แบรนด์ "Bangkok" คือ "ซอฟท์พาวเวอร์"

แบรนด์ "Bangkok" คือ "ซอฟท์พาวเวอร์"

ชวนมอง "Bangkok" ในฐานะ "แบรนด์สินค้า" ที่สามารถเป็น "ซอฟท์เพาเวอร์" ของประเทศที่แข็งแกร่ง ที่ไม่ได้มีแค่ "รำไทย ผ้าไทย มวยไทย ยิ้มสยาม การไหว้" เหมือนในอดีต

เป็นที่ฮือฮาเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครองและเมืองหลวงตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเสนอ สาระสำคัญที่ก่อให้เกิดการถกเถียงกันคือ ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดนเขตการปกครอง และเมืองหลวง ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544

และให้ใช้ประกาศ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ลงวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 หนึ่งในนั้นคือ เมืองหลวงของประเทศไทย ให้แก้ไขจาก "Bangkok" เป็น "Krung Thep Maha Nakhon" โดยเก็บชื่อเดิม (Bangkok) ไว้ในวงเล็บ

หลายคนคงเคยสงสัยอย่างน้อยก็สมัยยังเป็นเด็กว่า ทำไมกรุงเทพมหานครเมืองหลวงของไทยเวลาเขียนภาษาอังกฤษจึงใช้ว่า Bangkok คำตอบที่เคยได้รับตั้งแต่วัยเยาว์คือ เป็นชื่อที่ฝรั่งเรียกกันจนติดปาก ถึงวันนี้ที่มาของคำว่าบางกอกคงได้รับการอธิบายจากผู้รู้กันจนปรุแล้ว แต่หากพิจารณา Bangkok ในฐานะ “แบรนด์สินค้า” ถือว่าน่าสนใจในยุคที่รัฐบาลพยายามใช้ซอฟท์เพาเวอร์นำไทยไปแข่งในเวทีโลกแบรนด์ Bangkok เรียกได้ว่าแข็งแกร่ง

เมื่อปี 2560 ซีเอ็นเอ็นยกให้ Bangkok เป็นเมืองที่มีสตรีทฟู้ดดีที่สุดในโลกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ไปไหนก็มีแต่ของกิน ร้านค้าริมทางมีทั่วทุกหัวระแหง ขายกันตั้งแต่อาหารเช้า เที่ยง เย็น ของว่าง เครื่องดื่ม ขนมหวาน แม้แต่สุราริมทางก็มีในรูปของยาดอง 

ปีที่ผ่านมา Holidu.co.uk เว็บไซต์สำหรับการค้นหาสถานที่พักผ่อนของประเทศอังกฤษ จัดอันดับ 150 เมืองสำหรับการทำงานและพักผ่อน ยกให้ Bangkok เป็นเมืองที่เหมาะกับการทำงานและพักผ่อนมากที่สุดในโลก (The Best Cities for a Workation 2021) เนื่องจากเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยวมีชื่อเสียง และค่าครองชีพถูก

นี่เป็นแค่สองตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า แบรนด์ Bangkok ถูกจดจำมากขนาดไหนในสายตาชาวต่างชาติ การเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงเป็น Krung Thep Maha Nakhon แม้จะยังเก็บชื่อเดิมไว้ในวงเล็บ แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ยิ่งตอนนี้หลายประเทศเริ่มเปิดพรมแดนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งหนึ่ง การแข่งขันในตลาดท่องเที่ยวย่อมสูงมากโดยเฉพาะในแถบเพื่อนบ้านอาเซียนที่ต่างต้องพึ่งพาภาคส่วนนี้หนักมากเหมือนกัน แทนที่จะเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงรัฐบาลควรใช้โอกาสนี้สร้างแบรนด์ Bangkok ให้แข็งแกร่งจะดีกว่า

ซอฟท์เพาเวอร์ยุคนี้ ไม่ได้มีแค่รำไทย ผ้าไทย มวยไทย ยิ้มสยาม การไหว้ เหมือนเมื่อก่อน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศเราถ้าหยิบฉวยมาใช้อย่างมีชั้นเชิงย่อมขายได้เสมอ สีสันไนท์ไลฟ์ของกรุงเทพฯ มีเสน่ห์ไม่ใช่น้อย อย่ามองว่าเป็นเรื่องน่ารังเกียจ ทำแบรนด์ที่มีให้เป็นแบรนด์ที่ดีง่ายกว่าไปสร้างแบรนด์ใหม่ เพราะถ้าเปลี่ยนชื่อแล้วไม่ได้ผลเกรงว่าจะมีคนเรียกร้องให้เปลี่ยนนายกฯ อาจจะได้ผลมากกว่า