแก้ไขและผ่อนปรนให้ทุกราย โดยเฉพาะผู้ค้ำประกันที่ได้รับผลกระทบ สำหรับเบี้ยปรับที่สูงทบเงินต้น มีสาเหตุมาจากลูกหนี้ ไม่เคยผ่อนชำระเลยตลอด 9 ปี ทำให้เบี้ยปรับสูงถึงหลักแสนบาท โดยบางรายอ้างว่าไปทำงานต่างประเทศ นำเงินไปซื้อบ้านหลักล้านบาท กยศ.จำเป็นต้องยึดบ้าน แต่ไม่ขายทอดตลาดทันที ยังมีแนวทางผ่อนปรนให้ตลอด และที่ผ่านมากยศ.ไม่เคยส่งข้อมูลลูกหนี้ให้เครดิตบูรโร ผู้จัดการกองทุน กยศ.กล่าวพร้อมเปิดวิดิทัศน์ลูกหนี้กยศ.ที่ยากจนที่สุดในประเทศไทย กู้ยืมเงินเพื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนปัญญาภิวัฒน์ มีบ้านพักอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารของอ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ แต่หลังเรียนจบทำงานที่ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอิเลฟเว่นและชำระคืนเงินกู้กยศ.จนครบ"