ติดโควิด! อาการอย่างไร? เข้าข่าย “ยูเซ็ป” VS “ยูเซ็ปพลัส” รักษาฟรี-ไม่ฟรี
1 มี.ค. 2565 นี้ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จะยกเลิกประกาศเรื่องกำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคโควิด-19 เป็นโรคฉุกเฉิน จึงให้ผู้ป่วยได้สิทธิยูเซ็ป รักษาฟรีได้ทุกที่ ทุกโรงพยาบาล
โดยสาเหตุที่ทางสธ.จะยกเลิกประกาศ "โควิด-19" เป็นโรคฉุกเฉินนั้น เนื่องด้วยการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่รุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา 7 เท่า และการเสียชีวิตน้อยกว่า 10 เท่า
โดยผู้ติดเชื้อกว่า 90% ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก ไม่จำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล จึงเน้นให้รับการดูแลในระบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI)
รวมถึงเตรียมปรับให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ระบบการรักษาตามสิทธิ ซึ่งไม่เสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นไปโรงพยาบาลเอกชนนอกระบบโดยไม่มีอาการจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
- ทำความเข้าใจ "ยูเซ็ป" สิทธิรักษาอะไร?
โดย ยูเซ็ป หรือUniversal Coverage for Emergency Patients ; UCEP คือ สิทธิการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติที่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ ใกล้บ้าน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนกว่าจะพ้นวิกฤติ เช่น หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ช็อก หายใจเร็ว หอบเหนื่อยมาก เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน อ่อนแรงแขนขา เส้นเลือดออกในสมอง หรือสามารถเคลื่อนย้ายได้โดยปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง
- 6 อาการที่เข้าข่ายยูเซ็ป รักษาฟรี ได้
ทั้งนี้ การยกเลิกประกาศดังกล่าวนั้น ทำให้หลายคนกังวลว่าเมื่อติดโควิด-19 อาจหมายถึงต้องเสียค่ารักษาเอง ไม่ฟรีอย่างที่ผ่านมา ซึ่งจริงๆ แล้วการประกาศดังกล่าว ไม่ได้เป็นการยกเลิกยูเซ็ป เป็นอันขาด เพราะหากมีอาการป่วยเข้าเกณฑ์วิกฤติฉุกเฉิน 6 อาการ ตามที่ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กำหนดไว้เดิมอยู่แล้ว ก็จะสามารถรับบริการที่ใดก็ได้ใกล้บ้านที่สุดตามเดิม
อาการป่วยเข้าเกณฑ์วิกฤติฉุกเฉิน 6 อาการ มีดังนี้
1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง
3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น
4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
6. อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
หากพบอาการที่เข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร.1669 เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ โดยไม่ต้องสำรองจ่าย
- เช็คเกณฑ์รักษาโควิด-19 ฟรีตามสิทธิ
กองทุนสวัสดิการข้าราชการ สามารถเข้ารับการรักษาได้ในรพ.ของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศฟรี กองทุนบัตรทองสามารถเข้ารับการรักษาในรพ.รัฐ และสถานพยาบาลเครือข่ายทุกแห่งฟรี
ส่วนผู้ประกันตน ทางสำนักงานประกันสังคมจะมีการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ในวันที่ 15 ก.พ.นี้ เพื่อหารือถึงการดูแลผู้ป่วย เนื่องจากว่ามีสถานพยาบาลเครือข่ายทั้งรัฐ และเอกชน ส่วนผู้ป่วยต่างด้าวจะมีรพ.ตามสิทธิผ่านการซื้อประกันสุขภาพอยู่แล้ว กรณีแรงงานต่างด้าวไร้สิทธิก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่รพ. หรือสถานพยาบาลของรัฐได้
กรณีรักษาตัวใน Home Isolation สามารถโทรสายด่วน 1330 ได้ บัตรทองโทร 1330 , ประกันสังคมโทร 1506 , เบิกจ่ายตรงข้าราชการโทร 02-2706400 และสิทธิต่าวด้าวโทร 02-5901578 ต่างจังหวัดให้ประสาน 1669
กรณีโทรสายด่วน 1330 ไม่ติด เนื่องจากมีประชาชน โทร.เข้ามามาก ไม่ต้องกังวล สปสช.จัดเจ้าหน้าที่โทรกลับสายที่โทรไม่ติดเพื่อรับข้อมูลเข้าระบบ หรือใช้ช่องทางลงทะเบียนด้วยตนเองตาม https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHI หรือผ่านช่องทางไลน์ สปสช. พิมพ์ @nhso
กรณีที่ไม่ได้ไปรักษาพยาบาลตามสิทธิ เช่น มีหลักประกันอยู่ในรพ.รัฐ แต่ประสงค์เข้ารับการรักษารพ.นอกสิทธิ อย่างเช่นรพ.เอกชน ในส่วนนี้ผู้ป่วยก็ต้องจ่ายเงินเอง หรือใช้ประกันสุขภาพเอกชนที่ซื้อไว้มาเคลมได้
- ติดเชื้อดูแลตัวเองตามระบบHI/CI ได้สิทธิรักษาฟรี
ผู้ป่วยโควิดที่ดูแลตัวเองที่บ้าน ที่ชุมชน ว่าจัดอยู่ในระบบการดูแลผู้ป่วยใน ของรพ.ตามระบบที่กระทรวงสาธารณสุขวางเอาไว้ ยืนยันว่า HI /CI เป็นหนึ่งในสถานพยาบาล จะอ้างเป็นเหตุไม่จ่ายค่าสินไหมไม่ได้
รักษาโควิดฟรีตามสิทธิ หากป่วยโควิดอาการไม่รุนแรงสามารถรักษาตามระบบ Home Isolation และ Community Isolation ตามสิทธิรักษาฟรีของแต่ละคน ส่วนหากอาการฉุกเฉินวิกฤตสามารถรักษาฟรีได้ทุกที่ 72 ชม.ตามโครงการยูเซ็ป
ตามระบบ Home Isolation เป็นการติดตามและดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เฉพาะกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว เพื่อแยกผู้ป่วยสีเหลืองและแดงเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ช่วยลดความแออัดและให้มีเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วยอาการหนักและจำเป็น ซึ่งในระหว่างการดูแลในระบบ Home Isolation หากผู้ป่วยมีอาการแย่ลงก็จะมีการส่งต่อผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล ไม่ได้เสียสิทธิการเข้ารักษาในโรงพยาบาลแต่อย่างใด
กรณีการขอใบรับรองแพทย์ช่วงรักษาตัวในระบบ Home Isolation นั้น ให้ประสานกับหน่วยบริการที่ดูแลซึ่งจะออกใบรับรองแพทย์ให้ตามการให้บริการจริง
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤต ยังใช้สิทธิ ยูเซ็ปได้ตามปกติเหมือนโรคอื่นๆ ซึ่งการเตรียมปรับโควิดมาสู่การรักษาตามสิทธิ จะช่วยให้ระบบสาธารณสุขมีเตียงสำหรับดูแลผู้ป่วยโรคอื่นได้ หากผู้ติดเชื้อโควิดมีอาการเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤต ยังเข้ารักษาทุกที่ได้ตามแนวทางของสิทธิ ยูเซ็ป
- “ยูเซ็ปพลัส” รองรับคนติดโควิดและมีโรคร่วมเดิม
สำหรับ ยูเซ็ปพลัส เป็นการดำเนินการเพื่อเตรียมรองรับผู้ติดเชื้อโควิดอาการสีเหลือง สีแดง ที่สามารถใช้สิทธิ ยูเซ็ป รักษาทุกที่ได้ โดยการกำหนดนิยามของผู้ที่เข้าข่ายจะเป็นผู้ที่โรคร่วมเดิมอะไรบ้างกำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาหารือ
นพ.ธเรศ กรัษรัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า วันที่ 1 มี.ค. สธ.จะปรับการรักษาโควิดเป็นไปตามสิทธิ โดยหลักคือ ผู้ป่วยสีเขียวเข้ารับการรักษาที่บ้าน หรือชุมชนเป็นหลัก (HI/CI First)
ส่วนผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ที่เป็นห่วงจึงยังให้เข้าสู่การรักษาด้วยสิทธิยูเซ็ปเดิมที่ไปรักษาทุกที่ทั้ง รพ.รัฐและเอกชนได้ คือ ยูเซ็ปพลัส ซึ่งการใช้สิทธิ ยูเซ็ปพลัส มีทั้งกรณีที่อยู่ HI/CI แล้ว
เมื่อติดตามประเมินอาการพบอาการเปลี่ยนแปลงเป็นเหลืองและแดง ซึ่งจะมีรพ.คู่สัญญาหรือคลินิกชุมชนอบอุ่นดูแล ก็จะส่งต่อเข้าสู่การรักษาใน รพ.ทันที
ส่วนกรณีที่มีอาการหนักขึ้นมาฉับพลันสามารถใช้สิทธิเข้าไปรักษาได้ทุกที่ทันที โดยประสาน 1669 ในการส่งต่อ
“เมื่อโรงพยาบาลตรวจและประเมินอาการแล้ว พบว่าผู้ป่วยโควิดสามารถรักษาตัวที่บ้านได้ ทางโรงพยาบาลต้องให้คำแนะนำและชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่าไม่จำเป็นต้องรักษาในรพ. แต่หากประชาชนเข้าใจแล้ว แต่ยังยืนยัน ที่จะเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ตรงนี้ประชาชนจะต้องจ่ายเงินเอง เนื่องจากโรงพยาบาลเองก็ไม่สามารถเบิกค่ารักษาได้ เพราะไม่ถือว่าเข้าเกณฑ์ที่จะรับการรักษาในโรงพยาบาล” นพ.ธเรศ กล่าว
- ติดโควิด รักษารพ.เอกชนไม่ฟรี มีผล 1 มี.ค.นี้
สำหรับการยกเลิกเรื่องกำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินฯ ของโรคฉุกเฉินโควิดดังกล่าวมีเงื่อนไขการเข้ารักษาผู้ป่วยติดโควิด -19 ในโรงพยาบาลเอกชนเปลี่ยนไป นับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 ดังนี้
- การรักษาโควิด-19 ในโรงพยาบาลเอกชนสำหรับผู้ป่วยอาการไม่อยู่ในระดับวิกฤติ จะไม่ฟรีอีกต่อไป
จากเดิมที่ผู้ป่วยติดโควิด-19 ดังกล่าวสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะรัฐรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้
- ค่าใช้จ่ายในการรักษาโควิด ยังสามารถใช้สิทธิประกันสังคมที่ผู้ประกันตนเลือกโรงพยาบาลเอกชนไว้ได้ หากแพทย์วินิจฉัยว่าต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล
- กรณีไม่มีสิทธิประกันสังคม ผู้เข้ารับการรักษาโควิดที่โรงพยาบาลเอกชน สามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพที่ทำไว้เอง แต่ส่วนนี้ยังต้องรอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ไปเจรจากับธุรกิจประกันว่า จะตีความว่าผู้ป่วยโควิดที่รักษาตัวอยู่ที่บ้าน หรือในฮอสพิเทล เป็นผู้ป่วยในสามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพที่ทำอยู่ได้หรือไม่ รวมถึงต้องจ่ายเพื่อซื้อประกันโรคโควิดเพิ่มหรือไม่
ส่วนที่ยังคงเดิม คือ ผู้ที่ถือบัตรประกันสังคม บัตรทอง หรือสิทธิราชการ เข้ารักษาในสถานพยาบาลรัฐและเอกชนได้ตามสิทธิที่มีอยู่ตามปกติ
ผู้ป่วยวิกฤติระดับสีเหลืองและแดง ยังได้รับการดูแลรักษา ตามหลักเกณฑ์ของ UCEP Plus
- ก่อนประกาศยกเลิก หากรพ.เอกชนเก็บค่ารักษาถือว่าผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ประกาศยกเลิกจะมีผลวันที่ 1 มี.ค.นี้ หากสถานพยาบาลเอกชนเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยโควิด-19 หรือญาติ จะถือว่ากระทำผิดพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งผู้ประกอบกิจการและผู้ดำเนินการสถานพยาบาล จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับคนทั่วไปที่ติดโควิด จากเดิมที่จะเข้าไปรับการรักษาที่ รพ.เอกชนใดก็ได้ ปรับเป็นการไปรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ หากอาการไม่มากหรือไม่มีอาการ รพ.จะพิจารณาให้ดูแลตนเองที่บ้าน (HI) แต่หากไม่สะดวกและไม่สามารถที่จะอยู่ที่บ้านได้ จะมีระบบดูแลที่โรงแรม (Hotel Isolation) โดยที่จะมีบุคลากรติดตามอาการทางระบบออนไลน์ได้ แต่ไม่ใช่ฮอสพิเทล
หลังจากวันที่ 1 มี.ค.2565 ใครที่ติดโควิด-19 คงต้องเช็คสิทธิรักษาพยาบาลให้ดี เพราะต่อจากนี้คงไม่ได้สิทธิการรักษาฟรีทุกโรงพยาบาลอย่างเช่นที่ผ่านมา ฉะนั้น การป้องกันดูแลตนเองให้รอดในโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ดูท่าจะเป็นการดีที่สุด
อ้างอิง: กระทรวงสาธารณสุข